อีกโรคยอดนิยมของคนเมืองร้อน โดยมีสาเหตุมาจากเชื้อรา ทั้งยังไม่ใช่โรคเดียวกัน แต่จะแยกออกได้อย่างไรว่า เป็นกลาก หรือเกลื้อนกันแน่ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) โดยเพจ Fda thai แจกแจงให้เข้าใจไว้ดังนี้ กลาก เกิดจากเชื้อราในกลุ่ม dermatophytes เชื้อของกลากเป็นโรคติดต่อ สามารถติดต่อจากคนไปสู่คน จากสัตว์สู่คน หรือจากสิ่งแวดล้อมไปสู่คนได้ โดยมีปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคได้หลายอย่าง เช่น ภูมิคุ้มกันต่ำ อยู่ในบริเวณที่อับชื้น และสามารถเกิดได้ในหลายตำแหน่งของร่างกาย ตั้งแต่ศีรษะจรดปลายเท้า อาการ มักมีอาการคัน ผื่นเป็นผื่นสีแดง มีขอบเขตชัดเจน มีรูปร่างเป็นวงกลมหรือวงแหวน ขอบภายนอกมักมีสีเข้มกว่าผิวหนังด้านใน ถ้าลุกลามขยายออกมากขึ้นจะเห็นผื่นรูปวงแหวนมีขอบเขตชัดเจนยิ่งขึ้น อาจจะพบขุย สะเก็ดลอกบางๆ ที่ขอบวงแหวนได้ ขณะที่การรักษา ใช้ 1.ยาทาภายนอก เช่น Benzoic acid, Whitfield’s ointment และ 2.ยาฆ่าเชื้อชนิดรับประทาน ส่วน เกลื้อน เกิดจากเชื้อรา Malasszia furfur ซึ่งเป็นเชื้อราประจำถิ่นที่อาศัยอยู่บนผิวอยู่แล้ว โดยหากมีปัจจัยมากระตุ้น เช่น สภาพอากาศร้อน มีเหงื่อออกมาก ภูมิคุ้มกันต่ำ ก็จะเกิดโรคขึ้นได้ โดยมักพบบริเวณหน้า ต้นคอ หน้าอก และหลัง อาการของเกลื้อน ลักษณะผื่นจะพบเป็นวงเล็กๆ หรือวงแหวนมีสีน้ำตาล หรือสีขาวจางๆ ขอบเขตค่อนข้างชัดเจน มักจะมีขุย หรือสะเก็ด แต่บางคนอาจไม่พบขุย หรือเศษของผิวหนัง อาจพบเพียงรอยด่างบริเวณผิวหนัง การรักษา 1 ยาทาภายนอก เช่น Selenium sulfide เป็นต้น 2.ยาฆ่าเชื้อราชนิดรับประทาน หากมีอาการข้างต้น ก่อนรับประทานยาหรือทายา แนะนำให้ไปพบแพทย์ หรือเภสัชกร สำหรับการป้องกัน กลาก เกลื้อนนั้นแสนง่าย คือต้องหมั่นรักษาความสะอาด อย่าปล่อยให้ผิวหนังอับชื้น ไม่ใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้ป่วย สวมใส่เสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี แค่นี้ก็ห่างไกลจากกลาก เกลื้อน ได้แล้ว”