ความเคลื่อนไหวขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และประชาชนในจังหวัดนครราชสีมา หลังพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้มาตรา 44 เร่งรัดดำเนินการโครงการรถไฟความเร็วสูง เส้นทาง กรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา ได้สร้างความดีใจให้กับทุกภาคส่วนที่เฝ้ารอความจริงมาหลายรัฐบาล
แต่บทสรุปการประชาพิจารณ์ ซึ่งดำเนินการสำนักงานนโยบาย และแผนการขนส่ง และจราจร (สนข.) กำหนดรูปแบบการก่อสร้างโครงการรถไฟทางคู่ ขอนแก่น-ชุมทางถนนจิระ-มาบกะเบา ช่วงเส้นทางผ่านจังหวัดนครราชสีมา เป็นทางรถไฟบนดินสร้างคู่ขนานกับทางรถไฟเดิม เพื่อความปลอดภัยและความรวดเร็วในการเดินทางระบบราง ต้องปิดจุดตัดถนนข้ามทางรถไฟ ซึ่งมีเครื่องกั้นควบคุมการเปิดปิดด้วยมนุษย์และอัตโนมัติ โดยสร้างทางต่างระดับในรูปแบบสะพานข้ามและเกือกม้าตามที่กำหนดไว้ในบางจุด ทำให้ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่ในอนาคตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงมีกระแสเคลื่อนไหวทั้งติดป้ายไวนิล กลุ่มเว็ปเพจเปิดให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นรวมทั้งผู้บริหาร อปท. ตัวแทนเอกชนและผู้นำชุมชนนัดรวมตัวยื่นหนังสือผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อขอให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ฐานะเจ้าของโครงการ ฯ ทบทวนพิจารณารูปแบบทางรถไฟช่วงผ่านเมืองโคราช เป็นทางยกระดับ
นายวิเชียร จันทรโณทัย ผวจ.นครราชสีมา กล่าวว่า ข้อสรุปในการประชุมคณะกรรมการภาครัฐและเอกชน เพื่อพัฒนาและแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจจังหวัดนครราชสีมา (กรอ.) ครั้งที่ 3/2560 ได้พิจารณาเรื่องการออกแบบเส้นทางรถไฟทางคู่ฯ โดยมีมติขอความอนุเคราะห์ รฟท. กระทรวงคมนาคม ,รมว.มหาดไทย,แม่ทัพภาคที่ 2 และเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ให้พิจารณาแก้ไขรูปแบบก่อสร้างโครงการรถไฟทางคู่ช่วงผ่านพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา เดิมแนวราบให้เป็นทางยกระดับ โดยมีเหตุผลสนับสนุนดังนี้ 1.รูปแบบที่กำหนดไว้ จะส่งผลต่อการสัญจรรวมถึงวิถีชีวิตในชุมชนรอบด้าน 2.ในอนาคตส่วนราชการ อปท. จำเป็นต้องตั้งงบก่อสร้างทางยกระดับ เพื่อข้ามทางรถไฟหลายจุด ทำให้สิ้นเปลือง 3.หากทางรถไฟยกระดับ จะสามารถกำหนดแผนงานโครงการก่อสร้างเส้นทางเชื่อมโยงเครือข่ายการจราจร รวมถึงระบบระบายน้ำในท้องถิ่นได้สะดวก
อย่างไรก็ตาม รฟท. มีหลักการและเหตุผลทางวิศวกรรมในการกำหนอดรูปแบบทางรถไฟบนดิน แต่ประชาชนชาวโคราช ก็มีเหตุผลความต้องการและผลกระทบด้านต่างๆ เช่นกัน มิเช่นนั้นในอนาคตอาจเกิดปัญหาจราจร การพัฒนาเจริญเติบโตของเมือง รวมทั้งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในท้องถิ่น รัฐบาลและ รฟท. ควรลงทุนก่อสร้างทางยกระดับ แม้มีมูลค่ามหาศาล แต่มีความคุ้มค่าและไม่ก่อให้เกิดปัญหาตามมาในระยะยาว จึงขอให้เข้าใจปัญหาและกรุณานำประเด็นนี้ไปพิจารณาทบทวนอีกครั้ง เนื่องจากการดำเนินโครงการฯ ยังไม่ถึงขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้างสามารถปรับเปลี่ยนแบบได้ เช่นโครงการมอเตอร์เวย์ แม้นผ่านการประชาพิจารณ์จนถึงขั้นตอนทำสัญญาแล้ว ยังสามารถปรับเปลี่ยนแบบแก้ไขได้ตามข้อเรียกร้องของประชาชนในพื้นที่ อ.ปากช่อง ที่ผ่านมาชาวโคราช ยังไม่ทราบรูปแบบโครงการ ฯ ที่ชัดเจน รวมทั้ง รฟท. ก็ไม่ทราบข้อมูลผลกระทบของคนในพื้นที่ เมื่อทุกฝ่ายรับฟังประสานข้อมูลเหตุผลความต้องการที่แท้จริงแล้ว น่าจะมีทิศทางที่ดีในการร่วมกันแก้ไขปัญหา
นายสุรวุฒิ เชิดชัย นายกเทศมนตรีนครนครราชสีมา กล่าวว่า ตามที่นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ รักษาการผู้ว่า รฟท. ระบุหากปรับเปลี่ยนรูปแบบยกระดับรถไฟทางคู่ จะส่งผลกระทบต่อโครงการรถไฟความเร็วสูงล่าช้า โดยชี้แจงเหตุผลสถานีรถไฟนครราชสีมา เป็นศูนย์ซ่อมบำรุงทำให้ต้องเพิ่มงบก่อสร้างหลายพันล้านบาท แต่สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) นำเสนอรูปแบบการทำประชาพิจารณ์โครงการรถไฟความเร็วสูง เมื่อปีที่ผ่านมา กำหนดให้ศูนย์ซ่อมบำรุงเบารถไฟความเร็วสูง ก่อสร้างบนที่ดินแห่งใหม่ที่ ต.โคกกรวด อ.เมือง รวมทั้งเส้นทางรถไฟทางคู่ยกระดับใช้ร่วมกับเส้นทางรถไฟความเร็วสูง สามารถดำเนินการให้เกิดความสอดคล้องกันง่าย เนื่องจากใช้ตอม่อร่วมกันเพียงแต่แบ่งความสูงคนละชั้น ซึ่ง รฟท. เพิ่มงบก่อนสร้างเฉลี่ยไม่ถึง 15 % ของมูลค่าของทั้ง 2 โครงการ รวมกันกว่า 5 หมื่นล้านบาท โดยย้ายศูนย์ซ่อมเดิมที่สถานีรถไฟนครราชสีมา ไปที่ ต.โคกกรวด รวมกับศูนย์ซ่อมรถไฟความเร็วสูง จะสามารถยกระดับชีวิตคนโคราชได้อย่างยั่งยืน รวมทั้งสามารถใช้ประโยชน์ใต้ทางรถไฟทั้งเพิ่มเส้นทางจราจรแก้ปัญหาน้ำท่วมได้เป็นรูปธรรม และตรงความต้องการของชาวโคราช จะไม่ต้องถูกแบ่งเมืองเป็นสองฝั่งด้วยรั้วกั้น ความเสียหายจะเกิดขึ้นในอนาคต ถ้าทางรถไฟผ่านเมืองไม่ยกระดับ
นายอำพร มณีกรรณ์ นายกเทศมนตรีตำบลโพธิ์กลาง อ.เมือง จ.นครราชสีมา กล่าวว่า ทต.โพธิ์กลาง เป็น อปท.ที่มีพื้นที่ใหญ่ที่สุดใน อ.เมือง มีประชากรกว่า 4 หมื่นคน หากทางรถไฟไม่ยกระดับผ่าน ทต.โพธิ์กลาง และ อปท.ด้านทิศใต้ จะต้องถูกแบ่งออกโดยมีทางรถไฟกั้นกลาง รวมทั้งการขนส่งขยะมูลฝอยจาก อปท. 34 แห่ง นำเข้ามาทิ้งในบ่อขยะ ในเขต ต.โพธิ์กลาง ต้องสูญเสียพลังงานเชื้อเพลิงและผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ กระบวนการประชาพิจารณ์ สนข.ไม่ให้ความสำคัญ กับการแสดงความคิดเห็นทักท้วง ตนในฐานะเป็นผู้บริหาร อปท.ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ขอให้หัวหน้า คสช. พิจารณาออกคำสั่งปรับเปลี่ยนรูปแบบโครงการรถไฟทางคู่ ให้เป็นทางยกระดับ จะสร้างคุณูปการให้กับชาวโคราช พวกเราจะรำลึกความดีของท่านจนชั่วลูกชั่วหลาน
นายปรีชา จันทรรวงทอง นายกเทศมนตรีเมืองสีคิ้ว อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา กล่าวว่า การปิดจุดตัดข้ามทางรถไฟถนนชุมค้าเขต ทม.สีคิ้ว ซึ่งเปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่ เนื่องจากตัวเมืองจะถูกแบ่งแยกเป็นสองฝั่ง ในละแวกใกล้เคียงเป็นที่ตั้งของศูนย์ราชการ สถาบันการเงิน สถานีตำรวจสีคิ้ว โรงเรียนประถมและมัธยมศึกษาขนาดใหญ่ รวมทั้งเป็นย่านการค้าสำคัญ ทำให้ประชากรทั้งอำเภอจำนวนกว่าแสนคน ประสบปัญหาคุณภาพชีวิตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ขณะนี้ ชาว อ.สีคิ้ว ที่ทราบรูปแบบการก่อสร้างโครงการ ฯ พากันหวั่นวิตกพร้อมวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง จุดยืนพวกเรามิได้คัดค้างหรือต้องการถ่วงความเจริญ แต่ขอให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ฐานะเจ้าของโครงการ ฯ ทบทวนพิจารณารูปแบบทางรถไฟช่วงผ่านตัวอำเภอ เป็นทางยกระดับ ทม.สีคิ้ว
นายชัชวาล วงศ์จร ประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า รูปแบบโครงการ ที่มีกำแพงสูง 2 เมตร กั้นสองข้างทาง จะส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิต เศรษฐกิจ ทำให้การสัญจรไปมาหาสู่ยากลำบาก สิ้นเปลืองเชื้อเพลิงและความเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุ ภาคเอกชนและชาวโคราช ต้องการก่อสร้างรูปแบบทางรถไฟยกระดับ จึงขอความอนุเคราะห์ให้ผู้มีอำนาจในบ้านนี้ ช่วยประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผลักดันข้อเสนอ ความคิดเห็นและสนับสนุนให้ก่อสร้างทางรถไฟยกระดับช่วงผ่านเมือง สามารถใช้ประโยชน์พื้นที่ด้านล่าง โดยสร้างช่องทางจราจรขนาด 4 เลน เพิ่มอีก 1 เส้นทาง รวมทั้งเพิ่มท่อระบายน้ำลงลำตะคอง ตามแผนแก้ไขปัญหาน้ำท่วมเขตเมือง
กระบวนการประชาพิจารณ์ ทำเพียงสอบถามความคิดเห็นกับชาวโคราช ว่าต้องการรถไฟทางคู่หรือไม่ ซึ่งเรายินดีที่จะเกิดการพัฒนาด้านคมนาคม แต่ไม่ทราบข้อมูลความจริงของรูปแบบการก่อสร้าง รวมทั้งรูปแบบเส้นทางรถไฟความเร็วสูง หากทราบเป็นรูปแบบดังกล่าว คงไม่ยินยอมให้ก่อสร้างอย่างแน่นอน อย่างไรก็ตามขอให้ผู้เกี่ยวข้องและชาวโคราช ร่วมปรึกษาหารือเกี่ยวกับรูปแบบการก่อสร้างให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อให้ทุกยอมรับและส่งผลกระทบน้อยที่สุด
นายประพิศ นวมโคกสูง ที่ปรึกษากรรมการชุมชนในเขตเมืองนครราชสีมา กล่าวว่า จากการลงพื้นที่พูดคุยกับผู้นำชุมชนและชาวบ้านที่มีบ้านพักและที่ทำกินในละแวกใกล้เคียงทางรถไฟ เมื่อทราบรูปแบบโครงการ ฯ ช่วงผ่านตัวเมือง นครราชสีมา รวมระยะทางประมาณ 25 กิโลเมตร ตลอดแนวทางรถไฟบนดิน จะมีรั้วกันสูง 2 เมตร ทำให้การพัฒนาพื้นที่ข้างทางรถไฟต้องชะงักทันที 15 จุดตัดถนนทางข้ามรถไฟที่เคยข้ามได้ จำนวน 8 จุด จะต้องถูกปิดทิ้งถาวร ต้องใช้ทางต่างระดับทั้งสะพานและเกือกม้าข้ามทางรถไฟที่กำหนดไว้แทน ซึ่งมีตัวอย่างที่ทำให้ธุรกิจการค้าต้องเลิกล้มกิจการคือสะพานข้ามทางรถไฟหัวทะเล เขตติดต่อระหว่าง ทน. ฯ กับเทศบาลตำบล (ทต.) หัวทะเล
การปิดจุดถนนทางข้ามข้างจวนผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาและทางข้ามห้าแยกการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) จังหวัดนครราชสีมา เพื่อใช้สะพานข้ามทางรถไฟแทน จะส่งผลกระทบต่อการสัญจรบนเส้นทางยุทธศาสตร์เชื่อมต่อกองทัพภาคที่ 2 ค่ายสุรนารี กองบิน 1 และ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ขนาดใหญ่ และวิถีชีวิตชาวบ้านโดยเฉพาะพ่อค้าแม่ขายที่ต้องเข็นรถขายของหรือใช้รถซาเล้งและรถจักรยานยนต์พ่วงข้าง การจูงม้าแข่งจำนวนนับร้อยตัวต่อวันต้องข้ามทางรถไฟซอยหลังวัดหนองบัวรอง เพื่อไปฝึกซ้อมที่สนามม้าค่ายสุรนารี และการใช้จักรยานปั่นที่กำลังนิยมกันในกลุ่มรักสุขภาพ จึงขอให้ผู้มีอำนาจที่มองมิติด้านเดียว ควรมองมิติชีวิตความเป็นอยู่ของชาวโคราชด้วย
นายทวิสันต์ โลณานุรักษ์ อดีตเลขาธิการหอการค้าภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ฐานะผู้ประสานงานเครือข่ายภาคธุรกิจจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า เหตุผลที่ชาวโคราช ยังติดใจสงสัย รฟท. เจ้าของโครงการ ต้องตอบคำถาม “ ทำไมเส้นทางช่วงผ่านจังหวัดขอนแก่น เดิมกำหนดรูปแบบทางรถไฟบนดิน แต่เมื่อแสดงความคิดเห็นคัดค้าน สามารถเปลี่ยนเป็นทางรถไฟยกระดับได้ หากอ้างกระบวนการผ่านประชาพิจารณ์แล้ว ก็ไม่สมเหตุสมผล หลายโครงการ ผ่านขั้นตอนนี้ก็สามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบได้ตามความเหมาะสม ดังนั้นถ้าขอนแก่นไม่ยกระดับโคราชไม่ยก พวกเราก็ไม่ข้องใจ แต่ขอนแก่นได้ทางรถไฟยกระดับโคราชบนดิน นี้คือสองมาตรฐานในการกำหนดรูปแบบ
นายไพรัตน์ แซ่อือ พ่อค้าตลาดสีคิ้ว แสดงความคิดเห็นว่า ท่านเคยมองเห็นคนสีคิ้ว มีค่าหรือไม่ เหตุผลพวกเรามีเพียงพอไม่ได้สร้างความปั่นป่วนให้สิ้นเปลืองงบประมาณแผ่นดิน เมื่อได้รับความเดือดร้อนจึงจำเป็นต้องขอร้อง หากไม่ดำเนินการก่อสร้างยกระดับ ความหายนะเกิดขึ้นกับคนสีคิ้วอย่างแน่นอน ผลกระทบไม่ใช่แค่การสัญจร ยังส่งผลต่อเศรษฐกิจ รวมทั้งนักเรียน นักศึกษาต้องยากลำบากมากขึ้น สนข.ชี้แจงเหตุผลอ้างสิ้นเปลืองงบประมาณ ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มกิโลเมตรละ 1 พันล้านบาท ชาวสีคิ้วไม่ได้ร้องขอให้พวกคุณมาสร้าง ส่วนรูปแบบทางข้ามเกือกม้า จะเป็นการผ่าอกเมืองสีคิ้วเป็นสองฝั่ง ขอให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โปรดเห็นใจพวกเราด้วย
พันเอกเสมอ พงมา นายกสมาคมชุมชนเขต ทน.นครราชสีมา กล่าวว่า มีชาวบ้านได้รับผลกระทบจำนวน 12 ชุมชน 414 หลังคาเรือน ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนจนเมือง จนถึงขณะนี้ยังไม่มีคำตอบชัดเจนถึงการเยียวยาความเดือดร้อน ทำให้พวกเขาวิตกกังวลถึงปัญหาที่อยู่อาศัยในอนาคต หากถูกเวนคืนที่ดิน จึงไม่อาจนิ่งเฉย นัดรวมตัวเคลื่อนไหวให้ถึงที่สุด ขอให้ผู้มีอำนาจพิจารณาเปลี่ยนรูปแบบเป็นทางรถไฟยกระดับ เพื่อให้ชาวบ้านสามารถเดินทางสัญจรใต้ทางรถไฟได้ดั่งเดิม