ลานบ้านกลางเมือง / บูรพา โชติช่วง ภาพ: สิริภูมิ ชูวงศ์ตระกูล "ปั้นกายวิภาค ประติมากรรมพระเมรุมาศ รัชกาลที่ 9" ภาพถ่ายงานปั้นกายวิภาคประติมากรรมประดับพระเมรุมาศ งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (ในหลวงรัชกาลที่ 9) ชุดนี้เป็นชุดที่ 3 ที่ตอนนี้ประติมากรสำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร และประติมากรจิตอาสากำลังช่วยกันปั้นรูปต้นแบบ ตกแต่งลายเครื่องทรงต่างๆ ของแต่ละชิ้นงานประติมากรรมที่เหลืออยู่ ได้แก่ พระอินทร์ พระพิฆเนศ ท้าววิรูปักษ์ ท้าววิรุฬหก คชสีห์ สิงห์ ครุฑยืน ครุฑประดับหัวเสา และแท่นฐาน ให้แล้วเสร็จภายในเดือนกรกฎาคมนี้ จากนั้นไปทำพิมพ์ หล่อไฟเบอร์กลาส ลงสี เมื่อทุกอย่างเสร็จกระบวนการตามขั้นตอนดีแล้วนำไปประดับชานชาลาพระเมรุมาศ ท้าววิรูปักษ์ สมควร อุ่มตระกูล ผู้อำนวยการสำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร กล่าวภาพรวมงานปั้นประติมากรรมที่เหลืออยู่ขณะนี้ว่า ขึ้นรูปต้นแบบทุกชิ้นแล้ว โดยองค์มหาเทพ พระอินทร์ อยู่ระหว่างปั้นเก็บรายละเอียดผ้านุ่งและเครื่องทรงต่างๆ ส่วนท้าวจตุโลกบาล ได้แก่ ท้าววิรูปักษ์ และท้าววิรุฬหก ได้ทำการปรับแก้ไขโครงสร้างให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น และอยู่ระหว่างปั้นแต่งเครื่องทรง ด้านงานแท่นฐานพระนารายณ์คืบหน้ากว่า 90% และได้จัดทำพระบาทมาทดลองติดตั้งบนฐาน ส่วนพระพิฆเนศยืน ได้เร่งงานปั้นโครงสร้างให้สมบูรณ์ โดยตั้งเป้างานปั้นประติมากรรมทุกชิ้นจะแล้วเสร็จปลายเดือนกรกฎาคมนี้ สำหรับต้นแบบที่เตรียมทำพิมพ์และหล่อไฟเบอร์กลาสในสัปดาห์หน้า ได้แก่ คชสีห์ สิงห์ และครุฑประดับหัวเสา 2 ขนาด ความสูง 1.75 เมตร และ 1.5 เมตร พระพิฆเนศ ด้าน ประสพสุข รัตน์ใหม่ หัวหน้ากลุ่มงานประติมากรรม เสริมภาพงานปั้นต้นแบบองค์พระพิฆเนศยืน ออกแบบโดยอาจารย์สุดสาคร ชายเสม ว่า ปั้นกายวิภาคคืบหน้าไปแล้วกว่า 80% โดยองค์พระพิฆเนศต้นแบบนี้ มีลักษณะยืนแบบนาฎยลักษณ์ของโขน มี 4 กร อยู่ระหว่างการแต่งรูปทรงสัดส่วน และการทรงตัวให้มีความมั่นคง คาดว่าการปั้นโครงสร้างโดยรวมจะแล้วเสร็จในสัปดาห์นี้ จากนั้นอาจารย์สมชาย ศุภลักษณ์อำไพพร นายช่างศิลปกรรมอาวุโส กลุ่มงานศิลปประยุกต์และเครื่องเคลือบดินเผา จะมาช่วยกำหนดลวดลายและเครื่องประกอบองค์ต่างๆ เช่น ชายไหว สนับเพลา พระภูษา และลักษณะการจัดวางนิ้ว “เนื่องจากการจัดสร้างประติมากรรมพระพิฆเนศในครั้งนี้ จัดสร้างขึ้น 2 องค์ คือ พระพิเนก และ พระพินาย ประดับทางซ้าย และขวา จึงอาจจะพิจารณาว่าจะมีการปั้นขึ้นใหม่อีกองค์ หรืออาจใช้เทคนิคช่างปรับลักษณะท่าทาง ทั้งนี้จะมีการหารือกันอีกครั้ง” ประสพสุข หัวหน้ากลุ่มงานประติมากรรม กล่าว และเน้นว่า “โครงสร้างกายวิภาคของพระพิเนกและพระพินาย ต้องให้ได้สัดส่วนสวยงามตามหลักวิชาการ จากนั้นจะดำเนินการใส่ฉลองพระองค์และเครื่องประดับส่วนต่างๆ ตามที่ อ.สุดสาคร ชายเสม ได้ออกแบบไว้” สำหรับต้นแบบพระพิฆเนศที่นำมาจัดสร้างประติมากรรมประดับพระเมรุมาศ รัชกาลที่ 9 อ.สมชาย ศุภลักษณ์อำไพพร นายช่างศิลปกรรมอาวุโส ได้กล่าวก่อนหน้านี้ “อ.สุดสาคร ชายเสม ผู้ออกแบบ นำรูปแบบส่วนหนึ่งมาจากตราพระพิฆเนศ สัญลักษณ์กรมศิลปากร แต่เปลี่ยนจากลักษณะประทับนั่งเป็นประทับยืน เพื่อมาจัดทำต้นแบบงานประติมากรรมพระพิฆเนศ ติดตั้งชั้นที่ 2 บริเวณสะพานเกริน ชั้นเดียวกับที่มีประติมากรรมครุฑ พระพิฆเนศออกแบบโดยยึดถือตามคติความเชื่อโบราณที่พระพิฆเนศมี 2 องค์ คือ พระพิเนกและพระพินาย ดังบทพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1ที่ว่า 'พระพิเนกนั้นเป็นนิลเอก พระพินายนั้นเป็นนิลขัน' ซึ่งอวตารมาอุบัติเป็นเสนาของพระราม เพื่อช่วยทำสงครามปราบทศกัณฐ์ โดยจะปั้นพระพิฆเนศในลักษณะประทับยืนแบบนาฏยลักษณ์ของโขน พระวรกายใหญ่ สง่างาม มี 4 กร พระหัตถ์แต่ละด้านไม่ได้ถือศาสตราวุธครบ อาจจะพนมกรเพื่อรับเสด็จสู่สรวงสวรรค์ เหมือนประติมากรรมมหาเทพที่ออกแบบพระอิศวรมี 4 กร โดย 2 กรพนมมือ เช่นเดียวกับพระพรหมจะพนมกร อีก 2 กรถืออาวุธ นอกจากนี้ จะมีการออกแบบปั้นเครื่องแต่งกายและเครื่องประดับพระพิฆเนศทั้ง 2 องค์ ให้งดงามลงตัว คนโบราณเชื่อว่า ลูกพระอิศวรที่มีศรีษะเป็นช้าง มี 2 องค์ คือ พระพิเนกและพระพินาย ไม่ใช่พระพิฆเนศปางต่างๆ สำหรับงานพระเมรุมาศครั้งนี้ถือเป็นการออกแบบพิเศษโดยเฉพาะ เพื่อให้พระพิฆเนศสง่างามยิ่งขึ้น โดย 2 องค์ประทับยืน มี 4 กร แต่ละองค์ถืออาวุธหรือสิ่งของต่างกัน โดยต้นแบบพระพิฆเนศโบราณ มีทั้งถือขวาน ถือถ้วยทำด้วยกะโหลก ถือลูกประคำ ถือถ้วยขนมโมทกะ พระวรกายก็มีสีต่างกัน เช่น สีแดง อย่างไรก็ดี การทำงานปั้นพระพิฆเนศจะต้องมีการหารือร่วมกับกลุ่มงานประติมากรรมเพื่อความชัดเจน” (28 พ.ค. 60) การดำเนินงานปั้นขึ้นรูปต้นแบบประติมากรรมประดับพระเมรุมาศครั้งนี้ นอกจากประติมากรช่างสิบหมู่แล้ว ยังได้รับความร่วมมือจากประติมากรจิตอาสาเข้ามาช่วยงาน หนึ่งในช่างปั้นอิสระชาวตรัง พลชกร สิขราภรณ์ ผู้ได้รับมอบหมายปั้นช้างสามเศียรแท่นฐานพระอินทร์ กล่าวว่า “ช้างสามเศียรเอราวัณ ถือเป็นพาหนะของพระอินทร์ จึงออกแบบช้างสามเศียรทั้ง 4 ด้าน มีพวงช่อจำปาประดับลวดลายอย่างกลมกลืน โดยช้างเอราวัณที่ออกแบบจะมีความเป็นร่วมสมัย เป็นช้างอุดมคติที่จัดสร้างขึ้นแบบไทยๆ แต่เหนือจินตนาการ มีความทรงพลัง มีฤทธานุภาพพิเศษกว่าช้างทั่วไป ใส่จินตนาการผสมเข้าไป แต่ยังคงลวดลายไทยเป็นศิลปสมัยรัตนโกสินทร์ในรัชกาลที่ 9” (10 มิ.ย. 60) นอกเหนือจากประติมากรจิตอาสา ยังมีนักศึกษาจากรั้วสถาบันการศึกษาศิลปะและสาขาอื่นๆ เข้ามาช่วยปฏิบัติงาน ทั้งขึ้นโครง ปั้นรูปต้นแบบ ตกแต่งลวดลายเครื่องทรงตามที่ผู้ออกแบบกำหนดไว้ “ทุกส่วนของงานศิลปกรรมและงานประณีตศิลป์ด้านต่างๆ ช่างสิบหมู่ได้รับความร่วมมือจากจิตอาสาเชิงช่าง นักศึกษาฝึกงานเข้ามาช่วยปฏิบัติงานในแต่ละวันกว่า 100 คน ทำให้งานด้านต่างๆ คืบหน้าไปมาก” สมควร อุ่มตระกูล ผอ.สำนักช่างสิบหมู่ กล่าวทิ้งท้าย ส่วนตรงนี้นำภาพมาให้ชมก่อนที่ประติมากรรมทุกชิ้นปั้นกายวิภาค ตกแต่งเครื่องลายประกอบองค์แล้วเสร็จสิ้นเดือนกรกฎาคมนี้ พระอินทร์ ครุฑยืน ครุฑประดับหัวเสา สิงห์