"คลัง"คาดท่องเที่ยวไทยปี64 ยังไม่ฟื้นตัว ต่างชาติเข้าไทยแค่ 8 ล้านคน รายได้ 4 แสนล้านบาท แต่ภาพรวมเศรษฐกิจไทยดีขึ้น "สศค."ปรับคาดการณ์จีดีพีปี 63 หดตัว -7.7% หดตัวน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ครั้งก่อน -8.5% หลังรัฐผ่อนคลายกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ออกมาตรการกระตุ้นต่อเนื่อง ระบุปี 64 เศรษฐกิจกลับมาขยายตัวได้อีกครั้งที่ 4.5% ย้ำฐานะคลังแข็งแกร่ง พร้อมออกมาตรการเสริมรับมือเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงพิษโควิด-19 เมื่อวันที่ 29 ต.ค.63 นายวุฒิพงศ์ จิตตั้งสกุล ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะรองโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า แนวโน้มการท่องเที่ยวในปี64 จะยังไม่ฟื้นตัวนัก โดยคาดว่าจะมีชาวต่างชาติเดินทางเข้าไทยเพียง 8 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีนี้ที่มีประมาณ 6.7 ล้านคน ส่งผลให้รายได้จากภาคท่องเที่ยวในปี 64 จะอยู่ที่ 4 แสนล้านบาท สูงขึ้นเล็กน้อยกว่าปีนี้ที่ 3.3 แสนล้านบาท แต่ยังน้อยกว่าก่อนเกิดโควิดที่มีรายได้การท่องเที่ยวสูงถึง 1.93 ล้านล้านบาท เนื่องจากมองว่าการเดินทางท่องเที่ยวในปีหน้า ยังอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่จำกัดอยู่ ไม่สามารถเดินทางได้อย่างปกติ ยกเว้นจะมีการผลิตวัคซีนป้องกันโควิดออกมาใช้ได้เร็ว ก็อาจทำให้สถานการณ์ท่องเที่ยวปี 64 ฟื้นตัวดีกว่าเดิม ทั้งนี้ แม้การป้องกันแพร่ระบาดของไวรัสโควิดภายในประเทศจะได้ผลดี และสามารถผ่อนปรนเงื่อนไขให้นักท่องเที่ยวบางกลุ่มเข้ามาได้ ซึ่งส่งผลให้ตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่ก็ยังต้องติดตามสถานการณ์แพร่ระบาดไวรัสทั่วโลก ซึ่งมีการระบาดระลอกสองอยู่หลายประเทศ โดยเฉพาะตลาดนักท่องเที่ยวสำคัญของไทย อาทิ อินเดีย มาเลเซีย รัสเซีย และสหรัฐอเมริกา จนอาจทำให้การท่องเที่ยวในปี 63-64 ยังไม่ฟื้นตัวนัก อย่างไรก็ตาม แนวโน้มปัจจัยที่มีผลต่อเศรษฐกิจด้านอื่นมีทิศทางดีขึ้นชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นคาดการณ์เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าของไทย ในปีนี้จะติดลบน้อยลงจากลบ 4.2% เหลือ 4.1% และปีหน้าจะกลับมาเป็นบวกได้ 5.1% รวมถึงค่าเงินบาทในปีนี้ก็มีทิศทางอ่อนค่าลงมาอยู่ที่31.43 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ตลอดจนการใช้จ่ายภาคสาธารณะก็ทำได้ในอัตราที่สูง ด้าน นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) ในฐานะรองโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยปี 2563 คาดว่าจะหดตัว 7.7% ต่อปี หดตัวน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้เดือนกรกฎาคม 63 หดตัว 8.5% ต่อปี โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 และการเริ่มเปิดประเทศ ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญฟื้นตัวชัดเจน นำโดยกลุ่มประเทศเอเชียเช่น จีน เวียดนาม ส่งผลให้ภาคการส่งออกสินค้าของไทยปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง การควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ของไทยอยู่ในเกณฑ์ดี สร้างความเชื่อมั่นภาคประชาชน ภาคเอกชนและต่างประเทศ โดยคาดว่าปี 63 การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนจะติดลบ 3.0% ต่อปี และลบ 9.8% ต่อปีตามลำดับ ขณะที่มูลค่าการส่งออกสินค้าจะหดตัว 7.8% ต่อปี ปรับตัวดีขึ้นจากการคาดการณ์ครั้งก่อนที่ลบ 11.0% ต่อปี ขณะเดียวกัน ในช่วงครึ่งหลังของปี 63 ภาครัฐยังได้ดำเนินมาตรการทางการคลังเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ประกอบด้วย โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โครงการคนละครึ่ง และมาตรการช้อปดีมีคืน ซึ่งจะมีส่วนช่วยประคับประคองเศรษฐกิจไทย รักษาระดับการจ้างงาน และสนับสนุนเศรษฐกิจชุมชนให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในเศรษฐกิจฐานราก โดยคาดว่าการบริโภคและการลงทุนภาครัฐจะขยายตัว 4.0% ต่อปี และ 10.5% ต่อปี ตามลำดับ และคาดว่าเศรษฐกิจไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดแล้วในช่วงไตรมาส 2 ปี 63 และจะเห็นตัวเลขเศรษฐกิจติดลบน้อยลงในช่วงครึ่งหลังของปี 63 ส่วนเสถียรภาพเศรษฐกิจไทยคาดว่าอยู่ในระดับที่มั่นคง โดยเสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศคาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 63 จะติดลบ 0.9% ปรับตัวลดลงจากปีก่อนตามแนวโน้มราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ลดลง จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ขณะที่เสถียรภาพเศรษฐกิจภายนอกประเทศ คาดว่าดุลบัญชีเดินสะพัดจะเกินดุล 14.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็น 2.8% ของจีดีพี สำหรับปี 64 สศค.คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะสามารถกลับมาขยายตัวได้ 4.5% ต่อปี โดยได้รับแรงสนับสนุนจากมูลค่าการส่งออกสินค้าที่กลับมาขยายตัว 6.0% ต่อปี ตามเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญที่มีแนวโน้มขยายตัวการบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัว 2.6% ต่อปี และการใช้จ่ายภาครัฐทั้งจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 64 จำนวน 3.3 ล้านล้านบาท และการเบิกจ่ายจากพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 โดยมีกรอบวงเงินกู้ไม่เกิน 1 ล้านล้านบาท ที่คาดว่าจะมีการเบิกจ่ายได้อย่างต่อเนื่อง ด้านเสถียรภาพภายในประเทศ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 64 จะอยู่ที่ 1.0% ปรับตัวสูงขึ้น ตามการฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในประเทศ ทั้งนี้ ในการประมาณการเศรษฐกิจไทยจำเป็นต้องคำนึงถึงปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด อาทิ การระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 ที่เกิดขึ้นในประเทศหลายประเทศ ปัจจัยด้านภูมิรัฐศาสตร์และการเลือกตั้งของสหรัฐฯที่อาจส่งผลต่อทิศทางการค้าและเศรษฐกิจโลก การถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร(Brexit) รวมถึงความเปราะบางของเสถียรภาพระบบการเงินโลกที่อาจสูงขึ้นจากการดำเนินมาตรการการเงินการคลังของแต่ละประเทศ อย่างไรก็ตามเสถียรภาพทางการคลังของไทยยังอยู่ในระดับเข้มแข็ง ทำให้กระทรวงการคลังมีความพร้อมในการออกมาตรการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเพิ่มเติมให้สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไปในอนาคต