ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วินทร์ เลียววาริณ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ได้โพสต์ข้อความ ในเพจเฟซบุ๊กส่วนตัวระบุว่า...
เวลาหนึ่งทุ่ม วันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๒๔ พ.อ. มงคล อัมพรพิสิฏฐ์ อยู่ที่บ้านพักในกรมทหารราบที่ ๑ มหาดเล็กรักษาพระองค์ฯ พ.อ. มงคลเป็นนายทหารเสนาธิการ ทำงานใกล้ชิดนายกฯ พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ มาตลอด เขาได้รับโทรศัพท์จาก พ.ท. ไพโรจน์ พานิชสมัย เสียงดังมาตามสายว่า “พี่หมงรีบมาสี่เสาฯเดี๋ยวนี้” ‘สี่เสาฯ’ หมายถึง สี่เสาเทเวศร์ บ้านพักของนายกรัฐมนตรี พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ พ.อ. มงคลขับรถออกจากบ้านผ่านบ้าน พ.อ. ปรีดี รามสูต ผู้บังคับการกรมทหารราบที่ ๑ ฯ หน้าบ้าน พ.อ. ปรีดีมีรถยนต์จอดเต็ม หน่วยทหารเคลื่อนไหวคึกคัก สัญชาตญาณของเขาบอกทันทีว่า เกิดรัฐประหาร ข่าวรัฐประหารลอยไปลอยมาอยู่พักใหญ่แล้ว แต่ไม่มีใครถือเป็นเรื่องจริงจัง แม้แต่ พล.ต. ชวลิต ยงใจยุทธ เจ้ากรมยุทธการก็ไม่เชื่อ พ.อ. มงคลไปถึงบ้านสี่เสาฯ เห็นรถยนต์จอดหน้าบ้านเต็มไปหมดเช่นกัน ทหารจำนวนหนึ่งคุมพื้นที่ อาวุธพร้อมมือ เมื่อเข้าไปในบ้าน ก็เห็น พล.อ. เปรมคุยกับ พ.อ. มนูญ รูปขจร กับ พ.อ. ประจักษ์ สว่างจิตร สองนายทหารยังเติร์ก จึงรู้ในนาทีนั้นว่า กลุ่มยังเติร์กก่อรัฐประหาร . ตีสองวันที่ ๑ เมษายน ๒๕๒๔ ทหาร ๔๒ กองพันเคลื่อนจากที่ตั้ง เข้ายึดจุดยุทธศาสตร์ต่าง ๆ ในกรุงเทพฯ กำลังบางส่วนแยกไปจับตัว พล.อ. เสริมณ นคร ผู้บัญชาการทหารสูงสุด พล.ท. หาญ ลีนานนท์ พล.ต. วิชาติ ลายถมยา ไปที่หอประชุมกองทัพบก มันเป็นรัฐประหารที่ใช้กำลังพลสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย เป้าหมายคือโค่นรัฐบาล พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ กำลังทหารกระจายไปทั่วกรุง ตั้งบังเกอร์ รถถังเตรียมพร้อม ผู้ก่อการออกแถลงการณ์ที่ไม่ต่างจากรัฐประหารอื่น ๆ ตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา และกระบวนการแบบเดิม ๆ คือยกเลิกรัฐธรรมนูญ ยุบสภา “เนื่องจากสถานการณ์ของประเทศทุกด้านกำลังระส่ำระส่ายและทรุดลงอย่างหนัก เพราะความอ่อนแอของผู้บริหารประเทศ พรรคการเมืองแตกแยก ทำให้เสถียรภาพของรัฐบาลสั่นคลอน จึงเป็นจุดอ่อนให้มีคณะบุคคลที่ไม่หวังดีต่อประเทศเคลื่อนไหว จะใช้กำลังเข้ายึดการปกครองเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นแบบเผด็จการถาวร ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยและอยู่รอดของประเทศ คณะปฏิวัติซึ่งประกอบด้วยทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ ตำรวจ และพลเรือน จึงได้ชิงเข้ายึดอำนาจการปกครองของประเทศเสียก่อน” ผู้ก่อการคือกลุ่มยังเติร์ก มันจึงเรียกว่ากบฏยังเติร์ก หัวหน้าคณะรัฐประหารคือ พล.อ. สัณห์ จิตรปฏิมา รองผู้บัญชาการทหารบก ร่วมกับกองกำลังสำคัญคือ จปร. รุ่น ๗ หรือรุ่นยังเติร์ก ทั้งหมดเป็นผู้บังคับบัญชากองกำลังต่าง ๆ ในกองทัพบก ได้แก่ พ.อ. มนูญ รูปขจร (ม.พัน.๔ รอ.), พ.อ. ชูพงศ์ มัทวพันธุ์ (ม.๑ รอ.), พ.อ. ประจักษ์ สว่างจิตร (ร.๒) พ.อ. ชาญบูรณ์ เพ็ญตระกูล (ร.๓๑ รอ.) พ.อ. แสงศักดิ์ มงคละสิริ (ช.๑ รอ.) พ.อ. บวร งามเกษม (ป.๑๑) พ.อ. สาคร กิจวิริยะ (สห.มทบ.๑๑) พ.ท. พัลลภ ปิ่นมณี (ร.๑๙ พล.๙) ยังเติร์กกลุ่มนี้เคย ‘ยึดอำนาจเงียบ’ ในปี พ.ศ. ๒๕๒๐ ครั้งเมื่อหนุน พล.อ. เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เป็นนายกรัฐมนตรี และเมื่อสถานการณ์เปลี่ยน ก็บีบให้ พล.อ. เกรียงศักดิ์ลาออกกลางสภาในปี ๒๕๒๓ แล้วหนุน พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี หลักคิดอาจเป็นว่า ในเมื่อสามารถสร้าง พล.อ. เปรมเป็นนายกฯได้ ก็สามารถยึดคืนได้! ก่อนเหตุการณ์นี้ ในวันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๒๓ กองทัพบกต่ออายุราชการผู้บัญชาการทหารบกให้ พล.อ. เปรมออกไปอีกหนึ่งปี เป็นสถานการณ์เดียวกับที่จอมพลถนอม กิตติขจร ต่ออายุราชการเมื่ออายุครบหกสิบปี การต่ออายุราชการของ พล.อ. เปรม สร้างความบาดหมางกับ พล.อ. สัณห์ จิตรปฏิมา ที่ดำรงตำแหน่งรองผู้บัญชาการทหารบก หมดสิทธิ์ขึ้นเป็นผู้บัญชาการทหารบก และน่าจะเป็นเหตุผลสำคัญที่ พล.อ. สัณห์ร่วมกับ จปร. ๗ ก่อการรัฐประหาร ก่อการในคืนวันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๒๔ เวลาสองทุ่ม กลุ่มทหารยังเติร์กนำโดย พ.อ. มนูญ รูปขจร กับ พ.อ.ประจักษ์ สว่างจิตร ยกกำลังทหารปิดล้อมบ้านสี่เสาเทเวศร์ บอก พล.อ. เปรมว่าจะปฏิวัติ . หนังสือ รัฐบุรุษชื่อเปรม บันทึกเรื่องกบฏยังเติร์กไว้ดังนี้ พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ เล่าว่า “เมื่อวันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๒๔ มนูญกับประจักษ์เขามาหาป๋าที่สี่เสา ประจักษ์เป็นคนบอกว่าจะ ‘ปฏิวัติ’ ถามว่าทำไมต้องทำอย่างนั้น เขาบอกว่าเพราะกลัวป๋าเอาคนไม่ดีมาเป็นรัฐมนตรี” ‘คนไม่ดี’ ของกลุ่มยังเติร์กหมายถึง พล.ต. สุตสาย หัสดิน กับ ร.ต.ท. ชาญ มนูธรรม ที่ได้เป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลเปรม ๒ แต่ไม่มีใครรู้เหตุผลที่แท้จริง ว่าเพราะเรื่องนี้หรือเรื่องการแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารประจำปี หรือเรื่อง พล.อ. เปรมต่ออายุราชการหนึ่งปี พล.อ. เปรมคุยกับ พ.อ. มนูญ รูปขจร กับ พ.อ. ประจักษ์ สว่างจิตร ยังเติร์กตอบว่า “ผมทำเพื่อป๋า และขอเชิญป๋าเป็นหัวหน้าคณะปฏิวัติ” นายกรัฐมนตรีตอบว่า “ทำไม่ได้หรอก ให้อย่างไรก็ไม่เอาทั้งนั้น... ผมไม่ปฏิวัติหรอก ผมปฏิวัติไม่ได้ และไม่ต้องการปฏิวัติด้วย ขอให้เลิกคิด เลิกทำเสีย หรือไม่งั้นก็ยิงผมให้ตายแล้วปฏิวัติกันไป” ในห้องนั้นมีทหารมากหน้าหลายตา นั่งคุยกันเหมือนไม่ใช่เรื่องจะปฏิวัติ หนึ่งในนั้นคือ พล.ต. ชวลิต ยงใจยุทธ . ในปี พ.ศ. ๒๕๒๔ ชวลิต ยงใจยุทธ มียศพลตรี ดำรงตำแหน่งเจ้ากรมยุทธการ ได้ยินข่าวลือเรื่องรัฐประหาร แต่เขาไม่เชื่อ จนตีหนึ่งวันที่ ๑ เมษายน มีคนแจ้งมาว่า “มันแจกปืนกันแล้วนะ” ก็รีบไปที่บ้านสี่เสาฯ แต่เมื่อไปถึงก็พบว่าฝ่ายก่อการ ‘อารักขา’ บ้านสี่เสาฯไว้หมดแล้ว เมื่อ พล.อ. เปรมรู้ว่า พล.ต. ชวลิตมาถึง ก็เรียกไปคุยด้วยที่ชั้นบน รวมทั้ง พ.ท. สุรยุทธ จุลานนท์ พล.อ. เปรมถาม “จิ๋วจะเอายังไง?” พล.ต. ชวลิตตอบ “สู้ สู้ครับป๋า” “สู้ยังไง?” “ป๋าใจเย็น ๆ” พล.อ. เปรมว่า “เขายึดไว้หมดแล้ว จะทำได้ลำบาก” คำถามแรกคือทำอย่างไรให้ พล.อ. เปรมหลุดจากบ้านนั้นก่อน ฝ่ายก่อการยึดอำนาจวางแผนรัดกุม คุมทุกอย่างในมือ ทว่าบางครั้งจุดเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์เกิดขึ้นอย่างง่ายดายและน่าประหลาดยิ่ง พล.อ. เปรมขอให้ยังเติร์กที่มาชวนปฏิวัติกลับไป ไม่เอาโทษทางวินัย แล้วเดินขึ้นชั้นบน ต่อมาก็เรียกตัว พ.อ. ประจักษ์ขึ้นไปคุย ไม่มีใครรู้ว่า พล.อ. เปรมคุยกับ พ.อ. ประจักษ์เรื่องใด แต่ทุกคนรู้ว่า พล.อ. เปรมมีบุคลิกเป็นคนพูดน้อย น้อยครั้งจะให้สัมภาษณ์สื่อมวชน ตอบคำถามสั้นและตัดบทด้วยประโยค “กลับบ้านเถอะลูก” เมื่อนักข่าวถามต่อ ก็ตอบว่า “กลับบ้านเถอะลูก” หากต้องแถลงข่าว ก็พูดสั้น ตรงเป้า สั้นที่สุด จนหนังสือพิมพ์ให้ฉายาว่า เตมีย์ใบ้ บุคลิกที่สงบ เงียบขรึม พูดน้อยมาก ใช้ทั้งไม้อ่อนและไม้แข็งอย่างนุ่มนวล สุขุมนุ่มลึก น่าเกรงขาม อ่านใจไม่ออก ส่วน พ.อ. ประจักษ์ สว่างจิตร นายทหารผู้ผ่านสมรภูมิโนนหมากมุ่น จนได้รับฉายา วีรบุรุษตาพระยา ก็มีบทบาททางการเมืองสูง ทั้งสองฝ่ายคุยกันอยู่นาน ต่อมาก็มีคำสั่งให้ไปเตรียมรถมาจอดหน้าบ้าน พล.อ. เปรมก็ลงมาจากชั้นบนไปขึ้นรถ ส่วน พ.อ. ประจักษ์ยังพูดโทรศัพท์อยู่ที่ชั้นบน ทหารข้างล่างเชื่อว่า พล.อ. เปรมยอมแล้ว จึงปล่อยให้ขึ้นรถ อีกประการในชั่วโมงนั้น ทุกอย่างอยู่ในความสับสน พล.อ. เปรมก้าวขึ้นรถ ไขกระจกลงมา บอก พล.ต. ชวลิตว่า “จิ๋ว เดี๋ยวไปเจอกันที่ ศปก.ทบ.” (ศูนย์ปฏิบัติการกองทัพบก) พล.ต. ชวลิตกับ พ.อ. มงคลถูกคุมตัวไปที่ ศปก.ทบ. พบนายทหารชั้นผู้ใหญ่หลายคนถูกคุมตัวอยู่ก่อนแล้ว เช่น พล.ท. หาญ ลีนานนท์ รถยนต์คันที่พา พล.อ. เปรมแล่นไปถึงสี่แยกไทยเจริญ ก็เลี้ยวซ้ายผ่านหอประชุมกองทัพบก เลี้ยวขวาที่สี่แยกการเรือน ทุกจุดที่ผ่านมีทหารประจำแล้ว พอมาถึงพระที่นั่งวิมานเมฆ ไม่มีทหารเฝ้า พล.อ. เปรมก็สั่งให้รถเลี้ยวเข้าวังสวนจิตรลดาฯทันที หลังจากนั้นก็ไปโคราช เกมเปลี่ยน การที่ฝ่ายก่อการไม่กล้าจับตัวนายกฯไปกักเพราะบารมีของ พล.อ. เปรมที่เป็นนาย ทหารเหล่านั้นล้วนเป็นลูกน้อง ไม่กล้ากักตัวด้วยวิธีรุนแรง ทำให้ พล.อ. เปรมหลุดออกจากบ่วงมาได้อย่างไม่น่าเชื่อ และไม่มีใครรู้ว่าปลายสายของ พ.อ. ประจักษ์ในคืนนั้นคือใคร . พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ เดินทางไปตั้งหลักที่นครราชสีมา ตั้งกองบัญชาการต้านกบฏที่กองทัพภาคที่ ๒ ค่ายสุรนารี โดยมี พล.ต. อาทิตย์ กำลังเอก รองแม่ทัพภาคที่ ๒ พล.ท. หาญ ลีนานนท์ พล.ต. ชวลิต ยงใจยุทธ และ พ.ท. สุรยุทธ จุลานนท์ ที่ตามมาภายหลัง พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ กราบบังคมทูลเชิญในหลวงรัชกาลที่ ๙ และพระราชวงศ์ เสด็จพระราชดำเนินไปประทับที่กองทัพภาคที่ ๒ ค่ายสุรนารี นครราชสีมา ตั้งกองบัญชาการต้านฝ่ายก่อการ สั่งปลดผู้ก่อการออกจากตำแหน่งทางทหาร การสื่อสารของฝ่ายก่อการไม่ดี เข้าใจว่า พล.อ. เปรมยอมแล้ว ก็ยอมปล่อย พล.ต. ชวลิตและคนอื่น ๆ แล้วไปโคราช พล.ต. ชวลิตร่างแถลงการณ์ว่า รัฐประหารครั้งนี้หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ แล้วไปพิมพ์ประกาศที่โรงพิมพ์ นับแสนใบ ให้นักบินนำไปโปรยลงมาเป็นปฏิบัติการทางจิตวิทยา หลังจากนั้นฝ่ายรัฐบาลก็วางแผนยกกำลังกลับกรุงเทพฯ วันที่ ๒ เมษายน ๒๕๒๔ กำลังหน่วยเฉพาะกิจสุรนารีและกรมทหารราบที่ ๒๑ รักษาพระองค์ เคลื่อนเข้ากรุงเทพฯ กองทัพอากาศร่วมด้วย โดยส่งเครื่องบินเอฟ ๕ อี บินเข้ากรุงเทพฯ ทหารทั้งสองฝ่ายปะทะกันเล็กน้อย ทหารฝ่ายก่อการเสียชีวิตหนึ่งนาย พลเรือนถูกลูกหลงเสียชีวิตหนึ่งคน ฝ่ายรัฐประหารมองไม่เห็นชัยชนะ ก็ยอมแพ้ในวันที่ ๓ เมษายน ผู้ก่อการหลบหนีออกนอกประเทศ พล.อ. สัณห์ จิตรปฏิมา หนีไปประเทศพม่า พ.อ. มนูญ รูปขจร ลี้ภัยที่ประเทศเยอรมนี ส่วนทหารกบฏเข้ามอบตัว ๑๕๕ คน แกนนำผู้ก่อการ ๕๒ คน ได้รับพระราชทานอภัยโทษเนื่องในวโรกาสวันฉัตรมงคล และได้รับยศทหารคืนในเวลาต่อมา ในวันที่ ๒๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๒๔ คณะนายทหารก่อการ ยกเว้น พล.อ. สัณห์ นำธูปเทียนไปขอขมา พล.อ. เปรม ที่บ้านสี่เสาเทเวศร์ แต่มันก็ยังไม่ใช่รัฐประหารครั้งสุดท้ายของแผ่นดินนี้ กบฏยังเติร์ก บางครั้งเรียกว่า กบฏเมษาฮาวาย เหตุหนึ่ง เพราะ‘เมษาฮาวาย’ เป็นชื่องานประกวดนางงามในยุคนั้น ซึ่งประกวดในช่วงเดือนเมษายนและสงกรานต์ คนนิยมสวมชุดฮาวายลายดอก เล่นน้ำกันสนุก ๆ อีกเหตุหนึ่งเพราะกบฏเกิดขึ้นในวัน April Fools’ Day เกิดและจบอย่างรวดเร็วในไม่กี่วัน ผู้ก่อการได้รับอภัยโทษ เหมือนเล่นกันสนุก ๆ การชิงอำนาจในวงการเมืองไทยก็เช่นเดียวกับสงกรานต์เดือนเมษาฯ ดูเหมือนเล่นกันสนุก ๆ . หมายเหตุ หลังปราบกบฏ พล.ต. อาทิตย์ กำลังเอก ได้เลื่อนยศเป็นพลโท ดำรงตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ ๑ คุมกองกำลังรักษาพระนคร และต่อมาเลื่อนเป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก และผู้บัญชาการทหารบก เมื่อ พล.อ. ประยุทธ จารุมณี เกษียณอายุราชการ และถัดมาเมื่อ พล.อ. สายหยุด เกิดผล เกษียณ ก็ควบตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดด้วย ตอนนี้จะรวมอยู่ในประวัติศาสตร์ที่เราลืม เล่ม ๕ ออกปีหน้า ส่วนเล่ม ๑-๓ สามารถซื้อได้จากเว็บไซต์ผม http://www.winbookclub.com/shopping.php
ขอบคุณข้อมูล:เฟซบุ๊ก วรินทร์ เลียววาริณ