จากข่าวที่สร้างความหวัง ตื่นเต้นให้กับชาวโลก ว่านอกโลกอาจมีสิ่งมีชีวิตอยู่ได้บนดาวศุกร์ ล่าสุด เพจมติพล ตั้งมติธรรม สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ NARIT โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กระบุ เมื่อไม่นานมานี้ มีข่าวที่ค่อนข้างใหญ่ที่สะเทือนวงการวิทยาศาสตร์และดาราศาสตร์พอสมควร นั่นก็คือการค้นพบ “ฟอสฟีน” ซึ่งเป็นสารที่เชื่อว่าสามารถใช้เป็นตัวบ่งชี้ถึงการมีอยู่ของสิ่งมีชีวิตได้ ในชั้นบรรยากาศของดาวศุกร์ แต่สำหรับผู้ที่ตื่นเต้นกับความเป็นไปได้ของสิ่งมีชีวิตบนดาวศุกร์ อาจจะต้องผิดหวังเล็กน้อย เนื่องจากล่าสุด ในงานวิจัยที่ปรากฏอยู่ใน arxiv.org ได้มีทีมนักวิจัยอีกทีมหนึ่งออกมาวิเคราะห์ซ้ำ และพบว่าไม่สามารถยืนยันถึงการค้นพบของสารประกอบดังกล่าวอย่างมีนัยสำคัญได้ จากข้อมูลเดียวกัน ทั้งนี้ เรื่องของการหักล้างผลของงานวิจัยนี้นั้น เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้เสมอ ซึ่งถือว่าเป็นจุดแข็งของวิทยาศาสตร์ เพราะไม่มีข้อเสนอหรือการค้นพบใดที่จะอยู่นอกเหนือการตรวจสอบได้ และงานวิจัยทุกชิ้นจะต้องสามารถผ่านกระบวนการทดลองซ้ำ reproducibility เพื่อยืนยันถึงความน่าเชื่อถือได้เสมอ ในทางทฤษฎีแล้วนั้น นักวิทยาศาสตร์ควรจะทำงานวิจัยโดยปราศจากอคติ หรือ bias ทั้งปวง โดย bias ที่สำคัญที่สุดในกรณีนี้ คือ bias ที่เราเรียกกันว่า “Confirmation bias” หรืออคติที่ต้องการจะยืนยันสิ่งที่เชื่อว่าเป็นความจริง ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่ใกล้เคียงกับสิ่งที่เกิดขึ้นในกรณีของการค้นพบฟอสฟีนในงานวิจัยดังกล่าว เนื่องจากข้อมูลดาราศาสตร์ที่ได้จาก interferometry ผ่านกล้องโทรทรรศน์หลายตัวบนดาวเคราะห์ที่เป็นวงกลมนั้นเป็นข้อมูลที่มีขั้นตอนการลดทอนข้อมูลที่ค่อนข้างซับซ้อน ในการหาแถบการดูดกลืนของแสงที่ตรงกันกับการดูดกลืนของสารประกอบที่ต้องการหา (ซึ่งในกรณีนี้คือฟอสฟีน ที่ 267 GHz) นั้น อันดับแรกจะต้องหาสเปกตรัมของดาวศุกร์โดยไม่มีการดูดกลืนให้ได้เสียก่อน ซึ่งเรียกว่า baseline จากนั้นจึงหาว่ามีการเบี่ยงเบนไปจาก baseline นี้เพียงใด และมีนัยสำคัญมากกว่าสัญญาณรบกวนทั่วไปหรือไม่ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม งานวิจัยใหม่นี้นั้น ก็ยังจะต้องติดตามกันต่อไปเพื่อที่จะทราบว่าแท้จริงแล้วนั้นดาวศุกร์มีสัญญาณที่บ่งชี้ถึงการมีอยู่ของโมเลกุลฟอสฟีนจริงหรือไม่ ภาพ: Mariner 10, NASA/JPL-Caltech