“จิตรกรชำนาญการ”สำนักช่างสิบหมู่เผยแบบพัดรองงานฉลองพระบรมอัฐิ ปักด้วยไหมเงินไหมทองรูปพระโกศทองคำ-ฉัตร 7 ชั้น ประดับเพชร 89 เม็ด สื่อพระชนมายุ ส่วนย่ามงานออกพระเมรุมีตราประจำพระองค์ เมื่อวันที่ 7 ก.ค. 60 นายอัครพล คล่องบัญชี จิตรกรชำนาญการ กลุ่มจิตรกรรม สำนักช่างสิบหมู่ ผู้ออกแบบพัดรองและย่าม เครื่องสังเค็ดถวายพระภิกษุ งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เปิดเผยว่า พัดรองเครื่องสังเค็ดถวายพระภิกษุในงานพระราชพิธีครั้งนี้แบ่งเป็น 3 ประเภท คือ พัดรองงานออกพระเมรุมาศ พัดรองงานฉลองพระบรมอัฐิ พัดจีนและพัดญวณ ซึ่งตนได้รับมอบหมายให้ดำเนินการออกแบบและเขียนแบบพัดรองงานฉลองพระบรมอัฐิ โดยได้ศึกษารูปแบบจากพัดรองที่มีอยู่แล้วและนำมาประยุกต์ออกแบบใหม่ให้มีความร่วมสมัย ด้านหน้าพัดรองตรงกลางปักรูปพระโกศทองคำ เป็นสัญลักษณ์สื่อถึงวันฉลองพระบรมอัฐิ มีฉัตร 7 ชั้นซ้ายและขวา กรอบด้านในพัดรองประดับเพชร 89 เม็ด สื่อพระชนมายุ 89 พรรษา ทั้งยังออกแบบลายเป็นรัศมีทอแสงเปล่งประกายออกมาเปรียบได้ดั่งพระบรมเดชานุภาพของพระองค์ กรอบด้านนอกเป็นลายช่อหางโตใบเทศน์ประดับด้วยเลื่อมสีเงิน ส่วนนมพัดเป็นลายพระราชลัญจกรประจำรัชกาลที่ 9 ตราประจำพระองค์ ใช้เทคนิคกัดกรดโลหะและลงยาสี ด้ามพัดในส่วนคอและปลายเป็นโลหะปิดทอง ตัวด้ามเป็นไม้ ส่วนด้านหลังพัดรอง นมพัดเป็นชื่องานฉลองพระบรมอัฐิ 2560 แสดงให้เห็นว่าเป็นพัดรองที่ใช้งานฉลองพระบรมอัฐิโดยเฉพาะ สำหรับสีพื้นของตัวผ้าพัดรองเป็นสีเหลืองอ่อนหรือสีนวลจันทร์ สื่อถึงวันพระราชสมภพ นอกจากนี้ยังได้ออกแบบย่าม ซึ่งจะถวายพระภิกษุคู่กับพัดรอง หน้าย่ามออกแบบให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน แต่ปรับแต่งลวดลายให้ลงตัวกับย่ามของจริง ลักษณะพิเศษส่วนลายพระราชลัญจกรประจำรัชกาลที่ 9 แทนที่จะปักไหมเหมือนย่ามทั่วไปเปลี่ยนมาเป็นโลหะดุนลงยาสีเพื่อให้ล้อกับพัดรอง ขณะนี้ได้ส่งแบบพัดรองและย่ามให้สำนักพระราชวังดำเนินการจัดสร้างตามจำนวนที่กำหนด ต้องติดตามความคืบหน้าในการจัดสร้างเครื่องสังเค็ดดังกล่าวให้ตรงตามแบบ “การออกแบบพัดรองงานฉลองพระบรมอัฐิครั้งนี้ จะมีรูปพระโกศตรงกลางตามแบบแผนมาแต่โบราณ เป็นสัญลักษณ์บ่งบอกงานออกพระเมรุมาศ แต่ผมได้ใช้ลายไทยชั้นสูงประกอบกัน เพื่อเสริมให้พระโกศมีความโดดเด่นมากยิ่งขึ้น พัดสังเค็ดนี้ใช้เทคนิคปักไหมเงิน ไหมทอง เดินเส้นคัดลายด้วยไหมทองแดง ประดับด้วยเพชร 89 เม็ด เป็นการนำวัสดุและเทคนิควิธีการใหม่ๆ ในปัจจุบันมาใช้จัดทำเพื่อให้พัดรองมีความงดงามและสมพระเกียรติ ในงานพระราชพิธีจะถวายให้พระสงฆ์ ถือเป็นสิ่งของที่ใช้ในการทำบุญ" นายอัครพล จิตรกรชำนาญการ กล่าว