หลังเก็บเกี่ยว-ส่งมอบผลผลิตกัญชาคุณภาพให้ รพ.และกรมการแพทย์แผนไทย โดยเป็นสถาบันการศึกษาที่ได้รับอนุญาตให้ผลิตแหล่งผลิตเพื่อการวิจัยรายใหญ่สุดในภาคอีสาน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) จัดโครงการวิจัย “การผลิตกัญชาเชิงคุณภาพเพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์” โดย “กำจัดวัตถุดิบกัญชาส่วนเกิน” ประกอบด้วย เศษซากแห้งของช่อดอก ต้น และราก รวมกว่า 600 กิโลกรัม ซึ่งเป็นเศษซากที่เหลือจากการเก็บเกี่ยวผลผลิตกัญชาคุณภาพ รุ่นแรก หลังจากได้ส่งมอบวัตถุดิบกัญชาให้แก่โรงพยาบาลคูเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ และกรมการแพทย์แผนไทย ซึ่งเป็นไปตามข้อกำหนดแนวทางดำเนินงาน โดยมีคณะกรรมการดำเนินการกำจัดวัตถุดิบกัญชาส่วนเกิน ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากมหาวิทยาลัย เป็นผู้รับผิดชอบตรวจสอบจำนวน และทำลายเศษซากที่เหลือจากการเก็บเกี่ยว มีผู้แทนโครงการวิจัย หัวหน้าส่วนประชาสัมพันธ์ มทส. เจ้าหน้าที่ตำรวจ สถานีตำรวจโพธิ์กลาง และเจ้าหน้าที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา ร่วมเป็นสักขีพยาน มีขั้นตอนการกำจัด นับแต่การแยกเศษซากแห้งช่อดอก ลำต้น และราก บรรจุถุงดำ เคลื่อนย้ายถุงบรรจุเศษซากกัญชาไปยังเตาเผาชีวมวล ณ โรงกำจัดขยะแบบครบวงจร มทส. ซึ่งตั้งอยู่ภายในบริเวณพื้นที่มหาวิทยาลัย ที่อุณหภูมิ 600 องศาเซลเซียส โดยชั่งนำหนักก่อนเผา และนำเศษซากเข้าเตาเผาจนแล้วเสร็จ พร้อมบันทึกรายละเอียดการทำลาย รายงานผล และลงลายมือชื่อกำกับทุกครั้ง เพื่อนำส่งรายงานต่อเลขานุการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ในลำดับต่อไป โครงการวิจัย “การผลิตกัญชาเชิงคุณภาพเพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์” ภายใต้ความร่วมมือของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ร่วมกับกรมการแพทย์แผนไทย เพื่อขับเคลื่อนและเตรียมความพร้อมการผลิตกัญชาแพทย์แผนไทยตามนโยบายของรัฐบาล โดยปลูกกัญชา การตรวจสอบคุณภาพ การใช้พื้นที่แปรรูป การวิจัยยาสมุนไพรที่มีกัญชาเป็นส่วนผสม เพื่อให้ได้วัตถุดิบที่มีคุณภาพดีสำหรับทำยาสมุนไพรที่ได้คุณภาพและถูกต้องตามมาตรฐานสากล โดยมี ศาสตราจารย์ (เกียรติคุณ) ดร.นันทกร บุญเกิด เป็นนักวิจัยหลัก ปัจจุบันถือได้ว่า มทส. เป็นสถาบันการศึกษาได้รับอนุญาตให้ปลูกกัญชาเพื่อการวิจัยใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บนพื้นที่ 15 ไร่ ภายในสวนเกษตรเฉลิมพระเกียรติ 50 พรรษา บรมราชกุมารี ได้รับอนุญาตปลูก 3,360 ต้นต่อรอบการผลิตซึ่งสามารถทำได้สองรอบต่อปี ได้ส่งมอบผลิตแห้ง ประกอบด้วย ใบ และช่อดอก ให้แก่โรงพยาบาลคูเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ โรงพยาบาลเครือข่ายกรมการแพทย์แผนไทย เมื่อเดือนก.ย.63 เพื่อพัฒนาต่อยอดผลิตยาสมุนไพรไทยสู่เชิงพาณิชย์ 9 ตํารับ คือ ตำรับศุขไสยาศน์ ตำรับทำลายพระสุเมรุ ตำรับยาทาริดสีดวงทวารและโรคผิวหนัง ตำรับยาแก้ลมแก้เส้น ตำรับยาแก้ลมขึ้นเบื้องสูง ตำรับยาแก้ลมเนาวนารีวาโย ตำรับยาไพสาลี ตำรับยาอไภยสาลี และตำรับยาแก้นอนไม่หลับ/ยาแก้ไขผอมเหลือง เป็นไปตามแผนการผลิตกัญชาเชิงคุณภาพเพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ และพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน