วันที่19ตุลาคม 2563 ที่ศาลากลางจังหวัดตรัง นายขจรศักดิ์ เจริญโสภา ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง กล่าวถึงสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย น้ำป่าไหลหลากและดินถล่มในพื้นที่จังหวัดตรัง มีอำเภอที่ได้รับผลกระทบ 9 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองตรัง ห้วยยอด วังวิเศษ นาโยง ย่านตาขาว ปะเหลียน กันตัง สิเกา และอำเภอหาดสำราญ อำเภอที่เกิดสถานการณ์วาตภัย 2 อำเภอ คือ อำเภอหาดสำราญและอำเภอห้วยยอด ส่วนอำเภอที่ยังมีสถานการณ์อุทกภัย มี 2 อำเภอ คือ อำเภอเมืองตรังและอำเภอกันตัง และอำเภอที่เข้าสู่ภาวะปกติมี 7 อำเภอ คือ อำเภอห้วยยอด นาโยง ย่านตาขาว ปะเหลียน สิเกา หาดสำราญ และอำเภอวังวิเศษ
นายขจรศักดิ์ กล่าวอีกว่า จากสถานการณ์อุทกภัยที่ผ่านมา ทางจังหวัดพร้อมด้วยทางชลประทานในมีการให้ความช่วยเหลือในเบื้องต้น โดยโครงการชลประทานตรังได้ทิ้งกล่องเคเบี้ยนจำนวน 900 กล่องเพื่อชะลอการไหลของน้ำ บริเวณคันดินที่ชำรุดเนื่องจากน้ำกัดเซาะพื้นที่ หมู่ที่ 1 ต.หนองตรุด อ.เมืองตรัง พร้อมทั้งในส่วนเครื่องจักรกล ได้เริ่มเดินเครื่องสูบน้ำขนาด 8 นิ้ว จำนวน 3 เครื่องเพื่อสูบน้ำบริเวณ ทรบ.ต่อยไห ต.นาท่ามใต้ อ.เมืองตรัง และอีก 2 เครื่อง สูบน้ำ ณ วัดประสิทธิชัย (วัดท่าจีน) ต.ทับเที่ยง อ.เมืองตรัง
"แต่อย่างไรก็ตามทุกหน่วยก็ต้องติดตามสถานการณ์ในเรื่องการพยากรณ์อากาศทางกรมอุตุนิยมวิทยา ในเรื่องของเหตุการณ์น้ำท่วมซึ่งสถานการณ์ในภาพรวมที่ได้รายงานมีน้ำท่วมทั้ง 9 อำเภอ ขณะนี้ได้รับแจ้งจากทางป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยว่าส่วนใหญ่น้ำเริ่มลด และเริ่มกลับเข้าสู่สภาวะปกติ ยังเหลือเฉพาะบางอำเภอที่ยังมีน้ำท่วมขังในบางพื้นที่ที่เป็นลุ่มต่ำ ที่ท่วมซ้ำซากก็มี อำเภอเมืองและอำเภอกันตัง"นายขจรศักดิ์ กล่าว
นายขจรศักดิ์ กล่าวอีกว่า ความเสียหายต่อชีวิตร่างกาย ทรัพย์สิน บ้านเรือน พื้นที่การเกษตร ประมง ปศุสัตว์ สิ่งสาธารณประโยชน์และขณะนี้ภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินดังกล่าวยังไม่ยุติ เนื่องจากมีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติโดยเร่งด่วนจึงไม่สามารถประชุม ก.ช.ภ.จ.จังหวัดตรังได้ทันท่วงที อีกทั้งความเสียหายที่เกิดขึ้นเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กระทรวงการคลังกำหนด อาศัยอำนาจตามข้อ 20 วรรคท้าย ตามระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินพ. ศ. 2562 ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง จึงประกาศให้ พื้นที่ดังกล่าวข้างต้น เป็นเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน เพื่อให้ส่วนราชการหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กระทรวงการคลังกำหนด ทั้งนี้ ต้องไม่เกิน 3 เดือนนับแต่วันที่เกิดภัย