NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ โพสต์ระบุ สำเร็จ! "ยานโอไซริส-เร็กซ์" ร่อนลงเก็บตัวอย่างหินและดินบน "ดาวเคราะห์น้อยเบนนู" แล้ว ในวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ.2563 (ตามเวลาประเทศไทย) ยานโอไซริส-เร็กซ์ (OSIRIS-REx) ขององค์การนาซาได้ร่อนลงสู่พื้นผิวดาวเคราะห์น้อยเบนนูที่อยู่ห่างจากโลกไป 321 ล้านกิโลเมตร และยืดแขนกลเพื่อลงสัมผัสพื้นผิวดาวเคราะห์น้อยดวงนี้เพื่อเก็บตัวอย่างหินและดิน โดยการร่อนลงนี้มีลักษณะแบบสัมผัสพื้นผิวดาวไม่กี่วินาทีแล้วจุดเครื่องยนต์ขับดันให้ยานถอยตัวออกมาจากดาวเคราะห์น้อย (Touch-And-Go) อุปกรณ์แขนกลดังกล่าวชื่อว่า TAGSAM (Touch-And-Go Sample Acquisition Mechanism) มีลักษณะเป็นแขนกลเชื่อมกับหัวเก็บตัวอย่างหินและดิน ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 30 เซนติเมตร ซึ่งในภาพนี้ถ่ายจากกล้องถ่ายภาพ SamCam แสดงหัวเก็บตัวอย่างขณะกำลังสัมผัสพื้นผิวดาวเคราะห์น้อยและบดหินบนพื้นผิวส่วนหนึ่ง เมื่อหัวเก็บตัวอย่างสัมผัสพื้นผิว 1 วินาทีแล้ว จะปล่อยแก๊สไนโตรเจนดันดินและกรวดที่เกาะกันอยู่หลวมๆ บนพื้นผิวไหลเข้าไปในหัวเก็บตัวอย่าง ซึ่งระยะเวลาทั้งหมดที่ยานสัมผัสพื้นผิวและเก็บตัวอย่างจากพื้นผิวดาวเคราะห์น้อยอยู่ที่ประมาณ 5 วินาที เรียบเรียง : พิสิฏฐ นิธิยานันท์ - เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ชำนาญการ สดร. อ้างอิง : https://apod.nasa.gov/apod/ap201022.html ภาพ : Brian Hamilton Day, NASA's Ames Research Center