จากแนวความคิดของกระทรวงการท่องเที่ยว และกีฬา ที่ต้องการดึงดูดชาวต่างชาติที่พำนักระยะยาวหรือทำงานอยู่ในประเทศไทย หรือกลุ่มเอ็กซ์แพท ให้ออกมาเดินทางท่องเที่ยวภายใต้แคมเปญ Explore the Unseen Thailand หรือ เรารู้จักกันดีพอหรือยัง จนนำมาสู่การบูรณาการด้านการท่องเที่ยวเปิดทดลองเส้นทางการท่องเที่ยวเชียงคานให้กับกลุ่มเอ็กซ์แพท ภายใต้เงื่อนไขการรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติประเภทพิเศษ (Special Tourist Visa) ที่ต้องผ่านขั้นตอนมาตรฐานความปลอดภัยทางสาธารณสุข ชูแหล่งเรียนรู้ที่มีชีวิต ทั้งนี้ นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า สำหรับอำเภอเชียงคานในปัจจุบันเป็นที่รู้จักทั้งนักท่องเที่ยวชาวไทย และชาวต่างประเทศ เนื่องจากได้เข้ารอบ 1 ใน 100 แหล่งท่องเที่ยวคุณภาพยั่งยืนระดับโลก หรือ Sustainable Destinations TOP 100 ที่สามารถเปิดรับนักท่องเที่ยว ทั้งชาวไทย และต่างชาติ ดังนั้นจึงเป็นที่มาของการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน และเป็นจุดหมายปลายทางแห่งใหม่ ที่ได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการในช่วงที่ผ่านมา โดยมีศูนย์วัฒนธรรมไทยดำ เป็นแหล่งเรียนรู้ที่มีชีวิต เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้เรียนรู้เรื่องราว ผ่านเส้นทางถนนโคมไฟไทยดำ ที่มีการนำโคมไฟที่ดัดแปลงมาจากตุ้มหนู (กรง) และ ตุ้มนก (กรง) ซึ่งชาวบ้านเคยใช้เป็นเครื่องลางแสดงถึงความโชคดีของชุมชนที่แขวนไว้หน้าบ้านทุกหลัง มาเรียงร้อยบนถนนสายหลักของหมู่บ้าน สว่างไสวกว่า 300 เมตร พร้อมนำวิถีอาหาร และผลิตภัณฑ์มาจัดจำหน่ายแก่นักท่องเที่ยว เพื่อเป็นของฝาก ของที่ระลึก ที่มีความแตกต่างจากแหล่งท่องเที่ยวอื่น ๆ เพราะมีประวัติศาสตร์การตั้งรกราก จากการทำสงครามฝรั่งเศสเวียดนามในอดีต ที่จังหวัดเดียนเบียนฟู มีอายุกว่า 100 ปี โดยเฉพาะในช่วงหน้าหนาวที่กำลังจะมาถึง เมืองเชียงคาน จังหวัดเลย แหล่งท่องเที่ยวในฝันของหลายคนจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป เพราะมีแหล่งท่องเที่ยว และกิจกรรมใหม่ๆ ที่คอยต้อนรับทุกคนไปสัมผัสบรรยากาศริมแม่น้ำโขง รวมถึงแหล่งท่องเที่ยวเกิดขึ้นใหม่ที่เชื่อมโยง อย่าง ภูคกงิ้ว ที่บ้านท่าดีหมี ตำบลปากตม อำเภอเชียงคาน ที่สามารถขึ้นไปสักการะขอพรพระใหญ่พร้อมชมทัศนียภาพบน สะพานสกายวอล์ค ที่เป็นจุดชมพระอาทิตย์ตกที่สวยงาม สามารถมองเห็นแม่นํ้าเหืองไหลมาบรรจบแม่นํ้าโขง เกิดเป็นแม่นํ้า 2 สีได้อย่างชัดเจน ซึ่ง นายพิพัฒน์ กล่าวว่า แหล่งท่องเที่ยวดังกล่าวเกิดขึ้นจากความร่วมมือขององค์กร และหน่วยงานต่างๆ เข้าไปพัฒนา โดยทางจังหวัด ได้ร่วมมือกับองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หรือ อพท. ในการเข้าไปวางแผนการบริหารจัดการด้านการท่องเที่ยว และเพิ่มศักยภาพชุมชนรอบภูคกงิ้ว เข้าสู่การให้บริการการท่องเที่ยวด้วยการนำเอาอัตลักษณ์ที่มีความแตกต่าง และโดดเด่นมาเป็นจุดขาย ในการสร้างรายได้ให้กับชุมชน ภายใต้มาตรฐานการท่องเที่ยวใหม่ในยุค New Normal สำหรับ การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในเชียงคาน ถือเป็นต้นแบบแห่งความสำเร็จ เป็นแหล่งท่องเที่ยวคุณภาพยั่งยืน TOP 100 ของโลก ที่สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้กับพื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศ ใช้เป็นโมเดลในการพัฒนา กิจกรรมการท่องเที่ยว รวมถึงสร้างแลนด์มาร์ค ที่เป็นนวัตกรรมยุคใหม่ เพื่อสร้างจุดขาย แต่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม โดยอาศัยต้นทุนทางธรรมชาติที่มีความหลากหลายของระบบนิเวศ ซึ่งเป็นความได้เปรียบของประเทศไทย ที่มีกลไกในการพัฒนาในรูปแบบของการท่องเที่ยวยั่งยืน โดยเฉพาะในช่วงการกระตุ้นการท่องเที่ยวปลายปีนี้ นำเสนออัตลักษณ์โดดเด่น ด้าน นาย ชูวิทย์ มิตรชอบ รักษาการแทนผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หรือ อพท. กล่าวว่า สำนักงานพื้นที่พิเศษ 5 (อพท.5) กล่าวว่า ได้นำชุมชนไทดำ ที่มีวิถีชีวิตเป็นอัตลักษณ์อันโดดเด่น โดยมีเกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก หรือ GSTC และเกณฑ์การท่องเที่ยวโดยชุมชน หรือ CBT Thailand เข้าไปอบรมและพัฒนาชุมชนได้เรียนรู้ และเป็นแนวทางในการปฏิบัติ ซึ่งจะมีส่วนสำคัญในการตอบโจทย์การท่องเที่ยวชุมชนแบบยั่งยืนกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากอย่างแท้จริง จากแนวทางในการปฏิบัติ เพื่อนำไปสู่วิถีการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวไปยัง อำเภอเชียงคาน สัมผัสชุมชนวิถีริมน้ำโขง และซึมซับอีกวัฒนธรรมเชื้อสายไทดำ ในประเทศไทย ที่ปัจจุบันได้กระจายตัวไปตามพื้นที่ต่างๆ เช่น อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี และ อำเภอบางแพ จังหวัดราชบุรี ส่วนภาคอีสาน มีเพียงแห่งเดียว คือบ้านนาป่าหนาด ตำบลเขาแก้ว อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย ที่ยังคงสืบสานวิถีชาติพันธุ์ มาจวบจนปัจจุบัน ทั้งการแต่งกาย วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี และการละเล่นต่างๆ ที่ล้วนแล้วสื่อถึงความเชื่อทางธรรมชาติที่กำหนดการดำรงชีวิตความเป็นอยู่ได้อย่างลงตัว