ชี้ผิดหวังกับพฤติกรรมของท่านสมาชิกสภาผู้แทนฯที่ไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง อาจเกิดการเลียนแบบ ระบุทุกวันนี้มีคนทำร้ายตัวเองมากเกินพอแล้ว เท่ากับยิ่งไปซ้ำเติม ทำให้เห็นเป็นเรื่องธรรมดาที่การแก้ปัญหา ต้องใช้วิธีที่ทำให้คนหันมามอง แนะควรพบจิตแพทย์อาจป่วยโรคซึมเศร้าแอบแฝง เพราะดูจากที่ส.ส.ร่ายคำพูดก่อนกรีดเข้าข่าย พร้อมเตือนมีครั้งแรก อาจมีครั้งสองและสามตามมา และอาจไม่โชคดี
จากกรณีที่มีส.ส.กรีดแขนในสภา ประท้วงรัฐบาลใช้ความรุนแรง ศาสตราจารย์ พญ.อุมาพร ตรังคสมบัติ จิตแพทย์ ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก ระบุข้อความ จดหมายถึงคุณวิสาน ว่า ในฐานะเป็นจิตแพทย์ การกระทำดังกล่าวพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง เพราะอาจทำให้เกิดการลอกเลียนแบบ โดยเฉพาะกับเด็ก เยาวชน และคนหนุ่มสาว ซึ่งถือว่าเป็นวัยที่เปราะบางและเกิดการลอกเลียนแบบได้ง่าย นอกจากนี้ ยังเป็นอันตรายต่อกลุ่มผู้ที่มีจิตใจไม่มั่นคงโดยเฉพาะคนไข้
ด้วยปัจจุบันมีคนจำนวนมากทำร้ายตัวเองด้วยของมีคมแบบนี้ แม้ว่าส่วนใหญ่จะมีพยาธิสภาพทางจิต เช่นอาจเป็นโรคซึมเศร้า บุคลิกภาพแปรปรวน (เช่นกลุ่ม borderline personality disorder ) psychopath และผู้ที่ใช้สารเสพติด แต่ในปัจจุบันการทำร้ายตนเองมีแนวโน้มมากขึ้น ในกลุ่มคนหนุ่มสาวที่ดูปกติ (แน่นอน ถ้าตรวจสภาพจิตอย่างละเอียดอาจพบปัญหาบ้าง)
ทั้งนี้ การรักษาคนไข้ที่ทำร้ายตัวเองไม่ว่าจะเป็นกรีดแขน กินสารพิษ หรือกินยาเกินขนาดนั้นเป็นสิ่งที่ยากมาก เพราะพฤติกรรมนี้สะท้อนถึง กลไกการปรับตัว(coping mechanism) ที่ไม่เหมาะสม การมีอารมณ์ที่ท่วมท้น (overwhelming emotion) และการสงบอารมณ์ตนเอง (self-soothing) ไม่เป็น ในขณะที่จิตแพทย์พยายามช่วยให้คนไข้ตระหนักว่าการทำร้ายตัวเองไม่ใช่วิธีที่ได้ผลในการแก้ปัญหา แต่การกระทำของส.ส.รายนี้ กลับทำให้วิธีนี้กลายเป็นสิ่งปกติธรรมดา เป็นบรรทัดฐานของการแก้ปัญหา เป็นวิธี "ตะโกน" ให้คนหันมามองเรา
การกระทำของส.ส.ทำให้หมอทำงานยากขึ้นอีกมากทีเดียว! ที่สำคัญคือ ยังอยู่ในตำแหน่งที่มีอิทธิพลต่อสังคม การวิจัยพบว่า เมื่อใดก็ตามที่คนที่มีอิทธิพลหรือมีชื่อเสียง เช่น ดารา นักร้อง หรือผู้ที่มีสถานะทางสังคมสูง ทำร้ายตัวเองหรือพยายามฆ่าตัวตาย ภายในระยะไม่นาน วัยรุ่นและคนหนุ่มสาว ก็จะทำร้ายตัวเองหรือพยายามฆ่าตัวตายมากขึ้น ในฐานะที่เป็นสมาขิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้หนึ่งที่มีอิทธิพลต่อสังคม น่าจะใช้โอกาสนี้สร้างอิทธิพลเชิงบวก ด้วยการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์กว่านี้
พร้อมกับว่า ด้วยความห่วงใยในฐานะจิตแพทย์ ขอแนะนำให้คุณไปพบจิตแพทย์เพื่อรับการตรวจประเมินว่าเป็นโรคซึมเศร้าแบบซ่อนเร้นหรือไม่ เพราะจากสถิติพบว่า การทำร้ายตัวเองเป็นอาการหนึ่งของโรคซึมเศร้าที่พบบ่อยในวัยกลางคน บางครั้งบุคคลอาจไม่ได้รู้สึกเศร้าชัดๆ แต่อาจมีอาการเครียดง่าย รู้สึกผิดหวังหรือรู้สึกหาทางออกไม่เจอ ซึ่งทั้งหมดนี้ก็เป็นสิ่งที่ส.ส.คนดังกล่าวบรรยายไว้ก่อนที่จะหยิบมีดมากรีดแขนตัวเอง
แม้สิ่งที่ทำจะมาจากความตั้งใจดี แต่ก็เป็นวิธีการที่ไม่เหมาะสม ทุกวันนี้สังคมไทยเกิดวิกฤติ "ขาดแบบอย่างที่ดี" คนดีมากมายไม่กล้าแสดงตัว สังคมไทยต้องการผู้ใหญ่ที่เป็นแบบอย่าง ที่มีความสัตย์ซื่อ มือสะอาด ยุติธรรม กล้าหาญ ไม่เห็นแก่พวกพ้อง และมีความรับผิดชอบ การควบคุมอารมณ์ได้ดีพอ การแก้ปัญหาอย่างถูกวิธี และการไม่ใช้ความรุนแรง ถือเป็นคุณสมบัติพื้นฐานที่เราควรถ่ายถอดให้คนรุ่นลูก
พร้อมกันนี้ คุณหมอยังย้ำว่า ขอร้องว่ากรุณาอย่าทำร้ายตัวเองแบบนี้อีก เพราะจากสถิติ คนที่ทำร้ายตัวเองครั้งแรก จะมีครั้งที่ 2 ครั้งที่ 3 ตามมา และอาจไม่โชคดีเสมอไป และขอให้ไปพบจิตแพทย์เพื่อตรวจว่าเป็นโรคซึมเศร้าหรือไม่ ถ้าไม่เป็นก็จะได้สบายใจ รวมทั้งขอให้หาวิธีอื่นในการเรียกให้ผู้คนสนใจฟังสิ่งที่คุณอยากจะบอก