"ชวน"แย้มแนวโน้มพรรคการเมืองอยากให้ 6 ร่างแก้ไขรธน.พิจารณาพร้อมร่าง "ไอลอว์" ปัดตอบตั้งกก.สมานฉันท์เพื่อซื้อเวลา ยันต้องมีเป้าหมายก่อน "วิษณุ" เผยเป็นอำนาจ"ชวน"ตั้งคกก.ปรองดอง ระบุไม่มั่นใจสำเร็จหรือไม่ ออกตัว คำถาม "นายกฯ" อยู่ต่อหรือไม่ ควรให้คกก.ปรองดองคิดจนสะเด็ดน้ำ ยันรบ.ไม่แทรกแซง ด้าน"บิ๊กตู่"บอกช่วงนี้สถานการณ์อ่อนไหว ขอปฏิบัติหน้าที่อย่างระวัง ส่วน"บิ๊กป้อม" ย้ำไม่มีปฏิวัติ หลัง"สนธิ" เสนอทางออกสู่รัฐบาลแห่งชาติ "สนธิญา" บุกร้องบชน. เอาผิด "ปิยะบุตร" โพสต์ข้อความเกี่ยวกับสถาบันลงเฟซบุ๊ก "อัยการ" ยื่นฟ้องศาล "ธนาธร-ปิยบุตร-ช่อ -พิธา" กับพวก คดีแฟลชม็อบปี62 ขณะที่"ม็อบปลดแอก"นัดรวมพล "แยกปทุมวัน-ถนนสีลม" ที่รัฐสภา เมื่อวันที่ 29 ต.ค.63 นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา กล่าวถึงความคืบหน้าในการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่า ได้มอบให้ นพ.สุกิจ อัถโถปกรณ์ ที่ปรึกษาประธานสภาฯ ประสานไปยังพรรคการเมืองต่างๆ เพื่อสอบถามถึงการบรรจุระเบียบวาระการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 6 ญัตติ พร้อมกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับไอลอว์หรือไม่ เพราะเท่าที่ทราบบางพรรคบอกว่าควรรอ แต่บางพรรคบอกว่า ขอนำกลับไปหารือในพรรคก่อน แต่ยังไม่มีพรรคใดปฏิเสธว่าไม่สมควรอร่างไอลอว์ ขณะนี้ยังมีเวลาเพราะสภาฯกว่าจะเปิดประชุมคือวันที่ 4 พ.ย. แต่ถ้าจะรอพิจารณาไปพร้อมกับร่างของไอลอว์ จะต้องรอหลังจากวันที่ 12 พ.ย. ซึ่งคาดว่าน่าจะมีการชัดเจนออกมาในช่วงวันที่ 13-17 พ.ย. นายชวน ยังกล่าวถึงการตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ เพื่อหาทางออกประเทศ ว่า ได้ประสานไปยังเลขาธิ การสถาบันพระปกเกล้าแล้ว เพื่อให้ไปศึกษาและกำหนดโครงสร้างของคณะกรรมการชุดดังกล่าว โดยทางสถาบันฯ ต้องไปคุยกับผู้ที่เสนอให้ตั้งกรรมการชุดดังกล่าวว่ามีวัตถุประสงค์อย่างไรจะได้รู้แนวทางในการตั้งคณะกรรมการว่ามีหน้าที่อะะไรบ้าง ส่วนตัวบุคคลที่จะมาเป็นประธานค่อยว่ากันทีหลัง ขอให้ได้รูปแบบก่อน เพราะเรามีคนที่มีความรู้และมีประสบการณ์อยู่แล้ว เมื่อถามว่า มีการมองว่าการตั้งคณะกรรมการชุดนี้ขึ้นมาป็นการซื้อเวลา นายชวน ย้อนถามกลับว่า ใครซื้อ ใครเป็นคนขาย ไม่ขอวิจารณ์อะไร แต่ทุกคนต้องทำหน้าที่ภายใต้ความรับผิดชอบของตัวเอง เมื่อถามว่า หากฝ่ายค้านและนักศึกษาไม่เข้ามาร่วมด้วยการตั้งคณะกรรมการชุดนี้จะสำเร็จหรือไม่ นายชวน กล่าวว่า อยากให้ทุกฝ่ายเข้ามามีสวนร่วมมากที่สุด อย่าเพิ่งไปมองว่าเป็นฝ่ายค้านหรือนักศึกษา อยากให้มองภาพรวมว่าทุกคนที่มีบทบาท มีความรู้ความสามารถและมีประโยชน์ก็ควรเข้ามาร่วมด้วย ด้าน นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ กล่าวถึงข้อเสนอการตั้งกรรมการปรองดองสมานฉันท์เพื่อหาทางออกร่วมกันผ่านกลไกรัฐสภา ว่า ตนไม่ทราบเรื่องนี้ ตนไม่รู้เรื่อง เป็นเรื่องของ นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาส่วนการเสนอให้สถาบันพระปกเกล้าเข้ามาเป็นตัวกลางและจะให้ตัวแทนผู้ชุมนุมเข้าร่วมด้วยหรือไม่นั้น ตนไม่ทราบอยู่ที่นายชวน จะเป็นผู้กำหนดรายละเอียด ซึ่งเรื่องเหล่านี้จะต้องมาจากข้อเสนอแนะของส.ส.และ ส.ว. และเห็นพ้องกันทุกฝ่าย ทั้งนี้ยืนยันว่าไม่ใช่เป็นการโยนให้ฝ่ายนิติบัญญัติเป็นผู้ดำเนินการ แต่เป็นอำนาจของประธานรัฐสภาที่จะดำเนินการ เพราะถ้าคนอื่นไปตั้งก็ไม่มีอำนาจ และจะไม่มีคนเอาด้วย แต่ประธานรัฐสภาสามารถดำเนินการได้ เนื่องจากเคยทำมาแล้วสมัยนายชัย ชิดชอบ เป็นประธานรัฐสภา และเคยตั้งนายดิเรก ถึงฝั่ง อดีตส.ว.นนทบุรี เป็นประธานมาแล้ว เมื่อถามว่า แนวทางนี้จะเป็นทางออกหรือไม่ เพราะสมัยนายดิเรกก็ไม่สำเร็จ นายวิษณุ กล่าวว่า ก็ไม่มีวิธีอื่น จะไปตั้งเป็นกรรมาธิการ ข้อบังคับก็ไม่ได้เปิดช่องไว้ แต่ถ้าใช้อำนาจของประธานรัฐสภาตามข้อ 5(6) ของข้อบังคับการประชุมรัฐสภาก็จะไปได้ เมื่อถามว่า ถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่เข้าร่วมการตั้งคณะกรรมการดังกล่าวควรยุติหรือเดินหน้าต่อไป นายวิษณุกล่าวว่า ไม่แน่ในว่าคณะกรรมการจะสามารถหาข้อยุติได้หรือไม่ แต่จะหาทางออกให้ปฏิบัติ เช่น สมัยนายชัย ก็ได้ทางออกแต่ก็ไม่สำเร็จ เมื่อถามว่าหากมีการตั้งกรรมการขึ้นมา ตัวแทนจากฝ่ายรัฐบาลจะต้องเป็นรัฐมนตรีเลยหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่ได้คิดเรื่องดังกล่าว เพราะยังไม่รู้องค์ประกอบของกรรมการคืออะไร แต่หากรู้ว่าคืออะไรจะได้พิจารณากันต่อไป เมื่อถามถึงกรณีที่ระบุในที่ประชุมรัฐสภาว่านายกฯ ปรึกษารองนายกฯ เกี่ยวกับการทำประชามติว่าควรอยู่ต่อหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า คำถามดังกล่าวอาจเป็นคำถามพ่วงก็ได้ ที่ใช้คำว่าพ่วง เพราะหากทำพร้อมกับการเลือกตั้งนายกฯ องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น เราก็เรียกคำถามพ่วง แต่ถ้าไปตั้งเอกเทศก็ไม่ใช่คำถามพ่วง แต่ยอมรับว่าคำถามตั้งยากที่จะถามในเรื่องตัวบุคคล เพราะรัฐธรรมนูญมาตรา 116 ห้ามไว้ ดังนั้นก็อาจจะให้คณะกรรมการปรองดองสมานฉันท์เป็นคนไปคิดคำถาม แต่ทั้งนี้กระบวนการดังกล่าวจะสามารถทำได้ต้องรอให้กฎหมายประชามติผ่านรัฐสภาเสียก่อน แต่ก็มีผู้เสนอในสภาว่า หากต้องการทำแบบเร่งด่วนก็สามารถออกเป็น พ.ร.ก.ประชามติได้แบบใช้ครั้งเดียวเลิก ส่วนรัฐบาลจะเห็นด้วยหรือไม่ ตนไม่ขอตอบคำถาม เพราะเป็นแนวคิดของสภา ซึ่งนายกฯ เพียงแต่รับฟังแต่ไม่ได้มีความเห็น เมื่อถามว่าหากจะถามเรื่องตัวบุคคลแล้วต้องตั้งคำถามแบบแยบคายจะตั้งอย่างไร นายวิษณุ กล่าวว่า ก็บอกไม่ถูกเพราะถ้าหากบอกทุกอย่างไปก็จะถูกกล่าวหาว่ารัฐบาลเป็นคนชงเรื่อง ควรให้เป็นเรื่องของกรรมการสมานฉันท์เป็นคนคิดให้ทะลุปรุโปร่ง ที่ห้องประชุมศรียานนท์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและรมว.กลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ครั้งที่ 10/2563 ทั้งนี้นายกฯ กล่าวในระหว่างการประชุมว่า อยากเรียนในฐานะนายกฯ และรัฐบาล เนื่องจากสถานการณ์ในช่วงนี้ค่อนข้างอ่อนไหว ขอให้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความระมัดระวัง พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.)ว่า สวัสดีสื่อมวลชนที่รักทุกคน เมื่อเช้าก็เจอกันไปรอบ ยังไม่เบื่อกันหรือไง ยังไม่เบื่อเราเหรอ วันนี้เป็นการประชุมก.ตร.ครั้งที่ 10/2563 โดยมีหลายเรื่องที่เกี่ยวข้อง ซึ่งตนได้เน้นย้ำในเรื่องของการปฎิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจทุกคนที่มีหน้าที่ดูแลความเป็นธรรมให้กับคนทุกกลุ่มทุกฝ่าย เพราะเราไม่ใช่คู่ขัดแย้งกับใคร เป็นหน้าที่ของรัฐ เป็นหน้าที่ของนายกฯ เป็นหน้าที่ของรัฐบาล เป็นหน้าที่ของฝ่ายบริหารทุกคนที่จะต้องร่วมมือกันทำให้ประเทศชาติปลอดภัย ประชาชนปลอดภัยทั้งชีวิตและทรัพย์สิน และทำให้บ้านเมืองเดินหน้าไปให้ได้ นายกฯ กล่าวว่า ทั้งนี้สิ่งสำคัญที่สุดในเรื่องของความปลอดภัย เราต้องระมัดระวังเรื่องของการกระทำใดๆที่จะส่อทำให้เห็นว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ต้องการดำเนินคดีอะไรอยู่แล้ว แต่ถ้าบานปลายไปเรื่อยๆ ก็ลำบาก เพราะทำให้เดือดร้อน วันนี้เศรษฐกิจยังมีปัญหาอยู่ บ้านเมืองจะได้เดินหน้าไปก่อนในช่วงนี้ก็ขอร้องก็แล้วกัน พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ในเรื่องของโซเชียลมีเดียก็แล้วแต่บุคคล เพราะตนเคยพูดไปแล้วว่า ถ้าไม่อ่าน ไม่ฟังเลยก็จะเชื่อทุกอย่างตามที่เห็น ตามที่อ่าน ตนว่าต้องแยกแยะ และใช้สติปัญญาว่าเป็นไปได้หรือเปล่า บางทีก็รู้เท่าไม่ถึงการณ์ก็เชื่อกันไป แล้วก็เกิดปัญหาความขัดแย้ง ตนไม่ใช่คู่ขัดแย้งของใคร เจ้าหน้าที่ก็ไม่ใช่คู่ขัดแย้งของใคร เพราะทุกคนคือคนไทย ที่อาศัยอยู่ในแผ่นดินไทยภายใต้กฎหมายเดียวกันทั้งหมด ฉะนั้นอย่ามากล่าวอ้างว่าถูกรังแก เพราะกฎหมายรังแกใครไม่ได้ ซึ่งทุกคนก็ต้องระมัดระวังตัวเองกันอยู่แล้วในเรื่องของการบังคับใช้กฎหมาย ด้าน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ กล่าวถึงกรณี นายสนธิ ลิ้มทองกุล อดีตแกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย(พธม.) เสนอทางออกประเทศให้มีการปฏิวัติเปิดทางรัฐบาลแห่งชาติ ว่า ไม่ทราบ แต่ยืนยันว่า ไม่มีการปฏิวัติ ต่อข้อถามว่า เหมาะสมหรือไม่ที่มีข้อเสนอดังกล่าวมาออกมาในช่วงสถานการณ์เช่นนี้ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ไม่รู้ ตนไม่ทราบ เมื่อถามว่า ขณะนี้ผู้ชุมนุมใช้ช่องทางดิจิทัลเป็นสื่อหลักในการรวมพล ได้กำชับอะไรเป็นพิเศษหรือไม่ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า เขาติดตามอยู่แล้ว ส่วนที่หลายกระแสระบุว่า ภาครัฐยังเข้าถึงโซเชียลไม่เท่ากับกลุ่มผู้ชุมนุมนั้น พล.อ.ประวิตร ย้อนถามสื่อมวลชนว่า "คุณรู้ได้อย่างไร ผมเข้าถึง เข้าถึงมากกว่า" ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล หรือบช.น. นายสนธิญา สวัสดี ที่ปรึกษาประธานคณะกรรมาธิการกฎหมายการยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ได้เดินทางมายื่นหนังสือร้องทุกข์กล่าวโทษให้ตรวจสอบข้อเท็จจริง เพื่อดำเนินคดีต่อ นายปิยะบุตร แสงกนกกุล ในความผิดพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ หลังโพสต์ข้อความเกี่ยวกับสถาบัน โดย นายสนธิญา กล่าวว่า ที่ตนเดินทางมาในวันนี้ก็เพื่อยื่นหนังสือร้องทุกข์กล่าวโทษ เพื่อให้ทาง บช.น.ได้ทำการสืบสวนสอบสวน กรณีที่มีผู้ใช้ชื่อในเฟซบุ๊กว่า "ปิยะบุตร แสงกนกกุล" ได้โพสต์ลงเกี่ยวกับสถาบัน ซึ่งหน้า ที่ตำรวจต้องทำการตรวจสอบข้อเท็จจริง ส่วนที่สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลแขวง 6 (ปทุมวัน) นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า พร้อมด้วย นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า อดีตเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่,น.ส.พรรณิการ์ วานิช โฆษกคณะก้าวหน้า อดีตโฆษกพรรคอนาคตใหม่,นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และนายไพรัฎฐโชติก์ จันทรขจร อดีตผู้สมัคร ส.ส.อนาคตใหม่ เขต 5 นครปฐม เดินทางมารับฟังคำสั่งตามที่อัยการนัดหมาย กรณีถูกกล่าวหาว่าร่วมกันกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 จากเหตุการณ์ชุมนุมแฟลชม็อบบริเวณสกายวอล์ก สี่แยกปทุมวัน หน้าหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2562 ล่าสุด ทางทนายความ แจ้งความคืบหน้าในส่วนของคดีความ ทางอัยการได้ส่งฟ้องต่อศาลและศาลได้อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว โดยที่ไม่ต้องมีการวางหลักทรัพย์ค้ำประกัน และจะมีนัดต่อไปในวันที่ 22 ธันวาคม 2563 เวลา 10.00 น. ทั้งนี้ ในช่วงก่อนเข้ารับฟังคำสั่งของศาล ผู้สื่อข่าวได้ถามถึงกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย นายธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ อดีตส.ส.พรรคก้าวไกล ที่พ้นสมาชิกภาพการเป็น ส.ส. ปมถือหุ้นสื่อ โดยนายธนาธรในฐานะที่เป็นอดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่า มีข้อสังเกตถึงมาตรฐานที่ต่างกันในกรณีคำตัดสินของ ส.ส.ฝั่งรัฐบาลและฝั่งของตนเอง รวมถึงทั้งกรณีที่เกิดขึ้นกับนายธัญญ์วาริน และคดีความต่างๆต่อ นักเรียน นิสิต นักศึกษา ซึ่งเป็นการใช้กฎหมายเพื่อให้เกิดความหวาดกลัวในการต่อสู้กับความอยุติธรรม "สิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านี้เป็นการตั้งโจทย์ที่ผิด จึงนำไปสู่วิธีการแก้ปัญหาที่ไม่ถูกต้องของผู้มีอำนาจ ที่คิดว่าต้องเอาคนที่อยู่เบื้องหน้า เอาแกนนำจับเข้าคุกให้หมด เป็นการตั้งโจทย์และมีวิธีการที่ผิด ถึงไม่มีธนาธร ปิยบุตร พรรณิการ์ พวกเขานักเรียน นิสิต นักศึกษาและประชาชนก็จะยังต่อสู้เพื่ออนาคตของพวกเขา เพื่อประชาธิปไตย การยิ่งจับกุมผู้คนเข้าคุกมีแต่จะยิ่งทำให้ประชาชนโกรธแค้นมากขึ้น" ขณะที่ ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลนัดไต่สวนคำร้องขอหมายจับ จ.489/2563 ที่ พ.ต.อ.พิทักษ์ สุทธิกุล รอง ผบก.อคฝ. รักษาราชการแทน ผกก.สน.ทุ่งมหาเมฆ ยื่นขอออกหมายจับ น.ส.ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล หรือมายด์ อายุ 25 ปี , นายกรกช แสงเย็นพันธ์ อายุ 28 ปี, นายชนินทร์ วงษ์ศรี อายุ 20 ปี , นายชลธิศ โชติสวัสดิ์ อายุ 21 ปี น.ส.เบนจา อะปัญ อายุ 21 ปี ในความผิดฐาน ร่วมกันกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใดอันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็น หรือติชมโดยสุจริต เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้าง กระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ตาม ป.อาญา มาตรา 116 และข้อหาอื่นๆ จากกรณีที่เป็นแกนนำไปชุมนุมที่หน้าสถานทูตเยอรมนี ย่านสาทร กทม. เมื่อค่ำวันที่ 26 ต.ค. ที่ผ่านมา