เรื่อง : ปาริชาติ เฉลิมศรี หมายเหตุ : "สยามรัฐ" ได้สัมภาษณ์ นักวิชาการ ทั้งในด้านรัฐศาสตร์ ด้านนิติศาสตร์ เพื่อร่วมกันวิเคราะห์ถึงการชุมนุมเคลื่อนไหวของ ผู้ชุมนุมที่ใช้ชื่อ "คณะราษฎร 2563" จัดการชุมนุมอย่างต่อเนื่องทั้งในกทม.และต่างจังหวัด เพื่อต่อต้านเผด็จการ ขับไล่นายกรัฐมนตรี ซึ่งถือเป็นการชุมนุมครั้งใหญ่ในรอบ 6 ปีหลังการรัฐประหารเมื่อปี 2557 การชุมนุมครั้งนี้ถูกจับตาทั้งในและต่างประเทศว่าที่สุดแล้ว รัฐบาลจะบริหารสถานการณ์ทางการเมืองที่กำลังร้อนแรงอย่างไร และจะมีทางออกจากวิกฤตได้หรือไม่ คมสัน โพธิ์คง อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต สำหรับผมการชุมนุมขณะนี้ก็ไม่ได้เห็นด้วยกับเด็ก และไม่ได้หมายความว่าอยากให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาอยู่ จะเรียกว่าอยู่ตรงกลางก็ไม่เชิง จะไม่กลางก็ไม่ใช่ แต่เป็นพวกที่มีวิธีคิดไม่เหมือนเขาซึ่งก็มีคนแบบนี้หลายคน พัฒนาการของม็อบคณะราษฎร หากจะให้ดูการพัฒนา ของในวันนี้ คงยังดูไม่ได้เพราะเพิ่งเริ่มได้เพียงไม่กี่วันสำหรับการดาวกระจายของม็อบ ซึ่งไม่ใช่เรื่องใหม่ อย่างการชุมนุมกปปส.ที่ผ่านมาก็ทำ ซึ่งกปปส.มีรูปแบบในการจัดการ เป็นมีองค์กรภายใน เป็นระบบ รวมถึงการชุมนุมของกปปส. จัดชุมนุมในสถานที่ของเขา และเคลื่อนไปทำที่ต่างๆ ไม่ได้หยุดนิ่ง แต่ม็อบวันนี้ไม่มีตัวองค์กร แกนนำก็โดนจับและลดลงไปเรื่อยๆ หากสังเกตให้ดีตอนม็อบกกปส.แกนนำไม่ได้ถูกจับเลยยกเว้นมอบตัว แล้วไปจัดการชุมนุมดาวกระจายก็จะยิ่งทำให้เหนื่อย แตกมวลชน แตกแกนนำ ไปตามที่ต่างๆ แกนนำก็จะถูกจับเพราะออกนอกกลุ่มตัวเอง การชุมนุมวันนี้ไม่สามารถไปที่ใดที่หนึ่งได้ เพราะยุทธศาสตร์ไม่ชัดเจน อย่างการไปชุมนุมปิดล้อมที่ทำเนียบรัฐบาลเขาก็ไม่ให้เข้า ก็ต้องย้ายที่เพื่อหลีกเลี่ยงการปะทะ เมื่อไปชุมนุมที่ราชประสงค์ก็มีปัญหาเรื่องการจราจร ซึ่งรัฐบาลก็มีความชอบธรรมในการจัดการม็อบ เนื่องจากการชุมนุมวันที่ 14 ตุลาคมที่มีการล้อมขบวนเสด็จ และเรื่องการใช้ถนนที่ทำให้การจราจรติดขัดก็ทำให้รัฐบาลจัดการได้ง่าย การจัดการม็อบจะทำอย่างไรก็ตาม แต่สมรภูมิที่ชี้ขาดคือพื้นที่กรุงเทพฯ การจัดม็อบที่อื่นๆนั้นเพื่อให้เป็นข่าวเฉยๆ ซึ่งชาวบ้านจะไม่ได้ให้ความสนใจมาก หากการชุมนุมในพื้นที่กรุงเทพฯ สามารถสู้เคลื่อนไหวต่อเนื่องได้ ยันอำนาจรัฐได้ ยันตำรวจทหารได้ โดยที่รัฐไม่สามารถทำอะไรได้ ก็ถือว่ามีชัยในระดับหนึ่งและโอกาสที่จะชนะก็มี ถึงแม้จะไม่มากเพราะมีปัจจัยอื่นเข้ามาแทรกแซง ทางออกของรัฐบาลและม็อบ จะออกมาอย่างไร ทางออกมีไม่เยอะ เพราะความต้องการของม็อบเกินกว่าที่จะมีการประนีประนอม เช่นประเด็นเรื่องสถาบัน ส่วนเรื่องประเด็นที่จะให้นายกฯ ลาออก ไปปิดประตูตายไม่ให้เขามีทางออกก็วนกันอยู่ตรงนั้น ข้อเสนอการปฏิรูปของม็อบไม่มีฐานวิชาการ มีแต่ฐานเรื่องความคิดหลักประชาธิปไตย อะไรก็ไปเรื่องเลือกตั้งใหม่ ซึ่งไม่รู้ว่าพื้นฐานการเลือกตั้งเป็นอย่างไร ฉะนั้นข้อเสนอของม็อบค่อนข้างทำได้ยากในทางปฏิบัติ ส่วนข้อเสนอให้มีการยุบสภาแต่ให้แก้รัฐธรรมนูญ ก็ดูว่าย้อนแย้งเพราะหากจะแก้รัฐธรรมนูญก็จะต้องมีสภาฯก่อน ส่วนในประเด็นเรื่องของการประนีประนอมนั้น ฝ่ายต่อต้านต้องไปคุยกันก่อนว่าข้อเสนอของคุณเป็นไปได้แค่ไหน เมื่อได้แล้วก็มาจัดสถานที่คุยกันว่าเรื่องไหนได้ เรื่องไหนไม่ได้ ถ้าบอกว่าไม่ได้ก็ต้องตัดสินใจว่าจะอยู่ต่อหรือจะหยุด แต่หากดันข้อเสนอแล้วไม่มีทางออกก็ไม่มีอะไรที่จะไปแก้ไขเปลี่ยนแปลง นอกจากการปะทะกันไปเรื่อยๆ ยุทธพร อิสรชัย อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช การพัฒนาของม็อบในการชุมนุมแบบจุดเดียวไปเป็นการชุมนุมแบบดาวกระจาย ยุทธวิธีของม็อบครั้งนี้มีการเปลี่ยนแปลง ไม่เหมือนกับอดีตในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เราจะเห็นว่าตลอด2-3 เดือนที่ผ่านมายุทธวิธีของม็อบจะชุมนุมโดยไม่ได้เน้นการปักหลักพักค้าง ไม่ได้เน้นการชุมนุมที่จะต้องมีการบริหารจัดการต่างๆภายในม็อบ จึงจำเป็นจะต้องมีวิธีการบริหารจัดการสถานการณ์ที่ไม่เหมือนเดิม ในทางกลับกันเราได้เห็น การจัดการสถานการณ์ต่างๆของเจ้าหน้าที่รัฐในลักษณะแบบเดิมเช่น การจับกุมแกนนำ การใช้กำลังสลายม็อบ การใช้กฎหมายสิ่งเหล่านี้อาจจะไม่สามารถแก้ปัญหาหรือจัดการกับการชุมนุมในลักษณะดังกล่าวได้ ซึ่งตัวผู้ชุมนุมเองก็ได้มีการปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ ปรับยุทธวิธีตลอดเวลา ทั้งเรื่องของสถานที่ชุมนุม และระยะเวลาในการชุมนุม สะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของการเมืองแบบมวลชนในปัจจุบัน การใช้รูปแบบดาวกระจายของม็อบ จะสามารถสื่อสารไปถึงรัฐบาลได้มากกว่าการชุมนุมแบบจุดเดียว ความสำเร็จของการชุมนุมไม่ได้ขึ้นอยู่กับที่การชุมนุมนั้นไปปักหลักพักค้างเหมือนกับในอดีต ความสำเร็จของการชุมนุมไม่ได้เกิดขึ้น ณ จุดนั้นจุดเดียว แต่เกิดขึ้นจากการชุมนุมอย่างต่อเนื่อง การชุมนุมที่มีลักษณะของการเคลื่อนไหวที่กระจายออกไปในส่วนต่างๆ ดังนั้นจึงไม่ใช่คำตอบว่าความสำเร็จของการชุมนุมต้องเกิดขึ้นจากการรวมกลุ่มขนาดใหญ่แล้วต้องปักหลักพักค้างเท่านั้น แต่มีวิธีการอื่นยุทธวิธีต่างๆอีกมากมาย ซึ่งระยะสั้นอาจจะยังไม่เห็นผลการเปลี่ยนแปลงอะไรต่างๆ แต่ในระยะยาวก็มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดผลในการทำงานของรัฐบาล แม้กระทั่งผลทางเศรษฐกิจที่จะเป็นโดมิโนกลับมาสู่ทางการเมืองด้วย แกนนำส่วนใหญ่ถูกจับกุมไปแล้ว ม็อบจะสามารถอยู่ได้อีกนานหรือไม่ วันนี้เรื่องของการเมืองแบบมวลชนไม่จำเป็นจะต้องอาศัยแกนนำแล้ว เพราะเป็นการเมืองที่เรียกว่ามวลชนาธิปไตย คือการเมืองที่มวลชนเคลื่อนไหวเข้าสู่อำนาจโดยไม่ต้องมีแกนนำ ไม่ได้สนใจเรื่องกฎหมายหรือการปราบปรามของเจ้าหน้าที่รัฐ ฉะนั้นจึงไม่จำเป็นจะต้องไปอ้างอิงกับการมีแกนนำสำหรับการเคลื่อนไหวในลักษณะนี้ เป็นการเคลื่อนไหวกันเองของบรรดากลุ่มผู้ชุมนุม มีการใช้เครื่องมือสมัยใหม่ อย่างโซเชียลมีเดียสื่อสารหรือการเคลื่อนไหวในโลกโซเชียลมีเดียต่างๆก็จะเกิดขึ้น ดังนั้นการที่จะมีหรือไม่มีแกนนำจึงไม่ใช่คำตอบในเวลานี้ ส่วนการที่บอกว่า ถ้าไม่มีแกนนำแล้วการเคลื่อนไหวของมวลชนจะหายไปนั้น อยู่ที่ว่ามีกลไกในการแก้ปัญหาต่างๆ ที่จะทำให้บรรดามวลชนเหล่านี้หายไปหรือไม่ บทสรุป ทางออกของรัฐบาลและม็อบคืออะไร ควรที่จะต้องมีกลไกการพูดคุยกันทั้งฝ่ายรัฐบาลและผู้ชุมนุมเช่นการมีเวทีพูดคุยและพื้นที่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะการจัดพื้นที่ให้ประชาชนและทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วม กันอย่างกว้างขวาง ซึ่งเวทีแก้ไขรัฐธรรมนูญจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่างๆ และเป็นพื้นที่ให้ผู้ชุมนุมเข้ามาได้ ตรงนี้น่าจะเป็นทางออกที่ดีในการเดินหน้าหลังจากนี้