ลีลาชีวิต / ทวี สุรฤทธิกุล ผมได้เรียนรู้ “ชีวิตและความเป็นชาย” หลายอย่างจากพี่เสือใหญ่ เชียงใหม่ใน พ.ศ. 2524 - 2528 มีสภาพคล้าย “มินิบางกอก” หรือ “กรุงเทพฯน้อย” คือกำลังพัฒนาไปสู่ความเป็นเมืองที่ทันสมัย ฟุ้งเฟ้อ และอึกทึกครึกโครม กระทั่งท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ยังเคยบ่น ๆ ตอนที่มาอยู่ในบ้านริมปิงใหม่ ๆ ว่า “นึกว่าจะหนีจากกรุงเทพฯพ้น” เพราะที่คิดมาอยู่เชียงใหม่ก็หวังว่าจะเป็นเมืองที่สงบ อบอุ่นด้วยวัฒนธรรมประเพณีเก่าๆ และใช้ชีวิตในบั้นปลายให้มีความสุข ผมจำได้ว่าเคยติดตามท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ไปชมงานบุปผชาติและลอยกระทง(ที่เชียงใหม่เรียกว่า “ยี่เป็ง”)เพียง 2 - 3 ครั้งในตอนที่มาอยู่เชียงใหม่ปีแรก ๆ แล้วท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ก็ไม่ได้ไปชมงานทั้งสองอีกเลย ยิ่งไปกว่านั้นท่านยังได้วิพากษ์วิจารณ์งานทั้งสองอย่างรุนแรง ถึงขนาดที่อ้างบทกลอนในเรื่องอิเหนามาตัดพ้อว่า “หวังมาช่วยรณรงค์สงคราม มิได้มาด้วยความเสน่หา” คือท่านไม่พอใจกับการที่มีการทำลายประเพณีที่งดงามในอดีต แต่นำเอาความเป็นสมัยใหม่เข้ามากมาย รวมถึงที่ผู้จัดคือเทศบาลนครเชียงใหม่เน้น “การท่องเที่ยว” มากเกินไป จนละเลยความเป็นเชียงใหม่และ “เสน่ห์เมืองเหนือ” ไปเสียสิ้น จนท่านต้องมาทำสงครามกอบกู้ดังกล่าว ชีวิตในตอนกลางคืนของเชียงใหม่ก็ไม่แตกต่างจากที่กรุงเทพฯ ผมจำได้ว่าใน พ.ศ. 2520 ที่ผมมาเชียงใหม่เป็นครั้งแรกกับคณะนักฟุตบอลของคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แหล่งบันเทิงยังไม่มาก ที่เที่ยวของหนุ่ม ๆ ก็ยังเป็นแบบ “ย้อนยุค” คือเป็นสถานที่ในตำนานเก่า ๆ เช่น กำแพงดิน และหลังมอ (“มอ” คือคำย่อที่เรียกมหาวิทยาลัยเชียงใหม่) เป็นต้น แต่ผ่านไปแค่ 3 - 4 ปี เชียงใหม่ได้เปลี่ยนไปแบบหน้ามือเป็นหลังมือ คือเต็มไปด้วยแหล่งเริงรมย์โผล่ขึ้นมาเหมือนดอกเห็ด รอบ ๆ กำแพงเมืองเชียงใหม่มีโรงแรมเกิดขึ้นมามากมาย พร้อมกับที่กินที่ดื่มและ “ที่เที่ยว” มากมาย ทั้งอาบอบนวดที่ใหญ่โตโอ่อ่า ผับบาร์ที่วิบวับหวือหวา ร้านค้าร้านอาหารหลากหลายกระจายไปทั่ว รับกับนักท่องเที่ยวที่หลั่งไหลเข้ามาดั่งสายน้ำ ผมกับพี่เสือใหญ่ออกมาเที่ยวในเมืองตอนดึก ๆ เกือบทุกคืน โดยสถานที่ที่เราไปสิงอยู่เป็นประจำคือ “ฮันนี่คอมเพล็กซ์” ที่มีทั้งอาบอบนวด บาร์และไนต์คลับ(ที่รวมกันอยู่ในที่เดียวกันที่เรียกว่า “คอฟฟี่ช็อป”) ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับวัดเจ็ดยอด ริมถนนซูเปอร์ไฮเวย์สายเชียงใหม่ - ลำปาง (ปัจจุบันถูกรื้อทิ้งไปแล้ว แต่ได้ปลูกสร้างสถานที่ราชการขึ้นมาแทน คงเป็นที่ราชพัสดุให้เช่าในช่วงก่อนหน้านั้น) เราใช้เวลาไปกับการนั่งดื่มและฟังเพลงในคอฟฟี่ช็อป พอสัก 5 ทุ่ม พนักงานอาบอบนวดก็จะเลิกงานออกมานั่งรับประทานอาหาร บ้างก็มีแขก “ออฟ” ออกมา บ้างก็คงได้ทิปมาพอสมควร ก็มาสั่งอาหารกินดื่มพูดคุยกันอย่างสนุกสนาน พอถึงช่วงที่ดนตรีเล่นจังหวะมัน ๆ ก็จะออก “ดิ้น” กันอย่างเมามัน เหมือนว่าชีวิตมีเพียงแค่วันนี้ ผมเองก็เช่นเดียวกันกับชายหนุ่มในวัยยี่สิบต้นๆ รู้สึกเลือดจะสูบฉีดพลุกพล่านไปทั่ว ทุกครั้งที่มองไปที่ผู้หญิงเหล่านั้น ซึ่งแน่นอนว่ายั่วยวนทั้งการแต่งกายและกริยาท่าทาง และเผลอตัวที่จะออกไปเกี้ยวพาราสีอยู่บ่อยครั้ง กระทั่งวันหนึ่งพี่เสือใหญ่จึงเตือนว่า “เฉยไว้เถอะ ไม่มีใครอยากถูกลวนลามหรอก” ผมจึงถามพี่เสือใหญ่ว่าหมายความว่าอย่างไรหรือ แกจึงอธิบายว่าแม้ว่าผู้หญิงเหล่านี้เขาจะมีอาชีพแบบนี้ แต่เขาก็เป็นผู้หญิง โดยธรรมชาติก็กลัวผู้ชาย และมองผู้ชายว่าคือที่พึ่งพิงและให้ความรู้สึกอบอุ่นปลอดภัย การที่เราไปทำท่ากะลิ้มกะเหลี่ยแทะโลมแบบนั้น ผู้หญิงจะรู้สึกกลัวและไม่ปลอดภัย “ลองทำวิธีนี้สิ” พี่เสือใหญ่บอก “เวลาที่เขาเดินผ่านมา ถ้าเรายืนขวางอยู่ เช่น หน้าประตู หรือหน้าห้องน้ำ ก็แค่ยิ้มแล้วเบี่ยงตัวหลบให้เขาเดิน บางที่ถ้าเห็นเขากำลังมองหาอะไรอยู่ ก็ลองออกปากถามว่าให้ช่วยอะไรไหมครับ หรือรีบกุลีกุจอช่วยเหลือถ้าเขาเอ่ยปากขอหรือให้ทำอะไร ที่สำคัญต้องพูดเพราะ ๆ แล้วอย่าพูดแซวหรือล้อเล่น” ผมลองใช้วิธีที่พี่เสือใหญ่แนะนำก็ได้ผลดีอย่างน่าทึ่ง ทำให้เรามีหญิงสาวมานั่งคุยด้วยทุกคืน แล้วก็มีการแนะนำกันต่อ ๆ กันไป ซึ่งเราก็ไม่ได้แสดงความเป็น “ป๋า” อะไรเลย ด้วยวัยที่ยังเป็นหนุ่มน้อยใกล้เคียงกับหญิงสาวเหล่านั้น ทำให้เราพูดคุยกันอย่างเป็นกันเอง บางครั้งมีงานบุญงานผ้าป่าก็ช่วยใส่ซองเรี่ยไรกันเหมือนญาติ บางคนพาไปเยี่ยมบ้าน และหลายคนก็เล่าเรื่อง “ชีวิต” ของตัวเองอย่างหมดเปลือก ทำให้เราได้เรียนรู้ถึงชีวิตของคนอื่นอย่างลึกซึ้ง จนทำให้ความรู้สึกด้านกามารมณ์นั้นอันตรธานไป กลายเป็นความรู้สึกของความเป็นเพื่อนมนุษย์ ที่ล้วนมีทุกข์มีสุขต่าง ๆ เพียงแต่ผู้หญิงเหล่านี้มีความทุกข์มากกว่า โดยเฉพาะเรื่องของความจน ศักดิ์ศรีหน้าตาและการยอมรับจากสังคม(หลายคนให้เหตุผลที่มาทำอาชีพนี้ว่า เพื่อสร้างบ้านและซื้อที่สวนไร่นา รวมถึงรถปิกอัพ ให้ผู้คนเคารพนับถือ) นอกเหนือจากความกตัญญูรู้คุณอันเป็นวัฒนธรรมที่แข็งแกร่งของคนในชนบทภาคเหนือ ซึ่งเกือบทุกคนระบายออกมาเหมือน ๆ กันว่า “เป็นกรรมที่ทำมา” เชียงใหม่ในช่วงเวลานั้นดูเหมือนจะ “สับสน” ในแนวทางการพัฒนาต่าง ๆ เป็นอย่างมาก ที่น่าเศร้าใจก็คืออาหารเหนือที่เคยหารับประทานอร่อย ๆ แบบเดิม ๆ ก็หาทานได้ยาก โดยโผล่ขึ้นมาแทนที่ด้วยอาหารนานาชาติและนานาภูมิภาค ตามแรงซื้อของนักท่องเที่ยวที่เพิ่มมากขึ้น และรวบถึงคนที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานหรือย้ายมาอยู่จากถิ่นอื่น ๆ ที่นับวันจะเพิ่มขึ้นจนอาจจะมีจำนวนมากกว่าคนพื้นถิ่น ซึ่งถูกกำลังซื้อกว้านซื้อที่ดินที่สวนไร่นาให้ถอยร่นออกไปอยู่นอกเมืองมากขึ้นเรื่อย ๆ อีกสิ่งหนึ่งที่พี่เสือใหญ่สอนผมเกี่ยวกับการใช้ชีวิตหนุ่มก็คือ “อย่าไปมีเรื่องกับใคร” ด้วยวิธีการเพียงอย่างเดียวก็คือ “เดินหนีไปเสียจากที่นั่น” พี่เสือใหญ่เล่าประสบการณ์ว่า ตอนที่แกเป็นวัยรุ่นอายุ 17 - 18 ปี แกก็เป็นนักเลงเกเร คบเพื่อนแถวงามดูพลี มีเรื่องตีกับแก๊งอื่น ๆ ที่อยู่รอบ ๆ นั้นทุกวัน จนน้าเชื่อมรู้เข้า เพราะวันหนึ่งต้องไปประกันตัวออกมาจากโรงพักทุ่งมหาเมฆ พอกลับมาบ้านก็จับแกมาอบรม น้าเชื่อมสอนว่า ถ้าอยากเป็นนักเลงก็ต้องอยูในคุกในตะราง ชนะนักเลงด้วยกันมันไม่ได้ดีอะไรหรอก มีแต่ทางเสื่อม แล้วน้าเชื่อมก็ย้อนไปเล่าถึงประวัติของ “เสือตุ่ม” ซึ่งเป็นพ่อของพี่เสือใหญ่ที่ติดตะรางจนตาย ตั้งแต่วันนั้นพี่เสือใหญ่ก็เลิกคบกับเพื่อนนักเลงพวกนั้น ด้วยคำพูดว่า “กูไม่อยากให้พวกมึงเจอกูในตะราง”