หมายเหตุ : “พล.อ.อ.แอร์บูล สุทธิวรรณ” ผู้บัญชาการทหารอากาศ ให้สัมภาษณ์พิเศษ “สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์” ถึงแนวทางการทำงาน ตลอดจนทิศทางการขับเคลื่อนกองทัพอากาศ เพื่อรองรับการพัฒนาประเทศในทุกมิติ มีสาระสำคัญดังนี้ บทบาทของกองทัพอากาศในการสนับสนุนการทำงานของรัฐบาล กองทัพอากาศถือเป็นหน่วยงานหนึ่งของรัฐบาล โดยภารกิจหลักของเราคือ การรักษาความมั่นคงของชาติ และอีกบทบาทหนึ่งที่สำคัญคือ ความมั่นคงของมนุษย์ ถ้าคนในประเทศมีความมั่นคง ประเทศชาติก็จะมั่นคง เรายังมองไปถึงว่าประชาชนต้องอยู่ได้อย่างปลอดภัย ภายใต้การดูแลของหน่วยงานภาครัฐ ประชาชนต้องมีโอกาสสร้างความก้าวหน้าให้กับตัวเองและครอบครัว ประชาชนต้องดำรงตนอยู่ได้โดยไม่ขาดปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิต นี่เป็นอีกบทบาทหนึ่งของกองทัพอากาศที่จะต้องเข้ามาดูแล เพื่อให้เกิดความมั่นคงของชาติ และความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งกองทัพอากาศเองก็มีโครงการต่าง ๆ ที่ทำขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือประชาชน อาทิ โครงการน่านฟ้าโมเดล ทำขึ้นที่จังหวัดน่าน คือการเข้าไปจัดตั้งเป็นชุมชนต้นแบบ เพื่อเข้าไปฟื้นฟูพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมและเพิ่มพื้นที่ป่า บริหารจัดการน้ำให้มีเพียงพอสำหรับการอุปโภค บริโภค ด้วยการสร้างฝาย ธนาคารน้ำใต้ดิน การสร้างพื้นที่เก็บกักน้ำเพิ่มเติม และสุดท้ายการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ ทั้งเยาวชน วัยทำงาน และผู้สูงอายุในพื้นที่ ด้วยการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ผ่านสื่อออนไลน์ การสนับสนุนทุนการศึกษา ส่งเสริมการปลูกพืชเศรษฐกิจ และการสร้างเสริมอนามัยชุมชน มองสถานการณ์บ้านเมืองวันนี้เป็นอย่างไรบ้าง ก็มีความเป็นห่วงสถานการณ์ภายในประเทศในปัจจุบัน ไม่อยากให้เกิดความรุนแรง ที่ผ่านมาก่อนเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เศรษฐกิจก็เริ่มดีขึ้นเป็นลำดับ แต่เมื่อเกิดสถานการณ์โควิด-19 ก็ส่งผลไปทุกประเทศทั่วโลก ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ทำให้การบริหารประเทศของรัฐบาลไม่เป็นไปตามแผน เศรษฐกิจตกต่ำลง อยากให้ทุกคนร่วมกันสนับสนุนรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาด้วยความสามัคคี รับฟังซึ่งกันและกันอย่างมีเหตุมีผล เราทุกคนอยากจะให้ประเทศเกิดความสงบ เพื่อให้ทุกอย่างสามารถไปต่อได้ จริง ๆ ทุกอย่างต้องอดทน สำหรับทหารเราก็คงไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเมืองอยู่แล้ว ทหารก็จะดูแลประชาชนเพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยมากที่สุด ทิศทางในการขับเคลื่อนกองทัพอากาศ จากนี้จะเป็นอย่างไร โดยเฉพาะการขับเคลื่อนในรูปแบบ นิวนอร์มอล (New Normal) กองทัพอากาศกำหนดเป้าหมายสำคัญและทิศทางในการขับเคลื่อนการพัฒนากองทัพอากาศ ตามยุทธศาสตร์กองทัพอากาศ 20 ปี ตั้งแต่ พ.ศ.2561-2580 (ฉบับปรับปรุง พ.ศ.2563) เพื่อมุ่งสู่วิสัยทัศน์ “การเป็นกองทัพอากาศชั้นนำในภูมิภาค (One of the Best Air Forces in ASEAN)” โดยมุ่งเน้นการพัฒนาทุกด้านอย่างเป็นระบบ เพิ่มขีดความสามารถใน 3 มิติที่สำคัญ ได้แก่ มิติทางอากาศ (Air Domain) มิติไซเบอร์ (Cyber Domain) และมิติอวกาศ (Space Domain) ภายใต้การปฏิบัติการที่ใช้เครือข่ายเป็นศูนย์กลาง (Network Centric Operation : NCO) สามารถรับมือภัยคุกคามได้ทุกรูปแบบ บนพื้นฐานของกรอบภารกิจของกองทัพอากาศ ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 หมวด 5 หน้าที่ของรัฐ “มาตรา 52 รัฐต้องพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ เอกราช อธิปไตย บูรณภาพแห่งอาณาเขตและเขตที่ประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตย เกียรติภูมิและผลประโยชน์ของชาติ ความมั่นคงของรัฐ และความสงบเรียบร้อยของประชาชน เพื่อประโยชน์แห่งการนี้ รัฐต้องจัดให้มีการทหาร การทูต และการข่าวกรองที่มีประสิทธิภาพ กำลังทหารให้ใช้เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาประเทศด้วย” ตลอดจนสอดคล้องกับเป้าหมายและทิศทางการพัฒนาด้านความมั่นคงตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ในการพัฒนาประเทศสู่ความ “มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน” และการพัฒนาศักยภาพทางทหารตามยุทธศาสตร์ นโยบายการป้องกันประเทศ ดังนั้น กองทัพอากาศจึงมีบทบาทสำคัญในการใช้ขีดความสามารถกำลังทางอากาศในการปฏิบัติการทางทหารในรูปแบบสงคราม และที่ไม่ใช่สงคราม เพื่อให้ประเทศชาติเกิดความปลอดภัย ปราศจากการคุกคามทั้งภายในและภายนอกประเทศ และตอบสนองความต้องการที่นำไปสู่ความกินดี อยู่ดีของประชาชน และความมั่นคงแห่งชาติ นอกจากนี้ การพัฒนากองทัพอากาศตามยุทธศาสตร์ จำเป็นต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับธรรมชาติ คุณลักษณะ และข้อจำกัดของกำลังทางอากาศ รวมทั้งทรัพยากร ที่มีในครอบครอง และการพัฒนาทางเทคโนโลยี ทั้งนี้ พลังขับเคลื่อนการพัฒนาตามยุทธศาสตร์ซึ่งเป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จ ได้แก่ กำลังพลเป็นแกนนำ และเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือในการพัฒนา จากสถานการณ์โลกในปัจจุบัน สภาวะแวดล้อมด้านความมั่นคง มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และซับซ้อนมากยิ่งขึ้น ได้แก่ การพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยี เช่น หุ่นยนต์ ปัญญาประดิษฐ์ อากาศยานไร้คนขับ เป็นต้น ก่อให้เกิดภัยคุกคามรูปแบบใหม่ ได้แก่ ภัยคุกคามไซเบอร์ ภัยคุกคามทางอวกาศ ภัยคุกคามจากการก่อการร้าย ตลอดจนภัยพิบัติทางธรรมชาติ ก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิต และทรัพย์สินของประชาชน ดังนั้น กองทัพอากาศจึงความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับสภาวะแวดล้อมด้านความมั่นคงที่เปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ซึ่งในปัจจุบันยังคงมีแนวโน้มความรุนแรงสูง กองทัพอากาศจึงเน้นการปรับปรุงรูปแบบการทำงานรองรับฐานวิถีชีวิตใหม่ หรือ New Normal ตามนโยบายของรัฐบาล กระทรวงกลาโหม และหน่วยงานภาครัฐ โดยมีแนวทางการดำเนินการ ได้แก่ ให้ความสำคัญกับการปรับปรุงรูปแบบการทำงาน การฝึก การศึกษา ให้พร้อมรองรับการปฏิบัติภายใต้ฐานวิถีชีวิตใหม่ เช่น การจัดทำแผนการบริหารกำลังพลที่ต้องปฏิบัติงานในช่วงสถานการณ์วิกฤติ การประยุกต์ใช้ระบบ Video Tele Conference ในการประชุม และการเรียนการสอน เป็นต้น การสนับสนุนรัฐบาลแก้ไขสถานการณ์วิกฤติของประเทศ เช่น สนับสนุนพื้นที่ในความรับผิดชอบของกองทัพอากาศในการใช้เป็นพื้นที่กักกันโรคแห่งรัฐ หรือ State Quarantine รวมถึงการวางแผนพัฒนาพื้นที่ของกองทัพอากาศที่มีศักยภาพเป็นพื้นที่กักกันโรคแห่งรัฐขนาดใหญ่ การเสริมสร้างขีดความสามารถด้านเคมี ชีวภาพ รังสี และนิวเคลียร์ หรือ CBRN ให้พร้อมเผชิญกับโรคอุบัติใหม่ เช่น การเตรียมชุดป้องกันและอุปกรณ์สำหรับบุคลากร อุปกรณ์ตรวจเชื้อ การวิจัยและพัฒนาอุปกรณ์สนับสนุนการบริการทางการแพทย์ เป็นต้น บทบาทของกองทัพอากาศกับการพัฒนางานวิจัยและงานด้านอวกาศ ล่าสุดเพิ่งส่งดาวเทียม นภา-1 ขึ้นสู่อวกาศได้สำเร็จ กองทัพอากาศให้ความสำคัญในด้านการวิจัยและพัฒนา ร่วมกับสถาบันการศึกษาและสถาบันวิจัยอื่น ๆ อีกทั้งสร้างกลไกความร่วมมือ/เครือข่ายกับหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน ในการพัฒนาเทคโนโลยีป้องกันประเทศ เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมภายในประเทศ เพื่อเป็นรากฐานสำคัญอันจะนำไปสู่กองทัพอากาศที่ปฏิบัติภารกิจได้อย่างชาญฉลาดและมีความยั่งยืน ซึ่งกองทัพอากาศให้ความสำคัญในการพัฒนาทุกด้าน ทั้งมิติทางอากาศ มิติไซเบอร์ และมิติอวกาศ ตามแนวทางหลักการจัดหาพร้อมพัฒนา (Purchase and Development) กล่าวคือ กำหนดให้บริษัทผู้ผลิต (OEM : Original Equipment Manufacturer) ต้องถ่ายทอดเทคโนโลยีและความรู้ รวมทั้งให้โอกาสบริษัทอุตสาหกรรมป้องกันประเทศของไทยเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนา ภายใต้การรองรับมาตรฐานยุทโธปกรณ์ของ ทอ.หรือมาตรฐานสากล โดยมีการพัฒนางานวิจัยที่สำคัญ ดังนี้ การส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา เพื่อต่อยอดโครงการเสริมสร้างกำลังกองทัพ ซึ่งเจ้าหน้าที่กองทัพอากาศได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีและความรู้ เช่น โครงการปรับปรุงขีดความสามารถของอากาศยานแบบ F-5TH, Alpha-Jet, AU-23A และอากาศยานไร้คนขับแบบ U1 นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญกับ การกำหนดมาตรฐานการรับรองผลงานวิจัยยุทโธปกรณ์กองทัพอากาศให้เทียบเคียงกับมาตรฐานสากล สำหรับดาวเทียม “นภา-1” เป็นดาวเทียมดวงแรกของกองทัพอากาศที่ยิงขึ้นสู่ชั้นอวกาศ เป็นดาวเทียมขนาดเล็ก หรือ Nano satellite มีภารกิจในการลาดตระเวนและเฝ้าตรวจทางอวกาศ สำหรับการตรวจการณ์พื้นที่ในประเทศ ที่จำเป็นต่อการปฏิบัติภารกิจด้านความมั่นคง โดยการยิงดาวเทียมนภา-1 ในครั้งนี้ ทำให้กองทัพอากาศได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีในการสร้างและควบคุมดาวเทียมในการปฏิบัติการ อันเป็นรากฐานสำคัญในโครงการพัฒนาดาวเทียมขนาดเล็ก (Cubesat) เพื่อภารกิจการจัดเก็บและการส่งต่อข้อมูล ในอนาคตต่อไป โครงการพัฒนาดาวเทียมขนาดเล็ก (Cubesat) มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อออกแบบ สร้าง และจัดส่งดาวเทียมขนาดเล็กเข้าสู่วงโคจร ปฏิบัติภารกิจการจัดเก็บและการส่งต่อข้อมูลระหว่างดาวเทียมขนาดเล็กกับสถานีภาคพื้น ทำการรวบรวมข้อมูลจากเซนเซอร์ชนิดต่าง ๆ เช่น ข้อมูลตำแหน่งของวัตถุ ข้อมูลปริมาณน้ำในพื้นที่ต่าง ๆ และข้อมูลทางการเกษตร เป็นต้น แล้วนำข้อมูลมาประมวลผลเพื่อใช้ประโยชน์ทางด้านความมั่นคง การป้องกันประเทศ เศรษฐกิจ และสังคมจิตวิทยา ทั้งนี้ การพัฒนาดาวเทียมดังกล่าว ได้ดำเนินการวิจัยและพัฒนาโดยคณะอาจารย์และนักเรียนนายเรืออากาศ ซึ่งจะเป็นการวางรากฐานเทคโนโลยีทางด้านอวกาศของประเทศ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันด้านอุตสาหกรรมอวกาศในอนาคต บทบาทของกองทัพอากาศในการสนับสนุนการบริหารราชการของรัฐบาล ในการรับมือภัยคุกคามใหม่ กองทัพอากาศใช้ขีดความสามารถในทุกมิติที่มี ในการเตรียมกำลังและใช้กำลัง สนับสนุนภาครัฐ ในการรับมือกับภัยคุกคามรูปแบบใหม่ที่สำคัญ ดังนี้ การพัฒนาศักยภาพในการป้องกันประเทศ ควบคู่กับการส่งเสริมพัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศของไทยหรือ New S-Curve 11 ตามนโยบายรัฐบาลโดยกองทัพอากาศวางแผนจัดหาตามหลักการจัดหาพร้อมการพัฒนา เช่น การพัฒนาอากาศยานไร้คนขับแบบ U1 เป็นต้น ตลอดจนสร้างรากฐานการพัฒนาคนและการศึกษา ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายลำดับที่ 12 หรือ New S-Curve 12 การพัฒนากำลังพลสำรองของกองทัพอากาศ ให้มีศักยภาพสูงขึ้น พร้อมปฏิบัติภารกิจร่วมกับกำลังพลประจำการในการป้องกันประเทศ การบรรเทาสาธารณภัย และการเผชิญภัยคุกคามต่าง ๆ การสนับสนุนกำลังพลและยุทโธปกรณ์ในการสนับสนุนรัฐบาลแก้ไขปัญหา ที่สำคัญเร่งด่วน รวมถึงการช่วยเหลือประชาชนจากภัยคุกคามรูปแบบใหม่ ได้แก่ การช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติ สนับสนุนภาพถ่ายจากอากาศยานและดาวเทียม สนับสนุนภารกิจฝนหลวง การควบคุมไฟป่า ลดปัญหาฝุ่น PM 2.5 โดยเฉพาะปัญหาการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 สนับสนุนสถานที่กักกันโรคแห่งรัฐ (State Quarantine) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการจัดเก็บและประมวลผล ตามยุทธศาสตร์ชาติด้านความมั่นคง (พ.ศ.2561 - 2580) เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลในการบริหารจัดการของสภาความมั่นคงแห่งชาติ และหน่วยงานด้านความมั่นคงอื่น ๆ พัฒนากระบวนการป้องกันแก้ไขปัญหาข่าวสารที่เป็นเท็จ เพื่อติดตาม ตรวจสอบข้อมูลที่เผยแพร่ บนสื่อสังคมออนไลน์และระบบอินเทอร์เน็ต ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกองทัพอากาศ ป้องกันมิให้ใช้เป็นเครื่องมือของผู้ไม่หวังดีต่อภาครัฐ แนวทางพัฒนาปฏิบัติการด้านไซเบอร์ของกองทัพอากาศ และงานด้านการข่าว กองทัพอากาศให้ความสำคัญกับการพัฒนาการปฏิบัติการด้านไซเบอร์ และงานด้านการข่าว ซึ่งนับว่ามีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง โดยมีการดำเนินการที่สำคัญ ดังนี้ การพัฒนาขีดความสามารถด้านไซเบอร์ นอกจากการพัฒนาสร้างบุคลากรให้มีความเชี่ยวชาญเฉพาะแล้ว ยังมุ่งเน้นการเสริมสร้างขีดความสามารถการปฏิบัติการไซเบอร์ ในการริเริ่มพัฒนาการตรวจจับภัยคุกคามทางไซเบอร์ด้วยปัญญาประดิษฐ์ร่วมกับหน่วยงานที่มีศักยภาพ เพื่อให้แจ้งเตือนและยับยั้งภัยคุกคามตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมทั้งเพิ่มขีดความสามารถในการปฏิบัติการกู้คืนระบบเมื่อถูกโจมตี การพัฒนาขีดความสามารถด้านการข่าว กองทัพอากาศให้ความสำคัญกับการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ ในการดูแลพื้นที่ของกองทัพอากาศให้มีความปลอดภัย ได้แก่ กล้องวงจรปิดอัจฉริยะ ระบบจดจำใบหน้า ระบบตรวจสอบทะเบียนรถ และระบบอากาศยานไร้คนขับ กองทัพอากาศมุ่งมั่นให้ความสำคัญกับการปฏิบัติภารกิจด้านความมั่นคงได้อย่างชาญฉลาด และมีความยั่งยืน (Sustainable Smart Air Force) ตามบทบาทหน้าที่ของกองทัพอากาศที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ทั้งการปฏิบัติการทางทหารเพื่อป้องกันรักษาอธิปไตย ความมั่นคง และผลประโยชน์แห่งชาติ ตลอดจนการสนับสนุนรัฐบาลในการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการช่วยเหลือประชาชน โดยเน้นการพัฒนาและขับเคลื่อนทุกด้านบนพื้นฐานของความสมดุล เพื่อมุ่งสู่การเป็น “กองทัพอากาศชั้นนำในภูมิภาค”