ร่วมสมัย / ชะมวง พฤกษาถิ่น
ภาพ: สิริภูมิ ชูวงศ์ตระกูล
"ต่างหลอดสีรวมเป็นหนึ่ง ช่างศิลปลาดกระบัง
บันทึกในจิตรกรรม พระเมรุมาศ รัชกาลที่ 9"
งานภาพเขียนลงสีจิตรกรรมฝาผนังพระที่นั่งทรงธรรม งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (ในหลวงรัชกาลที่ 9) มีความคืบหน้าไปมาก
ที่ตอนนี้ช่างจิตรกรทั้ง 3 สถาบันช่างศิลป์ สำนักช่างสิบหมู่ วิทยาลัยช่างศิลปลาดกระบัง สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ วิทยาเขตเพาะช่าง ดำเนินการลงสีภาพเขียนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ 46 โครงการ ของแต่ละผนังที่รับมอบหมาย อยู่ที่โรงประติมากรรมชั่วคราว สำนักช่างสิบหมู่ จ.นครปฐม เมื่อลงสีทั้ง 3 ผนังเสร็จเรียบร้อยดีแล้ว จะนำไปประกอบเข้าฝาผนังพระที่นั่งทรงธรรม สถานที่สำหรับสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ทรงประทับและประกอบพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลในการออกพระเมรุพระบรมศพ รวมทั้งมีที่สำหรับพระบรมวงศานุวงศ์ ตลอดจนบุคคลสำคัญเข้าร่วมงานพระราชพิธี
สำหรับอาคารพระที่นั่งทรงธรรมครั้งนี้ มีขนาดใหญ่ กว้าง 44.50 เมตร ยาว 155 เมตร สูง 22 เมตร งานเขียนภาพจิตรกรรมลงบนฝาผนังพระที่นั่งฯ จึงมีขนาดใหญ่ตาม
ส่วนภาพเขียนลงสีที่นำเสนอนี้ เป็นในส่วนของวิทยาลัยช่างศิลปลาดกระบัง รับผิดชอบผนังที่ 3 โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริพื้นที่ภาคกลางและภาคใต้ รวม 14 โครงการ ดำเนินการลงสีมาตั้งแต่วันที่ 10 มิถุนายน จนมาถึงขณะนี้ เพียงช่วงระยะเวลา 1 เดือน งานลงสีบนผ้าแคนวาสไปได้เร็วมาก ด้วยเพราะความร่วมมือร่วมใจกันทั้งครู อาจารย์ นักศึกษา และศิษย์เก่า ศิลปินอิสระ จิตรกรอาสาตามความถนัด รวมกว่า 200 คน สลับหมุนเวียนกันมาลงสีภาพบรรยากาศ ทิวทัศน์ ต้นไม้ อาคารสถาปัตยกรรมต่างๆ และภาพเหมือนบุคคล โดยมี สนั่น รัตนะ ครูชำนาญการพิเศษ วิทยาลัยช่างศิลปลาดกระบัง ผู้มีประสบการณ์การเขียนภาพจิตรกรรมฉากบังเพลิงมาหลายพระเมรุ ในครั้งนี้ดูแลการลงสีให้เป็นไปตามผู้ออกแบบร่างกำหนดไว้
สนั่น รัตนะ อธิบายขั้นตอน อย่างแรก ทีมงานคัดลอกลายลายเส้นจากภาพสเก็ตซ์ ที่คุณมณเฑียร ชูเสือหึง จิตรกรเชี่ยวชาญ สำนักช่างสิบหมู่ ผู้ร่างต้นแบบภาพเขียนโครงการพระราชดำริออกแบบไว้ ใส่ลงกระดาษไข เพื่อนำไปปรับแก้บางส่วน เพราะภาพสเก็ตซ์มีเพียงบอกตำแหน่งบุคคลในภาพว่าคือใคร แต่การดำเนินงานต้องหาข้อมูลที่ชัดเจนของบุคคลในภาพประกอบกับเครื่องแต่งกาย เพื่อให้ภาพออกมาสมบูรณ์ ถูกต้อง เหมือนเหตุการณ์จริงให้มากที่สุด จากนั้นดำเนินการขึ้นพื้นคัดลอกบรรยากาศทั้งหมด แล้วนำตัวภาพมาคัดลอก เขียนตัวภาพทับอีกชั้นหนึ่ง
ในขณะเดียวกัน ได้มีการตั้งคณะทำงานฝ่ายวิชาการเพื่อหาข้อมูลและรายละเอียดโครงการพระราชดำริ ที่นำมาเป็นต้นแบบการเขียน จากเอกสารและจดหมายเหตุ รวมทั้งตรวจสอบความถูกต้องตามแบบที่กำหนดก่อนที่จะมีการลงสี เพื่อให้ได้องค์ประกอบทุกส่วนตรงความเป็นจริง ทั้งในส่วนของในหลวง รัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมเยียนโครงการต่างๆ โดยจะหาข้อมูลว่าทรงสวมฉลองพระองค์อะไร สีอะไร เครื่องยศ เครื่องทรงเป็นแบบไหน เช่นเดียวกับผู้ที่เป็นบุคคลปรากฏในภาพสเก็ตซ์จิตรกรรมจะต้องอยู่บนพื้นฐานชองข้อมูลจริงทั้งหมด
การทำงานต้องอยู่บนพื้นฐานของเหตุการณ์จริงแล้ว คณะทำงานยังได้น้อมนำสิ่งที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 รับสั่งไว้มาเป็นแนวทางการดำเนินงาน โดยพระองค์เคยรับสั่งว่า ต้นไม้ในจิตรกรรมฝาผนังนั้น จะต้องบอกชื่อได้ว่า เขียนต้นอะไร บนต้นไม้มีสิ่งมีชีวิตอีก นั่นหมายถึงเราต้องใส่สัตว์อื่นๆ ประกอบลงไปด้วย ขณะที่เรื่องเสื้อผ้าอาภรณ์ทุกชิ้น พระองค์ท่านทรงขยับสูท แล้วรับสั่งว่า เขียนเราใหม่ให้เหมือนแบบนี้ นั่นคือมูลเหตุที่เราน้อมรับมาดำเนินงานให้ทำงานออกมาเหมือนจริง
‘สนั่น’ ครูช่างศิลปลาดกระบัง ได้กล่าววิธีการวางรูปแบบ “จะใช้แนวทางวางแบบภาพจิตรกรรมไทยโบราณผนวกกับศิลปกรรมในรัชกาลที่ 9 มี 3 มิติ เน้นลายเส้นแบบไทย มีแสงเงาธรรมชาติ โดยเป็นการต่อภาพเล่าเรื่องเป็นตอนๆ เป็นห้องๆ บนผนังผืนใหญ่ แบ่งงานตามความถนัดของแต่ละบุคคล ทั้งทิวทัศน์ อาคาร ภาพบุคคล ทั้งที่เป็นภาพบุคคลเหมือนและไม่เหมือน”
เมื่อมองภาพเขียนลงสีบนผ้าแคนวาสในเวลานี้ มีความเด่นชัดทั้งภาพบรรยากาศท้องฟ้า เขื่อน อาคาร ‘ครูสนั่น’ กล่าวว่า ได้ทำการลงสีพื้นภาพรวมเสร็จแล้ว ถัดจากนี้ใส่รายละเอียดเนื้อหาของภาพให้มีความชัดเจน ซึ่งในกระบวนการนี้ต้องใช้ช่างฝีมือที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง เช่น ลงสีภาพเหมือนบุคคล ต้นไม้ สถาปัตยกรรมต่างๆ โดยเฉพาะการกำหนดแสงและเงา ถือเป็นงานที่ค่อนข้างยาก เนื่องจากองค์ประกอบโดยรวมของภาพกำหนดให้แสงเข้าไปทางขวา เงาไปทางซ้าย บางภาพจะต้องมีการกลับแสงภาพต้นฉบับให้เป็นไปตามทางภาพ ต้องใช้ทักษะการเขียนเพื่อให้ภาพมีความกลมกลืนเป็นชิ้นงานเดียวกันทั้งหมด
ขณะเดียวกัน งานที่ออกมาไม่ใช่เพียงสอดคล้องระหว่างภาพที่ได้รับมอบหมายเท่านั้น ยังต้องมองภาพรวมของงานอีก 2 ผนัง ของช่างสิบหมู่และวิทยาลัยเพาะช่าง โทนสีต้องกลมกลืนกัน เพราะนี่คืองานชิ้นเดียวกัน เพียงแต่แยกกันรับผิดชอบ ซึ่งการทำงานที่ผ่านมาทั้ง 3 หน่วยงานได้หารือถึงแนวทางการปฏิบัติงานเพื่อคุมโทนสีให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน
ดังนั้น ศิลปิน ครูบาอาจารย์ จิตอาสา ที่มีความถนัดรู้ความสามารถของตัวเองจะรับผิดชอบในหน้าที่ตัวเองในตำแหน่งงานนั้นๆ ไม่มีการทำแล้วแก้ไข แต่จะมีผู้คุมบรรยายกาศภาพโดยรวมเพื่อให้งานเป็นเอกภาพ โดยคุณมณเฑียร ชูเสือหึง จิตรกรเชี่ยวชาญ ผู้ร่างต้นแบบและควบคุมประสานการทำงานในภาพรวม
นอกจากนี้ ‘ครูสนั่น’ ยังมองผนังที่ 3 เห็นว่า ภายในภาพสามารถเพิ่มเติมเนื้อหาบริเวณที่เป็นส่วนของโครงการแก้มลิงได้ จึงหารือกับคุณมณเฑียร ซึ่งเห็นตรงกันจะใส่โครงการเขื่อนบางลาง จ.ยะลา โครงการไฟฟ้าพลังน้ำเอนกประสงค์แห่งแรกในพื้นที่ภาคใต้ของประเทศ ใส่ลงไปเป็นโครงการที่ 15 ด้วย
ถือเป็นการเพิ่มเนื้อหาของผนังให้มีความสมบูรณ์ โดยได้ใช้เทคนิคเชิงช่างใส่สันเขื่อนลงไปในภาพของโครงการแก้มลิงที่เป็นน้ำ ที่นอกจากจะเห็นตัวสันเขื่อนในมุมทางกว้างด้านหน้าแล้ว ในภาพดังกล่าวยังส่งให้องค์ประกอบของภาพดูมีมิติลึกเข้าไปมีความสมบูรณ์และสวยงามอย่างลงตัวอีกด้วย
ภาพบรรยากาศของช่างจิตรกรแต่ละคนตั้งใจกันลงสี รุ่นหนุ่มปีนขึ้นนั่งร้านชั้นบนสุดช่วยกันลงสี ขณะที่วัยกลางคนนั่งร้านชั้นสองและสาม ส่วนผู้หญิงช่วยกันลงสีชั้นล่าง ในขณะเดียวกัน ฝ่ายจัดเตรียมสีคอยเป็นลูกมือส่งหลอดขวดสี รวมไปถึงฝ่ายสนับสนุนสิ่งของเครื่องใช้และเสบียงข้าวปลาอาหาร 'ครูสนั่น' ว่า
“แม้ว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ควรเป็นอยู่เวลานี้ ทำไมสิ่งต่างๆ เหล่านี้ต้องมาเกิดขึ้นในวันที่พระองค์ท่านสวรรคต แต่เราควรสำนึกได้มากกว่าวันนี้
ถึงอย่างนั้น ทุกคนมาทำงานกันตรงนี้ มีเพียงประการเดียว ทำเพื่อในหลวง ด้วยพระองค์ท่านเป็นแบบอย่างที่ให้เราได้น้อมนำและปฏิบัติตาม ในหลายๆ เรื่องคำสอนของพระองค์ท่านสอนเราไว้ ผมและทุกคนได้น้อมนำมาใช้ อยู่บนนั่งร้านตรงนี้ทั้งหมด เช่น ทุกๆ สัปดาห์ เราจะเห็นเรื่องการมีน้ำใจของจิตอาสาส่งมอบสิ่งของ ไม่ว่าจะเป็นข้าวปลาอาหาร น้ำ เครื่องใช้ พัดลม นี่คือเรื่องของการบริจาคทาน ที่พระองค์ท่านทำมาเป็นตัวอย่างให้เราได้เห็น
คำสอนหลักทศพิธราชธรรมที่พระองค์พระราชทานไว้ ปรากฏอยู่ในจิตรกรรมฝาผนังตรงนี้ทั้งหมด แม้แต่ในเรื่องความมานะ อดทน วิริยะอุตสาหะ ในหลวงได้แสดงให้เห็น ท่านเหนื่อยมาตลอด 70 ปี เพื่อความสุขอาณาประชาราษฎร์ ฉะนั้นแล้ว การที่ทุกคนได้มาร่วมกันทำงานกันตรงนี้ในระยะเวลาแค่ 3 เดือน ทำไมเราจะทนไม่ได้ ทุกคนไม่เคยบ่น ขึ้นปีนนั่งร้านทำได้หมด ขอให้ได้มีส่วนร่วม
ในแง่ความหลากหลายของหลอดขวดสีที่ต่างกัน นำมาวางกัน ความหลากหลายของคนที่เป็นช่าง ต่างจิตต่างใจ ต่างฝีมือ น้ำใจต่างสถานที่ ต่างเหตุการณ์ ต่างสถานะ แล้วสามารถมารวมกันเป็นหนึ่ง เป็นภาพความสามัคคีที่สวยงาม นี่คือภาพที่ปรากฏให้เห็นว่าคำสอนของพระองค์ปรากฏอยู่ในผนังจิตรกรรมนี้ทั้งหมด แล้วเราได้น้อมนำมาใช้ปฏิบัติ”
สนั่น รัตนะ ครูชำนาญการพิเศษ วิทยาลัยช่างศิลปลาดกระบัง กลั่นความรู้สึกก้นบึ่งของหัวใจ พลางน้ำตาคลอเป้า ในการที่ช่าง ศิลปิน จิตรกรอาสา ร่วมแรงร่วมใจกันที่มีหมุดหมายเดียวกันคือ ถวายงานพ่อหลวงของแผ่นดินครั้งสุดท้าย ผ่านภาพเขียนสีจิตรกรรมฝาผนังพระที่นั่งทรงธรรม โดยในช่วงเวลาที่เหลือ 80 วัน ทุกอย่างต้องแล้วเสร็จเดือนกันยายน
ต่างหลอดสีรวมเป็นหนึ่ง วิทยาลัยช่างศิลปลาดกระบัง บันทึกในจิตรกรรมฝาผนังพระที่นั่งทรงธรรม พระเมรุมาศ รัชกาลที่ 9