"โรคหลงตัวเอง" ไม่ได้หมายถึงคนมั่นใจในตัวเอง แต่นี่คือความผิดปกติอย่างหนึ่งที่เรียกว่า Narcissistic Personality Disorder เชื่อว่ามีไม่น้อยในสังคม และเราก็คงเคยผ่านประสบพบเจอมาแล้วทั้งนั้น โชคดีที่คนหลงตัวเองมักแสดงออกชัดเจนถึงความมั่นใจที่พวกเขามีจนเกินไป และออกจะเกินกว่าความเป็นจริงของสิ่งที่พวกเขาคิดว่าตัวเองเป็น คนประเภทนี้ยังจัดว่าดูง่าย ทว่า สิ่งที่เรากำลังพูดถึงกันวันนี้คือประเภท "คนแอบหลงตัวเอง" ซึ่งอย่างหลังนี้จะลำบากหน่อย เราไม่มีทางรู้ได้เลย เพราะพวกเขาจะทำตัวปกติเหมือนคนทั่วไป บางครั้งเราก็รู้สึกในทางบวกกับคนพวกนี้ และบ่อยครั้งที่พวกเขามักชอบแสดงบทเป็นเหยื่อของเรื่องต่างๆ อ่อนไหวแบบสุดขั้วกับคำวิจารณ์ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบไหน นั่นคือ รูปแบบหนึ่งของการสร้างเกราะคุ้มกันให้กับตัวเอง เพื่อที่จะพยายามหลีกลี่ยงอะไรก็ตามที่จะแสดงความผิดของตน อย่างไรก็ตาม แม้คนแอบหลงตัวเอง จะไม่ได้สร้างความอึดอัดให้กับผู้ที่อยู่ใกล้ แต่เราก็ไม่รู้ว่าวันใดที่พวกเขาจะออกมาเงาดังกล่าว เช่นเดียวกันการได้พิจารณาตัวเอง และคนใกล้ชิดว่า มีอาการผิดปกติที่บ่งชี้วาเป็นโรคชนิดนี้หรือไม่ นอกจากจะรู้เท่าทันตัวเองแล้ว การมีทัศนคติต่อตัวเองที่ถูกต้องเป็นสิ่งสำคัญในการปรับตัว และใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับสังคม และนี่เป็นที่มาของการที่เราต้องมาดูสัญญาณของโรคหลงตัวเองกัน เริ่มจาก "เหยื่อผู้เคราะห์ร้าย" ดังที่กล่าวมาข้างต้น คนแอบหลงตัวเองมักจะชอบเล่นบทผู้ถูกกระทำ ให้ลองนึกถึงคนประเภทที่ไม่เคยแสดงความรับผิดชอบกับสิ่งอะไรเลย หรือถ้าจะร้ายไปกว่านั้นคือผลักภาระความรับผิดชอบที่ควรจะเป็นของตนเองไปให้คนอื่นเสียอีก ตัวของคนประเภทนี้ก็เช่น เวลาที่มีอะไรไม่ดีเกิดขึ้นกับพวกเขา หรือแม้แต่เพียงว่าได้รับการบอกกล่าวอย่างสุภาพว่าตนทำอะไรผิด ก็จะพยายามทุกวิถีทางเพื่อผลักเรื่องนี้ออกไป และทำอย่างไรก็ได้เพื่อให้ได้มาซึ่งความเห็นใจ แต่สิ่งที่จะไม่ทำเลยก็คือความพยายามที่จะแก้ไขสิ่งนั้น หรือพยายามลดผลกระทบจากการทำนั้นของตัวเองที่มีต่อผู้อื่น จากข้อแรกเป็นที่มาของ คนประเภทนี้จะ "ชอบตำหนิ" คนอื่นในทุกเรื่อง ไม่ใช่แค่หลงตัวเองในสิ่งที่ตัวทำได้ แต่จะต้องหาเรื่องติในเรื่องที่คนอื่นทำ ยิ่งไปกว่านั้น คนพวกนี้ยังมีความสามารใจการก่อดราม่าให้ตัวเองเป็นผู้บริสุทธิ์ และคนประเภทแอบหลงตัวเองยังเป็นคนที่ "ทนการวิจารณ์" ไม่ได้เลย แม้แต่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ พวกเขาอาจจะแสร้งทำเป็นรับได้ แต่แท้จริงแล้วคำวิจารณ์เหล่านั้นเหมือนกำลังจะทำลายโลกที่มีอยู่ ที่น่าเป็นห่วงคือ แม้แต่การเสนอความเห็นของคนอื่นต่อเรื่องหนึ่งใดว่า อาจจะไม่ดีหรือไม่ แต่คนที่ทนการวิจารณ์ไม่ได้ก็มักจะคิดไปในทางลบก่อนล่วงหน้าเสมอ พวกเขาแยกไม่ออกระหว่างความหวังดีที่ต้องการเสนอความเห็นอย่างซื่อสัตย์กับเจตนาร้ายของคนรอบข้าง ซึ่งหากสามารถแยกแยะได้ เราก็จะไม่เข้าสู่โหมดปกป้องตัวเอง และวนไปที่การแสดงบทเป็นเป็นเหยื่อ กับโทษผู้อื่นอยู่ร่ำไป เรามี "ความฉลาดทางปัญหา" หรือ "ไอคิว" และ "ความฉลาดทางอารมณ์" หรือ "อีคิว" อย่างแรกสามารถประเมินได้ไม่ยาก แต่ที่เราจะพูดถึงคือตัวหลัง ซึ่งคนแอบหลงตัวเองจะมีอีคิวต่ำ พวกนี้จะคิดว่าตัวเองสุดยอด ไม่ใครดีไปกว่าเราอีกแล้ว และคิดว่าตัวเองรู้จักคนอื่นดีไปหมด ประเมินคนอื่น เชื่อมั่นว่าเขาจะเป็นในแบบที่เราคิด (คือไม่มีใครดีเท่าฉัน) ข้อนี้เป็นอันตรายต่อคนรอบข้างอย่างชัดเจน เพราะการที่มีความคิดเช่นนี้จะทำให้ พวกเขาพยายามที่จะควบคุมคนอื่น "วัตถุนิยม" คนแอบหลงตัวเองจะให้ความสำคัญกับวัตถุนิยมเป็นอย่างมาก ข้อนี้อาจจะส่งผลต่อตัวพวกเขาเองเสียเป็นส่วนใหญ่ ความที่อยากได้ อยากมี เกินจำเป็น ด้วยคดว่าตนเองสมควรจะได้รับสิ่งเหล่านั้น อาจจะทำให้ตกลงไปในวังวนของการเป็นหนี้สินจนยากจะถอนตัวขึ้น พวกเขาคิดว่าเงินเป็นสิ่งสำคัญ ทำให้บางครั้งก็กลายเป็นคนฟุ่มเฟือย เห็นแก่ตัว เห็นแก่ได้ หรืออาจจะใช้เงินของตัวเองในการผูกใจคนที่พวกเขาชอบ เพื่อที่จะมีอำนาจเหนือคนอื่นเสมอ นอกจากนั้น คนแอบหลงตัวเองยังมักเป็น "คนหัวดื้อ" ชนิดที่หากยืนอยู่ตรงไหนแล้วก็จะไม่ยอมขยับเลยสักนิ้วแม้ว่า โลกจะพังทลายลงมาก็ตาม พวกเขาจะยึดอยู่แต่กับความคิดของตัวเองเท่าที่ทำได้ ที่เป็นเช่นนั้นเพราะนี่เป็นวิธีการทำให้ตัวเองไม่รู้สึกอึดอัด สิ่งสำคัญที่สุดคือการที่พวกเขาจะสามารถได้ทุกอย่างที่ต้องการ และมีอำนาจเหนือคนอื่นในทุกสถานการณ์ เหตุผลหนึ่งที่คนแอบหลงตัวเองไม่เคยขอโทษอย่างจริงใจ และมักมองว่าตัวเองตกเป็นเหยื่ออยู่เสมอ ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะพวกเขาเป็นคนหัวดื้อนี่แหละ "โกหกเก่ง" ข้อนี้ต้องระวังไว้เลย เพราะคนแอบหลงตัวเองจะทำทุกวิถีทางให้ตนเองถูกมองว่าเป็นคนที่เชื่อถือได้ จึงไม่ได้เป็นเรื่องน่าประหลาดใจเลยที่พวกเขาจะโกหกได้มาก ได้บ่อย และก็ทำได้ดีเสียด้วย และเมื่อรวมกับความคิดที่ว่า ฉันเป็นคนน่าสงสาร ฉันเป็นผู้ถูกกระทำ ยิ่งทำให้คนพวกนี้กลายเป็นคนที่อันตราย ยิ่งพวกเขาเริ่มโกหกแล้วได้ผล เขาก็จะทำต่อไป และยิ่งโกหกในเรื่องใหญ่ขึ้นๆ ไปเรื่อยๆ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าคนพวกนี้จะมีเสน่ห์ แต่กลับพบว่าพวกเขา "ล้มเหลวในเรื่องความสัมพันธ์" สาเหตุก็คือคนแอบหลงตัวเองมักจะลืมไปว่าทุกอย่างไม่สามารถชี้นิ้วสั่งได้ดังใจไปหมด และในความสัมพันธ์ที่มีลักษณะของความเป็นผู้ใหญ่ สิ่งสำคัญหนึ่งในนั้นก็คือความรับผิดชอบต่อการกระทำของตัวเอง และความตั้งใจที่จะก้าวไปพร้อมกับผู้อื่น ซึ่งคนประเภทนี้ไม่มีเรื่องพวกนี้ นอกจากนี้ คนแอบหลงตัวเองมักจะทำให้คนรอบข้างรู้สึกผิดซ้ำแล้วซ้ำอีก ทำให้คนไม่อยากเข้าใกล้ แต่พวกเขาเกลียดการถูกทอดทิ้งอยู่ลำพัง สิ่งต่างๆ เหล่านี้ทำให้ความสัมพันธ์มักเดินไปแบบลุ่มๆ ดอนๆ นั่นเอง คนหลงตัวเองจะมีวิธีทำให้คนอื่นสนใจแบบที่ค่อนไปในทางการใช้คำสั่ง แต่คนแอบหลงตัวเองนี่สิเนียนกว่า ด้วยความที่พวกเขาเก็บซ่อนความหลงตัวเองไว้ภายในห่อได้เป็นอย่างดี พวกเขาจะทำให้ได้มาซึ่งความสนใจในทางที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิง แทนที่จะมุ่งไปในแนวแสดงออกว่าตัวเองเลิศแค่ไหน ก็จะมาเป็นแนวว่าโลกช่างโหดร้ายอะไรก็ไม่เป็นใจกับพวกเขาแทน และนี่เป็นเหตุผลที่ทำไมคนพวกนี้ถึงติดโซเชียลมีเดียแบบทุกลมหายใจเข้าออก เพราะเป็นช่องทางที่พวกเขาจะแสดงให้สังคมรู้ให้ได้มาในสิ่งที่ต้องการ และคนประเภทแอบหลงตัวเองก็มักจะชอบคนเพื่อนในโลกออนไลน์มากกว่าเพื่อนในชีวิตจริง เพราะเพื่อนออนไลน์ให้ความสนใจตัวเองอย่างที่ต้องการ