จากการค้นพบใหม่ล่าสุดของ นาซา ที่สร้างความหวังต่อยอดการเดินทางในห้วงอวกาศ โดยใช้ดวงจันทร์เป็นฐานในอนาคต
NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ โพสต์ระบุ จากที่ NASA แถลงการพบโมเลกุลน้ำบริเวณหลุมอุกกาบาตกลาวิอุส ที่อยู่บริเวณด้านสว่างของดวงจันทร์ เมื่อวันที่ 26 ต.ค.ที่ผ่านมานั้น
หลุมอุกกาบาตกลาวิอุส (Clavius crater) เป็นหนึ่งในหลุมอุกกาบาตกลุ่มที่มีขนาดใหญ่ที่สุดบนดวงจันทร์ ตั้งอยู่บริเวณพื้นที่สูง (Highland) ขรุขระทางตอนใต้ของพื้นผิวดวงจันทร์ด้านใกล้โลก หลุมอุกกาบาตกลาวิอุสถูกตั้งชื่อตาม “คริสโตเฟอร์ กลาวิอุส” (Christopher Clavius) บาทหลวงเยซูอิตและนักคณิตศาสตร์-ดาราศาสตร์ชาวเยอรมันในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 16
หลุมอุกกาบาตกลาวิอุสมีลักษณะเป็นรูปวงรี แม้ว่ารูปร่างหลุมจะเป็นวงกลม เนื่องจากมุมมองจากผู้สังเกตมายังหลุมนี้ สามารถสังเกตหลุมอุกกาบาตกลาวิอุสได้ชัดเจนผ่านกล้องโทรทรรศน์หรือกล้องสองตา ในช่วงดวงจันทร์ข้างขึ้น 9 - 11 ค่ำ บริเวณทางใต้ของดวงจันทร์ และจะสังเกตเห็นหลุมอุกกาบาตกลาวิอุส อยู่ใต้หลุมอุกกาบาตไทโค (Tycho crater) ซึ่งเป็นหลุมอุกกาบาตที่โดดเด่นที่สุดบนดวงจันทร์ ด้วยมีร่องรอยฟุ้งกระจายออกไปในแนวรัศมี
นักดาราศาสตร์ประเมินว่าหลุมอุกกาบาตกลาวิอุสเป็นหลุมอุกกาบาตอายุมาก เกิดจากการพุ่งชนของอุกกาบาตเมื่อประมาณ 4 พันล้านปีก่อน ต่างจากหลุมอุกกาบาตไทโค ที่เป็นหลุมอุกกาบาตอายุน้อย มีอายุประมาณ 108 ล้านปี
คณะนักวิจัยจากองค์การนาซาได้ประกาศผลวิจัยเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2563 (ตามเวลาประเทศไทย) ที่ตรวจพบโมเลกุลน้ำที่กระจายตัวตามหินและดินในหลุมอุกกาบาตกลาวิอุส ซึ่งเป็นพื้นผิวดวงจันทร์ส่วนที่ได้รับแสงอาทิตย์จนมีช่วงที่อุณหภูมิพื้นผิวเกิน 100 องศาเซลเซียส และเป็นพื้นที่ที่นักดาราศาสตร์ไม่คาดว่าจะเจอน้ำมาก่อน ต่างจากงานวิจัยเรื่องน้ำบนดวงจันทร์ก่อนหน้านี้ที่มุ่งเน้นการหาน้ำแข็งตามก้นหลุมอุกกาบาตที่อยู่ในเงามืดอย่างถาวรบริเวณขั้วดวงจันทร์ ทำให้นักดาราศาสตร์คาดการณ์ว่าดวงจันทร์อาจมีน้ำมากกว่าที่เคยประมาณไว้
เรียบเรียง : พิสิฏฐ นิธิยานันท์ - เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ชำนาญการ สดร.”