ปากกาขนนก / สกุล บุณยทัต [email protected] “นัยแห่งความไร้เหตุผลในกระบวนการแห่งการดำรงอยู่ของมนุษย์ นับเป็นสิ่งที่ซ่อนเงื่อนซ่อนปมอยู่กับเจตจำนงที่ดิ่งลึกอันยากจะเข้าใจและถูกค้นพบ...ทั้งหมดล้วนดำเนินไปด้วยบทบาทแห่งตัวตน ภายใต้เงื่อนไขของสาระที่แอบซ่อน...จิตใจของมนุษย์หลายๆขณะได้กลายเป็นหลุมพรางแห่งชะตากรรมที่คอยดักล่อเหลี่ยมมุมของชีวิตให้ตกลงไปสู่ห้วงแห่งหายนะที่เป็นดั่งบาปอันเปื้อนมือที่แสนจะสกปรก ความมืดดำในทางจิตวิญญาณมักผลักดันและกดดันให้มนุษย์ต้องกระเสือกกระสนเพื่อไต่ขึ้นสู่ที่สูง ทั้งๆที่ในบางโอกาสสถานการณ์เช่นนี้กลับเป็นบ่อเกิดแห่งทุกข์ที่รองรับความไม่รู้ตัวของเหล่ามวลมนุษย์...เหตุแห่งผลในการขับเคลื่อนชีวิต จึงเป็นการขยายกว้างของวงจรอันพลิกผัน ซึ่งมีชีวิตเป็นเหยื่อแห่งสถานการณ์อันบริสุทธิ์...อะไรคือปัจจัยรองรับมิติแห่งความเป็นไปเช่นนี้...นี่คือมิติเชิงการวิเคราะห์ที่ต้องอาศัยสำนึกคิด อันเป็นตัวแปรแห่งปริศนาเป็นเครื่องตัดสิน...ระหว่างและท่ามกลาง...ความมีและความเป็น...ความไร้เหตุผลอาจปรากฏอยู่เหนือบริบทที่ไม่ถูกนับเนื่องให้สังกัดอยู่ในความ หมายใดๆ”...ภาวะแห่งการรับรู้เบื้องต้นคือสาระสำคัญที่เป็นโครงสร้างของหนังสือ... วิเคราะห์แนวคิดนักเขียนนักคิดชาวฝรั่งเศส ‘อัลแบร์ กามูส์’ ในนามแห่ง ‘ปรัชญาแห่งความไร้เหตุผล’...หนังสือที่ทรงคุณค่าต่อการรับรู้ในมิติอันสำคัญและน่าใคร่ครวญของชีวิต ผลงานแปลและเรียบเรียงของ ‘พินิจ รัตนกุล’ นักแปล...นักปรัชญาอาวุโสคนสำคัญของไทย ที่เลือกสรรประเด็นแห่งองค์ความรู้ผ่านกระบวน การความคิดในเชิงย้อนแย้งสังคมแห่งชีวิตที่เต็มไปด้วยความแม่นตรงของ ‘กามูส์’ ผ่านผลงานเขียนชิ้นสำคัญของเขารวมสองชิ้น ซึ่งได้แก่ ‘มนุษย์ที่ไร้เหตุผล’ และ ‘ชะตากรรมของซิเซอร์ฟัส’ โดยผู้เขียนได้แปลจากหนังสือเล่มเล็กของ ‘กามูส์’ ‘The Myth of Sisyphus and other Essays’ ฉบับของ Vintage Books ซึ่งแปลจากฉบับภาษาฝรั่งเศส ‘Le Mythe de Sisyphe’ ด้วยเหตุผลที่ว่า “เพราะแม้เป็นงานเขียนสั้นๆแต่ก็บรรจุสารัตถะของปรัชญาแห่งความไร้เหตุผลอยู่ทั้งหมด” ทั้งนี้ทั้งนั้น.. ‘กามูส์’ ได้สร้างปรัชญาแห่งความไร้เหตุผลขึ้นมาเพื่อสะท้อนให้เห็นถึงความไร้สาระของชีวิตและความไร้เหตุผลของโลกที่ทำให้โลกไม่เป็นเช่นที่ควรจะเป็น พร้อมทั้งเสนอแนะทางเลือกที่จะช่วยทำชีวิตให้มีความหมายในโลกที่ไร้เหตุผลด้วย ครึ่งหนึ่งแห่งสาระเนื้อหาของหนังสือเล่มนี้เป็นบทความข้อเขียนโดยตรงของ ‘กามูส์’ ซึ่งประกอบด้วย ‘มนุษย์ที่ไร้เหตุผล’ กับ ‘ชะตากรรมของซิเซอร์ฟัส’ อันเป็นปฐมบทของหนังสือเล่มนี้ ซึ่งจะผสานเข้ากับผลึกความคิดของผู้แปลและเรียบเรียงในเชิงอธิบายความผ่าน ‘ปรัชญาแห่งความไร้เหตุผล’ และ ‘ชีวิตที่เลือกไม่ได้’ ‘กามูส์’ได้แสดงถึงข้อประจักษ์ในประเด็นแห่งสถานะแห่งความเป็น‘มนุษย์ที่ไร้เหตุผล’ ด้วยบทเริ่มต้นแห่งภาพแสดงถึงว่า... “การกระทำที่สำคัญและความคิดที่ยิ่งใหญ่ มักจะมีจุดเริ่มต้นที่น่าหัวเราะ การงานสำคัญมักเกิดขึ้นที่มุมถนนหรือประตูหมุนของภัตตาคาร ความไร้เหตุผลเป็นไปในทำนองนี้ โลกที่ไร้เหตุผลได้รับความยิ่งใหญ่มาจากกำเนิดอันต่ำต้อยเช่นกัน” ในสถานการณ์แห่งความเป็นจริงตามทัศนะของ ‘กามูส์’ คนเราทุกคนมักจะตอบว่า ‘ไม่ได้คิดอะไรเลย’ เมื่อคนถามว่ากำลังคิดอะไรอยู่...ประเด็นตรงส่วนนี้ถูกตั้งข้อสังเกตในเชิงเน้นย้ำว่า...มันถือเป็นความหลอกลวงที่ดำรงอยู่ในตัวมนุษย์ทุกคนก็ว่าได้ โดยเฉพาะผู้ที่กำลังมีความรักย่อมตระหนักถึงเรื่องนี้ดี “ถ้าหากคำตอบนั้นจริงใจและเป็นสัญลักษณ์ของสภาวะแปลกประหลาดของตัวเราที่ความว่างเปล่าได้กลายเป็นคำพูดอันไพเราะจับใจ แต่เมื่อใดที่สายโซ่ของท่าทางที่เราแสดงออกอยู่ประจำวันได้ขาดสะบั้นลง เมื่อนั้นหัวใจก็พยายามแสวงหาสายใยที่จะเชื่อมโยงความสัมพันธ์นั้นอีก ในกรณีดังกล่าวมันคือสัญญาณแรกที่ชี้ให้เห็นว่ามีความไร้เหตุผลเกิดขึ้นแล้ว” ‘กามูส์’ได้ตั้งข้อสังเกตว่า..มันน่าจะเป็นการผิดพลาดที่จะกล่าวว่าความสุขจำเป็นต้องเกิดจากการค้นพบที่ไร้เหตุผล แต่ก็มีเหมือนกันที่ความรู้สึกว่าไร้เหตุผลนี้ได้บังเกิดจากความสุข...โดยเขาได้อ้างอิงถึงตัวละครเอกของละครโศกนาฏกรรมกรีก ซึ่งเป็นบทประพันธ์อันเลื่องลือของ ‘โซโฟคลีส’ (Sophocles) ในเรื่อง ‘เอดิปุส’ (Oedipus)...ซึ่งได้มีบทพูดอันสำคัญที่แสดงถึงการยืนยันว่า... “ฉันสรุปว่าทุกอย่างที่ผ่านมานั้นดีแล้ว”...คำกล่าวนี้ ‘กามูส์’ ได้ถือว่ามันเป็นดั่ง ‘คำศักดิ์สิทธิ์’ ที่สะท้อนกลับไปกลับมาในโลกที่ป่าเถื่อนและคับแคบของมนุษยชาติ...มันสามารถสอนถึงข้อตระหนักแก่มนุษย์ไว้ว่า...ทุกสิ่งทุกอย่างไม่ได้สิ้นสุดและไม่เคยสิ้นสุดเพียงแค่นี้...คำพูดนี้สามารถขับไล่เทพเจ้าที่เข้ามาอยู่ในโลกด้วยความหงุดหงิด และมีรสนิยมชมชอบความทุกข์ทรมานที่ไร้ความหมายให้ออกไปจากโลก...เพื่อที่จะให้มิติแห่งโชคชะตาได้บังเกิดเป็นเรื่องราวเฉพาะของมวลหมู่มนุษย์ด้วยกันเอง...เป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องกำหนดวิถีกันเองในระหว่างมนุษย์ด้วยกัน... ‘กามูส์’ เชื่อว่า มนุษย์ในโลกที่ไร้เหตุผลต่างยอมรับในความจริงข้อนี้...ดังนั้นพวกเขาจึงมีความพยายามอย่างไม่หยุดยั้ง...โดยเฉพาะหากถ้ามนุษย์มีโชคชะตาเป็นของตนเอง ก็ไม่มีโชคชะตาอย่างใดที่จะเหนือกว่า ความเรียงของ ‘พินิจ รัตนกุล’ ผู้เรียบเรียงหนังสือเล่มนี้ ทั้งในส่วนของ ‘ปรัชญาแห่งความไร้เหตุผล’ และ ‘ชีวิตที่เลือกไม่ได้’ ล้วนแสดงถึงบริบทอันจริงแท้แห่งสำนึกรับผิดชอบของ ‘กามูส์’ ในฐานะของมนุษย์ โดยการระบุถึงข้อยืนยันว่าที่ว่า... ‘กามูส์’ ไม่ได้ปฏิเสธความสามารถของมนุษย์ ในการใช้เหตุผลคิดค้นหาความจริงของสิ่งต่างๆตามความอยากรู้อยากเห็นของตน แต่เขาได้ชี้ให้เห็นถึงข้อจำกัดของเหตุผลในเรื่องดังกล่าว...เหตุผลที่สามารถนำมนุษย์ไปสู่ความจริง แต่ในขณะ เดียวกัน “เหตุผลนี่เองก็ได้สร้างความคิดขึ้นมาปิดกั้นความจริงที่แสวงหา...ความจริงที่ถูกค้นพบจึงมักเป็นความจริง ในกรอบความคิดอย่างเดียว ถึงแม้ว่าในการแสวงหาความจริง...วิทยาศาสตร์จะใช้เหตุผลในรูปของการคิดคำนวณทางคณิตศาสตร์และมีการสังเกตทดลองเพิ่มขึ้น...แต่ทั้งคณิตศาสตร์การสังเกต และการทดลอง ก็ยังมีความคิดเป็นพื้นฐานอยู่นั่นเองที่สุดแล้ว..... ‘กามูส์’ก็ได้ประจักษ์และเห็นเป็นข้อสรุปออกมาว่า... ความทุกข์ยากลำบากของมนุษย์และความชั่วร้ายต่างๆที่ปรากฏอยู่ทุกหนทุกแห่งล้วนป็นความจริงที่ขัดแย้งกับคำสอนนี้ “โลกที่ดีงามอยู่ในตัวจะมีสิ่งที่เลวร้ายแฝงอยู่ได้อย่างไร?”