เมื่อ 10 ปีก่อน องค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.)ดอนแก้ว อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดกลางที่อยู่ไม่ไกลจากตัวเมืองเชียงใหม่มากนัก ชาวบ้านอยู่อย่างสมถะ ทำมาหาเลี้ยงชีพตามรอยบรรพบุรุษ บางครอบครัวก็มีอาชีพรับราชการ เพราะมีค่ายทหารขนาดใหญ่อยู่ติดชุมชน หลายๆ ครั้งที่ อบต.ดอนแก้วชักชวนชาวบ้านให้มีส่วนร่วมกับกิจกรรม ก็พบว่าชาวบ้านจะเงียบๆ ไม่แสดงออกใดๆ ไม่กล้าคิด และไม่กล้าตัดสินใจ เรียกว่าให้ความร่วมมือ แต่ให้พูดหรือนำเสนอไม่ค่อยเป็น กระบวนการ คิดไม่เป็นระบบจะพูดเฉพาะกิจกรรมที่ทำเฉพาะหน้าเท่านั้น เช่นเดียวกับเทศบาลตำบลปริก อ.สะเดา จ.สงขลา ที่ต้องบริหารชุมชนกึ่งเมืองกึ่งชนบทแห่งนี้ให้อยู่ดีกินดี ในอดีตชาวบ้านยังอยู่กันแบบหลวมๆ คือพอจะรู้จักกันบ้าง แต่ความร่วมมือหรือความเป็นหนึ่งอันเดียวกันแทบจะไม่มี หรือที่ อบต.วังใหม่ อ.นายายอาม จ.จันทุบรี แม้จะมีความร่วมมืออยู่บ้าง แต่ก็ระดับหนึ่งเท่านั้น มักปฏิบัติตามผู้นำชุมชนบอก และส่วนใหญ่ก็เลือกอยู่กับไร่กับสวนมากกว่าออกมาทำกิจกรรมส่วนรวม ปัจจุบันนี้ทั้ง 3 ตำบลที่กล่าวถึง ไม่ได้มีภาพต่างคนต่างอยู่เหมือนในอดีตอีกแล้ว หลังจากแผนสุขภาวะชุมชน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ร่วมกันขับเคลื่อนโครงข่ายความคุ้มครองทางสังคมได้อย่างเป็นรูปธรรมมาตั้งแต่ปี 2552 โดยเข้าไปหนุนเสริมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ให้ทำงานในพื้นที่ด้วยการใช้ทุนทางสังคมเป็นตัวตั้ง ตลอด 1 ทศวรรษที่ผ่านมามีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้าร่วมกับเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่กระจายไปทั่วทุกภูมิภาค บางแห่งสามารถยกระดับจากศูนย์จัดการเครือข่ายสุขภาวะชุมชนไปสู่มหาวิชชาลัยที่พร้อมถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับพี่น้องเครือข่าย และเกือบทุกแห่งได้สร้างคนสร้างผู้นำที่มีคุณูปการต่อการขับเคลื่อนชุมชนขับเคลื่อนประเทศให้รุดหน้า แต่กว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ในระดับชุมชนได้นั้น อปท.ต้นแบบที่กล่าวถึงข้างต้นทั้ง 3 แห่ง เริ่มต้นมาได้อย่างไรกัน ดอนแก้ว: หนุนคน-สร้างประสบการณ์ การเปลี่ยนแปลงที่ดอกแก้วเริ่มขึ้น เมื่อผู้บริหารของอบต.ดอนแก้ว ตัดสินใจเข้าร่วมเป็นเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่เมื่อปี 2552 โดยเริ่มจากการฝึกอบรมคนในชุมชนให้เป็นวิทยากรชุมชนที่สามารถเชื่อมโยง ร้อยเรียงวิธีคิด วิธีพูดให้ได้ใจความ ซึ่งพื้นฐานของการฝึกคนให้มีประสบการณ์เช่นนี้ ทำให้อบต.ดอนแก้ว มีบุคลากรช่วยงานเต็มพื้นที่ “ตอนนี้ไม่ว่าใครที่เข้ามาเยี่ยมชมชุนชน จะเดินไปทางไหน ก็สามารถชี้ให้วิทยากรในชุมชนพูดได้หมด เพราะเขาเป็นคนที่ได้ทำกิจกรรมจริงๆ ผ่านการปฏิบัติ มีประสบการณ์ จึงคิดได้ ถ่ายทอดได้ สมกับที่เป็นครูสอนระบบคิด ไม่ใช่แค่วิทยากรถ่ายทอดกิจกรรม” ดร.อุบล ยะไวทย์ณะวิชัย อดีตปลัด อบต.ดอนแก้ว อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ (เกษียณ 30 ก.ย.63) ยืนยัน ดร.อุบล ทำหน้าที่เป็นปลัดอบต.ที่ดอนแก้วมายาวนานจึงเห็นความเป็นมาและเป็นไปของชุมชนมาโดยตลอด โดยเฉพาะเรื่องการมีส่วนร่วมและระบบคิดของชุมชน อย่าง ข่วงกำกึ้ด เป็นกระบวนการหนึ่งที่ชวนกันออกมานั่งล้อมวงคุย หรือถ้าใครมีอะไรดีๆ อยากจะเสนอหรือเล่า ก็เอาเข้าไปคุยกันในข่วง จนทุกวันนี้ข่วงกำกึ้ดได้กลายเป็นวิถีปฏิบัติของดอนแก้ว และเป็นจุดเริ่มของหลายกิจกรรม เช่น ด้านสิ่งแวดล้อม เกิดขยะบุฟเฟ่ต์ ด้านคุณภาพชีวิต เกิดศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้สูงอายุและผู้พิการ เป็นต้น “เราเริ่มจากคนใน อบต.ก่อน ให้พนักงานทุกคนในองค์กรมีดีเอ็นเอนี้อยู่ในตัว คนหนึ่งคนต้องทำงานเป็นอย่างน้อย 3 ด้าน อยู่กองช่างก็ไปช่วยงานสำนักปลัดได้ เป็นพิธีกรได้ คนอยู่กองคลังก็ไม่ใช่เก็บเงินหรือทำบัญชีอย่างเดียว ไปช่วยเป็นพิธีกร นักจัดกระบวนการได้ ส่งผลให้คนในองค์กรมีศักยภาพสูง จนนำไปสู่การสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ขึ้นมาอยู่เสมอ และปัจจุบันดีเอ็นเอดอนแก้วก็กระจายไปถึงระดับชุมชนด้วยแล้ว” ปลัดอุบล เล่า ขณะเดียวกัน ชุมชนดอนแก้วก็เพิ่มพูนความน่าอยู่มากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยหลายองค์ประกอบ ตั้งแต่ความมีน้ำใจ ไม่ทอดทิ้งกัน เอาใจใส่ซึ่งกันและกัน องค์ประกอบถัดมาคือการที่ชุมชนนำทุนและทรัพยากรที่มีอยู่ในท้องถิ่น ทั้งทรัพยากรธรรมชาติ และทรัพยากรบุคคล มาใช้ให้เกิดประโยชน์ จนช่วยตัวเอง โดยไม่ต้องพึ่งพิงจากภายนอก เมื่อบุคลากรมีศักยภาพ ชุมชนมีความพร้อม อบต.ดอนแก้วจึงยกระดับแหล่งเรียนรู้และองค์ความรู้ในชุมชนขึ้นมาเป็น “มหาวิชชาลัยดอนแก้วสร้างสุข” เมื่อปี 2557 มีโครงสร้างหลักสูตร 4 วิชา คือ วิชาธรรมาภิบาล วิชาพัฒนาระบบข้อมูล วิชาการวางแผนและการพัฒนา วิชานโยบายสาธารณะ กับอีก 2 วิชาเลือก ได้แก่ วิชานวัตกรรมสุขภาพ และวิชานวัตกรรมส่งเสริมการพัฒนา “แม้ดอนแก้วจะเป็นชุมชนใกล้เมือง แต่เชื่อว่าชาวดอนแก้วจะสามารถดำรงวัฒนธรรมที่ดีงามต่างๆ ไว้ได้ในทศวรรษถัดไป เพราะคนในชุมชนได้ช่วยกันบ่มเพาะคนรุ่นถัดไปให้ซึมซับประเพณีวัฒนธรรมที่ดีงาม พร้อมๆ กับการเรียนรู้และรับสิ่งใหม่ๆ ได้อย่างเหมาะสม” ปลัดอุบล ที่ทำหน้าที่เป็นอธิการบดีมหาวิชชาลัยดอนแก้วสร้างสุข กล่าว ปริก: สร้างคนให้รู้รับผิดชอบ เริ่มจากปัญหาขยะในชุมชน เพื่อให้เป็นเมืองน่าอยู่ ทางเทศบาลปริกจึงทำงานร่วมกับชุมชน ภาคีเครือข่ายและทุนภายนอก แต่ไม่ประสบความสำเร็จมากนัก ขยะหายไปจากชุมชนอย่างที่ใจคิด เพราะด้วยข้อจำกัดหลายๆ อย่าง จนกระทั่งได้เข้าร่วมโครงการขับเคลื่อนชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ของแผนสุขภาวะชุมชน สสส.เมื่อปี 2552-2553 ทำให้เป้าหมายชัดเจนขึ้น ใช้ข้อมูลและทุนทางสังคมในพื้นที่ให้เป็นประโยชน์ กลายเป็นที่มาของการจัดการสิ่งแวดล้อมชุมชนโดยชุมชน เริ่มที่ขยะฐานศูนย์ จากที่ชาวบ้านเพิกเฉย ก็นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมคนชุมชน บ้านเมืองสะอาด สามารถแยกแยะขยะ และจัดตั้งกองทุนขยะมีบุญได้สำเร็จ สุริยา ยีขุน นายกเทศมนตรีตำบลปริก บอกว่า ภารกิจคือสร้างสุขภาวะชุมชนแบบองค์รวม ครบทุกมิติ ทั้งกาย ใจ สังคม ปัญญา และสิ่งแวดล้อม ผ่านกิจกรรมที่สะท้อนให้เห็นถึงมิติต่างๆ เช่น การบริหารจัดการพื้นที่ การจัดการสุขภาพ การจัดการการศึกษา การพัฒนาชุมชน สังคม และความเป็นพลเมือง ด้วยแนวทางนี้ ทำให้เทศบาลตำบลปริกที่เริ่มจากเป็นลูกข่ายก่อน จนสามารถยกระดับเป็นแม่ข่ายให้กับพื้นที่กว่า 60 แห่งในการขับเคลื่อนตำบลสุขภาวะ จนกระทั่งกลายเป็น “มหาวิชชาลัยปริกเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน” ที่เป็นแหล่งถ่ายทอดความรู้และกระบวนการต่างๆ ให้กับท้องถิ่นอื่นๆ อย่างเช่นปัจจุบัน ที่ตำบลปริกจะมีการฝึกให้บุคคลากรในเทศบาล ลงไปทำงานกับชุมชน ออกแบบให้ทุกคนมีความรับผิดชอบ โดยอาศัยกลไกปกติ เช่น กรรมการหมู่บ้าน กรรมการสุขภาพชุมชน ขับเคลื่อนโดยไม่ต้องสร้างกลไกใหม่ๆ ขึ้นมา กระบวนการนี้นำมาซึ่งนวัตกรรมใหม่ๆ ให้ท้องถิ่น และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับคนในชุมชนมาหาศาล เช่น การจัดการศึกษา ที่ปริกจะดูแลตั้งแต่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กจนถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โดยผนวกหลักสูตรท้องถิ่นว่าด้วย วิถีชุมชน การจัดการสิ่งแวดล้อม การจัดการพลังงาน-ภัยพิบัติ และเศรษฐกิจพอเพียง ร่วมกับหลักสูตรแกนกลาง 8 สาระวิชา “เมื่อเด็กได้รู้ตัวตนและสังคมที่อาศัยอยู่ เขาจะรักและไม่ทำร้ายชุมชนของเขา” นายกฯสุริยา เชื่ออย่างนั้น และยังยืนยันด้วยว่า การขับเคลื่อนที่ชุมชนไม่ได้มุ่งเน้นเศรษฐกิจเป็นตัวตั้ง แต่เดินตามรอยศาสตร์พระราชา บนพื้นฐานความพอเพียง พอประมาณ มีเหตุผล อาศัยอยู่กันฉันท์พี่น้อง ชาวตำบลปริกจะอาศัยอยู่ได้แม้สังคมจะเปลี่ยนแปลงไปเพียงใด วังใหม่: ทุนอยู่ที่บุคคลากร โจทย์สำคัญของการสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ คือการสร้างการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน เพราะเมื่อทุกคนเกิดความรู้สึกว่าชุมชนเป็นของทุกคนแล้ว ความร่วมมือจะและการพัฒนาก็จะเกิดขึ้น แต่สำหรับ นริศ กิจอุดม นายกองค์การบริหารส่วนตำบลวังใหม่ เขามองว่า เริ่มต้นที่การค้นหาทุนทางสังคมแล้วนำมาช่วยในการพัฒนา ทุนสำคัญที่ว่านั้น คือ ทุนทางบุคลากร ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญแต่ละด้านมาร่วมทำงาน มาเผยแพร่ ด้วยการเป็นวิทยากร ตลอดจนพนักงาน อบต.เอง ก็ต้องมีจิตอาสา ทำงานเพื่อส่วนรวมมากขึ้น “เราสร้างจิตสำนึกความเป็นเจ้าของร่วมกันในทุกๆ เรื่อง ทุกปัญหา การพัฒนาหรือแก้ปัญหาก็จะทำได้ง่ายขึ้น” นริศ ย้ำหลักการ อบต.วังใหม่ เข้าร่วมโครงการขับเคลื่อนชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ กับ สสส. ด้วยการมุ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพชีวิต ตั้งแต่แรกเกิดจนเสียชีวิต ในทุกกลุ่มวัยจะมีการดูแล เช่น วัยเด็ก คือศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก(ศพด.) จากนั้นก็จะส่งต่อโรงเรียน และมีศูนย์เยาวชนเป็นเกราะคุ้มกันชีวิต ส่งเสริมกลุ่มวัยทำงานด้วยการพัฒนาศักยภาพมาเป็นแรงผลักด้นพัฒนาตำบล และกลุ่มผู้สูงวัยมีโรงเรียนผู้สูงอายุช่วยดูแล นายก อบต.วังใหม่ กล่าวอย่างเชื่อมั่นว่า แม้โลกจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว การประดับความรู้ให้ติดตัวชาวชุมชนให้สามารถช่วยเหลือตังเองได้ แม้จะเกิดวิกฤตอะไรก็ตาม ชาวตำบลก็จะสามารถปรับตัวและอยู่ได้อย่างไม่เดือดร้อน สำคัญที่คนและทุนทางสังคมที่มี ความสำเร็จทั้ง อบต.ดอนแก้ว เทศบาลตำบลปริก และ อบต.วังใหม่ เหมือนกันอยู่อย่างหนึ่ง คือการให้ความสำคัญในการพัฒนาคน และใช้ทุนทางสังคมที่มีอยู่ในเป็นประโยชน์ เมื่อผนวกเข้ากับแรงสนับสนุนจากสสส. ทำให้การจัดการและการสร้างความมีส่วนร่วมในพื้นที่เกิดขึ้นได้ง่าย ดวงพร เฮงบุณยพันธ์ ผู้ช่วยผู้จัดการอาวุโสกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และรักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน กล่าวถึงบทบาทของสสส.ในการหนุนเสริมการทำงานของท้องถิ่นต่างๆ ว่าท้องถิ่นแต่ละแห่งล้วนมีอุดมการณ์ มีทิศทาง มีเป้าหมายของตัวเอง สสส.ไม่จำเป็นต้องไปชี้นำอะไร เพียงแต่กำชับว่าหากทำงานร่วมกับสสส.แล้ว ต้องมี 2 อย่างคือเป้าหมายต้องชัด และรวมคนให้ได้ โดยเฉพาะ 4 องค์กรหลัก ได้แก่ 1.องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 2.กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน คณะกรรมการพัฒนาหมู่บ้าน 3.หน่วยงานรัฐในพื้นที่ เช่น รพ.สต., กศน. และ 4.องค์กรชุมชนและภาคประชาชน “หลักของเรา คือไม่ใช้ยางลบไปลบเขา ถ้าเขามั่นใจว่า ใช่ เราก็มีหน้าที่ทำให้เขามั่นใจขึ้นไปอีกว่าใช่แบบที่เขาคิดจริงๆ อาจจะช่วยชี้เป้าเพิ่มเติมให้ ว่าควรจะหาความรู้เพิ่มเติมจากไหน ” ดวงพร กล่าว ทุกวันนี้มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเกือบ 3,000 แห่งที่ทำงานร่วมกับสสส.จึงมีพลังมากพอที่จะเปลี่ยนแปลงใดๆ ได้พอสมควร แต่ ดวงพร กลับมองว่า เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่และสสส. จะค่อยชี้นำสังคมผ่านการสื่อสารให้รับรู้กันในวงกว้าง สร้างพื้นที่ต้นแบบออกไปเรื่อยๆ ซึ่งขณะนี้มีมากกว่า 600 ศูนย์เรียนรู้ตำบลต้นแบบแล้ว โดยจะให้การชี้นำนี้ ไปกระแทกใจในระดับนโยบาย เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงในอนาคต “รัฐมองว่าท้องถิ่นเป็นลูกน้องมาโดยตลอด ดังนั้นถึงเวลาแล้วท้องถิ่นต้องพิสูจน์ตัวเองให้ได้ ว่าตนเป็นที่พึ่งพิงของชาวบ้านได้ดีกว่าภาครัฐ” ดวงพร ย้ำและชี้ว่า ขณะนี้องค์ความรู้ที่อปท.เครือข่ายร่วมกันคิดร่วมกันสร้างได้แทรกซึมอยู่ในองค์กรท้องถิ่นทั่วประเทศแล้วกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ โดยเฉพาะการใช้ระบบข้อมูลตำบล (TCNAP) และการวิจัยชุมชน (RECAP) มาช่วยในการสร้างแผนชุมชน ผลลัพธ์ที่ได้ในวันนี้ช่วยพิสูจน์ ว่าพลังเครือข่ายที่ขับเคลื่อนด้วยบุคลากรที่มีศักยภาพนั้น สร้างความน่าอยู่ให้กับชุมชนได้อย่างยั่งยืน และกำลังได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางออกไปเรื่อยๆ +++++++++++++++++