ลีลาชีวิต / ทวี สุรฤทธิกุล พี่เสือใหญ่คือ “คนเล็ก ๆ” ที่มีความคิดยิ่งใหญ่กว่าคนใหญ่ ๆ หลายคน พี่เสือใหญ่เสียชีวิตไปเมื่อ 10 กว่าปีก่อนในวัย 50 ต้น ๆ พี่เสือใหญ่อาจจะบุญน้อยที่อายุสั้น แต่ก็โชคดีที่ได้ใช้ชีวิต “อย่างคุ้มค่า” เพราะคุ้มค่าต่อชีวิตของตัวเอง ชีวิตของเจ้านาย และชีวิตคนอื่นรอบข้าง พี่เสือใหญ่ได้เดินทางไปทั่วประเทศ อย่างน้อยก็กว่าครึ่งหนึ่งของจังหวัดในประเทศไทย ทั้งที่เดินทางไปกับ “คุณชาย” (ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช) เจ้านายของเขา โดยเฉพาะที่ต้องติดตามคุณชายเดินทางไปปราศรัยหาเสียง ไปทำภารกิจอื่น ๆ และท่องเที่ยวไปในจังหวัดเหล่านั้น ซึ่งในระยะหลัง ๆ เมื่อน้าเชื่อมมีอายุมากขึ้น เขาก็ขึ้นมาเป็นสารถีหมายเลข 1 แทนน้าเชื่อมที่ร่วงโรยไป และด้วยนิสัยที่เป็นคนพูดน้อย ยิ้มมาก เป็นมิตรไมตรีกับผู้คน ทำให้พี่เสือใหญ่เป็นที่รักใคร่ของหลาย ๆ คนที่รู้จักคุณชาย แม้จะเป็นเพียง “คนขับรถ” พี่เสือใหญ่แม้ไม่ค่อยพูด แต่เมื่อพูดขึ้นมามักจะ “ได้เรื่อง” และมีคนรับฟังเสมอ โดยเฉพาะเวลาที่ใครมาพูดกระทบกระเทียบคุณชายของเขา หลายครั้งเขามักจะคอยแก้ต่างให้กับคุณชายอย่างใจเย็น เช่น เวลาที่มีคนพูดถึงเรื่องนโยบายเงินผันในครั้งที่คุณชายเป็นนายกรัฐมนตรี แล้วเรียกนโยบายนี้ว่า “เงินผลาญ” เขาก็จะเข้าไปพูดคุยอย่างสุภาพ โดยถามว่าคนที่พูดเป็นคนกรุงเทพฯหรือต่างจังหวัด ถ้าเป็นคนกรุงเทพฯเขาก็จะบอกว่าไม่เป็นไรเพราะคนกรุงเทพฯไม่รู้จักเงินผันแน่นอน แต่ถ้าเป็นคนต่างจังหวัด เขาก็จะพูดถึงบ้านของเขาที่ผักไห่ให้คน ๆ นั้นฟังว่า คนผักไห่มีความสุขมากขึ้นอย่างไร โดยเฉพาะได้ทำงานช่วยกันพัฒนาชุมชนหมู่บ้าน เหมือนได้มาร่วมงานบุญงานประเพณี ทุกคนทำงานขุดคลองทำถนนอย่างมีความสุข เหมือนญาติพี่น้องได้กลับมาพร้อมหน้าพร้อมตากัน การที่คนมาว่าพวกกำนันผู้ใหญ่บ้านมีการทุจริตโกงกินค่าแรง ก็เป็นบาปกรรมของคนเหล่านั้นที่ “นรก” จะมาจัดการต่อไป แล้วเขาก็จะสรุปปิดท้ายว่า “บ้านผมดีขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก หมู่บ้านเรารักกัน รักประเทศไทย เพราะประเทศไทยเห็นว่าพวกเราสำคัญ เอาเงินของพวกเรามาทำให้พวกเรามีความสุขมากขึ้น” คนขับรถของนายคนอื่น ๆ บางคนชอบพูดถากถางเขาเกี่ยวกับความเป็นคนอารมณ์ร้ายของคุณชายคึกฤทธิ์ บางคนถึงกับพูดว่าเขาทนอยู่ได้อย่างไรกับคนที่อารมณ์แปรปรวนอย่าง “ยายแก่” อย่างนั้น เขาก็พอรู้นัยว่าคนที่พูดต้องการเสียดสีในเรื่องอะไร แต่สิ่งที่เขาตอบนั้น “น่าทึ่ง” ด้วยความคิดของคนที่จบแค่ระดับประถมศึกษา ช่างเป็นความคิดที่ลึกซึ้งเหมือนนักปรัชญาระดับปริญญาเอก คือเขาจะพูดถึงปู่ย่าตายายของเขาว่าได้เลี้ยงดูพ่อแม่เขามา ปู่ย่าตายายก็ด่าทอเฆี่ยนตีมาบ้าง แต่ก็ได้ทำให้พ่อแม่เติบโตมาได้เป็นตัวเป็นตนตามควร แล้วก็มาให้กำเนิดเรา เลี้ยงดูเราก็มีความยากลำบาก ปากเปียกปากแฉะพร่ำบ่นอยู่ทุกวัน ก็ทำให้เป็นตัวเราในวันนี้แหละ (ความหมายของเขาก็คือ ที่เราเป็นคนอย่างนี้ก็เพราะการเลี้ยงดูจากพ่อแม่และรวมถึงคนที่เป็นเจ้านาย ดังนั้นถ้าด่าว่าเจ้านายก็เหมือนด่าว่าตัวเองนั่นแหละ) แกจะด่าว่าอะไรก็เป็นเรื่องธรรมดา “ผมอยู่กับคุณชายมา คุณชายก็เหมือนกับพ่อแม่ลุงป้าน้าอาของผม ผมรักและเคารพท่านเสมอ ไม่เคยต่อว่าหรือตำหนิท่านทั้งต่อหน้าและลับหลัง และเวลาที่ผมทำบุญผมจะอุทิศส่วนกุศลให้ทุกท่านเสมอ” พี่เสือใหญ่ตบท้ายด้วยข้อความแบบนี้ ซึ่งพี่เสือใหญ่แอบกระซิบกับผมว่า ประโยคท้ายที่แกอยากเติมว่า “รวมทั้งอุทิศส่วนกุศลให้พวกปาก...ที่ถามมานี้ด้วย” แกเก็บไว้ในใจเสมอมา และอโหสิกรรมกับความไม่ดีของคนเหล่านั้นที่ใช้ “ทุวาจา” กับผู้อื่น มีนิสัยแปลก ๆ ของพี่เสือใหญ่อีกเรื่องหนึ่งคือ แกชอบเก็บเหรียญบาทเหรียญสลึงใส่กล่องไว้ที่หัวนอน เหรียญเหล่านั้นแกบอกว่าเก็บมาจากข้างถนน ได้มาก็เอามาล้างให้สะอาด ถ้ามีคราบมีเขม่าก็จะเอามาขัดถูให้สวยงาม แกบอกว่าไม่อยากให้เดินเหยียบย่ำ “ในหลวง” แล้วเมื่อได้มาก็ไม่เอาไปใช้อะไร แต่เอามาบูชาไว้ ผมจึงถามว่าบูชาทำไมหรือ แกก็ตอบว่าไม่ใช่เพียงเพราะว่าเหรียญเหล่านี้เป็นเหรียญในหลวงที่เราต้องเคารพเทิดทูนเท่านั้น แต่ยังเป็น “หยาดเหงื่อ” ของคนที่ทำหล่นทุ่มเททำหามาได้ด้วยความยากลำบาก หรืออย่างน้อยก็เป็นผลตอบแทนในการทำงานอะไรสักอย่าง รวมถึงที่ให้เป็นรางวัลแก่การทำคุณงามความดี หรือต้องแลกมาด้วยความเพียรพยายามพอสมควร จึงทำให้เงินเหล่านั้นมี “คุณค่าอย่างที่สุด” ในทุก ๆ เหรียญเหล่านั้น แกจึงต้องเอามา “บูชา” ด้วยคุณค่าที่มหาศาลในความคิดส่วนตัวของแก พี่เสือใหญ่มีงานอดิเรกที่น่าทึ่ง คือแกชอบสะสมธนบัตรใหม่ ๆ แต่เดิมที่ต้องไปมาที่ธนาคารกรุงเทพฯพาณิชยการ ที่คุณชายเป็นรองประธานกรรมการธนาคารแห่งนี้อยู่ ระหว่างที่ไปส่งคุณชายและรอรับ แกก็จะไปขอแลกธนบัตรที่ออกใหม่ ๆ มาเก็บไว้ ผมเคยได้ดูที่แกเอามาอวดมีจำนวนเป็นร้อย ๆ ใบ แกบอกว่าแกชื่นชมในความสวยงามของธนบัตรที่มีทั้งลวดลายอันละเอียดประณีต และเรื่องราวในธนบัตรที่มักเป็นพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยเฉพาะธนบัตรที่ออกในโอกาสพิเศษต่าง ๆ โดยเอามาวางเรียงไว้ในสมุดสำหรับสะสมธนบัตรโดยเฉพาะ ซึ่งแกบอกว่าแกจะไม่เอาไปขาย รวมถึงสั่งเสียลูกเมียให้เก็บไว้ดี ๆ ด้วย ทั้งนี้แกบอกว่าธนบัตรเหล่านี้เป็นศิริมงคลสูงสุด ยิ่งกว่าหลวงพ่อวัดไหน ๆ หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ใด ๆ ในช่วงที่ท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ป่วยหนักต้องอยู่ในโรงพยาบาลหลายเดือน พี่เสือใหญ่ก็ไปนอนเฝ้าสลับสับเปลี่ยนกับเด็กรับใช้คนอื่น ๆ อยู่ทุกคืน ดูแกเป็นทุกข์มากเพราะไม่ได้ยิ้มแย้มเหมือนเคย จนกระทั่งคุณชายถึงแก่อสัญกรรม พี่เสือใหญ่ก็เหมือน “หลุด” ไปจากโลก ไม่พูดไม่คุยกับใครเลย และในวันพระราชทานเพลิงศพ ขณะเวียนโกศศพรอบเมรุ ผมอยู่ในสภาพสมณเพศก็ร่วมเดินนำขบวน ผมแอบเห็นแกนั่งพิงผนังห้องที่ศาลาหลังเมรุไม่ขยับเขยื้อนเหมือนว่าไม่ได้หายใจอยู่ บางครั้งชีวิตคนเราก็เกิดมาอย่างไร้จุดหมาย แต่แล้วเมื่อชีวิตสามารถยึดจับบางสิ่งบางอย่างไว้ได้ บางคนก็ยึดเอาไว้อย่างติดแน่น และล่องลอยไปด้วยกัน จนกระทั่งสูญสลายไปพร้อม ๆ กัน เหมือนชีวิตของพี่เสือใหญ่ที่ยึดติดกับคุณชายคึกฤทธิ์ ต่างคนต่างปกป้องคุ้มครองดูแลกันและกัน แล้วล่วงลับไปตามกันนั้น ขอดวงวิญญาณของพี่เสือใหญ่จงสถิต ณ สัมปรายภพอันสุขสงบ คอยเฝ้ารับใช้คุณชายที่พี่เสือใหญ่เคารพรักยิ่งนั้นตลอดไปด้วยเทอญ