“การที่เด็กขนาดนี้เริ่มตระหนักว่าสังคมหรือส่วนรวมเป็นของสำคัญ นับว่าเป็นนิมิตที่ดีของบ้านเมืองเราอันวิทยาการนี้ถึงแม้เราจะมีมันสมอง ด้านที่เรียกว่าบัณฑิต ความรู้ทุกอย่างเหมือนกับเครื่องเทป ที่สอนมาเราบันทึกได้ทุกอย่าง แต่เราไม่มีมันสมองอีกด้านหนึ่ง เรียกว่าไม่เติบโต ต้องตระหนักรู้ว่าถ้าส่วนรวมไม่เป็นสุขเราบุคคลหนึ่งบุคคลใดจะอยู่ได้อย่างไร” พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 พระราชทานแก่นักเรียนจิตรลดา รุ่น 7 พ.ศ.2520 … คือจุดเริ่มต้นประการสำคัญที่สุดของ “ค่ายอาสาจิตรลดา บางสะพาน” ดร.ชนะวัฒน์ บุนนาค ปฏิบัติหน้าที่แทนรองอธิการบดี วิทยาลัยเทคโนโลยีจิตรลดา ได้เริ่มกล่าวถึงจุดเริ่มต้นกิจกรรมค่ายอาสาจิตรลดา บางสะพาน ว่ามีจุดเริ่มต้นจากการน้อมนำพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ใส่เกล้าใส่กระหม่อม ที่พระองค์ทรงต้องการให้เยาวชนรู้จักการเป็น “ผู้ให้” มากกว่าการเป็น “ผู้รับ” ประกอบกับวิทยาลัยฯ เป็นสถานศึกษาที่มีจุดเริ่มต้นจากโรงเรียนจิตรลดา ซึ่งเป็นโรงเรียนที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งขึ้น วิทยาลัยเทคโนโลยีจิตรลดา จึงเปรียบเสมือนเป็น “ลูก” อีกหนึ่งคน ที่มีหน้าที่ในการสืบสานพระราชปณิธานและเจริญตามรอยพระยุคลบาทของ “พ่อ” สิ่งที่พระองค์ทรงเป็นแบบอย่างได้อย่างชัดเจนคือ “การทรงเป็นพระผู้ให้” ตลอด 70 ปี แห่งการครองราชย์ไม่มีแม้แต่วันไหนที่พระองค์ไม่ทรงงาน พระองค์ทรงเป็นห่วงลูกๆของพระองค์เสมอ ทรงสร้างโครงการน้อยใหญ่นับพันโครงการ เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของประชาชน “ให้อาชีพ ให้รายได้ ให้ชีวิตใหม่” โดยไม่หวังสิ่งใดตอบแทน วิทยาลัยฯในฐานะลูกของพระองค์ท่าน จึงขอสืบสานพระราชปณิธาน ผ่าน “โครงการค่ายอาสาจิตรลดา บางสะพาน” เพื่อช่วยเหลือพัฒนาพื้นที่ในอำเภอบางสะพาน และอำเภอบางสะพานน้อย จ.ประจวบคีรีขันธ์ และเพื่อปลูกฝังให้นักศึกษามีจิตสาธารณะ รู้จักการให้ การเสียสละ และการทำงานร่วมกับผู้อื่น นายสัจจาวุฒิ รอดสำราญ หัวหน้าฝ่ายบริหารกิจการนักศึกษา วิทยาลัยเทคโนโลยีจิตรลดา กล่าวว่า ค่ายอาสาจิตรลดา บางสะพาน เป็นการผสานความร่วมมือระหว่างฝ่ายบริหารกิจการนักศึกษา คณะบริหารธุรกิจ และคณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม ลงพื้นที่เพี่อช่วยเหลือฟื้นฟู และพัฒนาสถานศึกษาโรงเรียนบ้านหนองฆ้อง และโรงเรียนบ้านชะม่วง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ประสบปัญหาอุทกภัย เมื่อปลายปี 2559 ทั้งยังขาดแคลนสื่อการเรียนการสอน และยังไม่ได้รับการปรับปรุงอาคารเรียน ระบบไฟฟ้า กิจกรรมเริ่มจากการลงพื้นที่เพื่อสำรวจความต้องการของทั้ง 2 โรงเรียน และลงพื้นที่เพื่อช่วยเหลือฟื้นฟู ใช้เวลาในการดำเนินกิจกรรมรวม 5 วัน โดยนักศึกษาทั้ง 2 คณะได้ร่วมกันสร้างสื่อการเรียนรู้ การปรับปรุงพัฒนาทาสีอาคารเรียน และเครื่องเล่น ตลอดจนปรับปรุงระบบไฟฟ้า ฝ่ายบริหารกิจการนักศึกษารับผิดชอบด้านสวัสดิการ กิจกรรมสัมพันธ์ กีฬาสัมพันธ์ ระหว่างนักศึกษา นักเรียน และชาวบ้านในพื้นที่ พร้อมกันนี้ยังมอบอุปกรณ์การเรียน อุปกรณ์กีฬาให้กับนักเรียนทั้ง 2 โรงเรียนด้วย หลายภาคส่วนเห็นความตั้งใจของนักศึกษา และเห็นประโยชน์ของโครงการ โดยได้มอบเงินสนับสนุนและสิ่งของเครื่องใช้ สำหรับกิจกรรมในครั้งนี้ด้วย ขณะที่ตัวแทนนักศึกษาอย่าง นายภาณุพงศ์ น้อยมี นักศึกษาชั้นปีที่ 1 วิทยาลัยเทคโนโลยีจิตรลดา ที่เข้าร่วมกิจกรรมค่ายอาสาครั้งนี้ กล่าวว่า รู้สึกภาคภูมิใจ และดีใจเป็นอย่างมากที่ได้เข้าร่วมกิจกรรมค่ายอาสาจิตรลดา บางสะพาน ภูมิใจที่ได้ดำเนินรอยตามพระยุคลบาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ได้มีโอกาสเป็นผู้ให้ โดยเฉพาะการช่วยเหลือสถานศึกษาที่เป็นสถานที่สร้างทรัพยากรของชาติให้มีความพร้อมในการให้ความรู้แก่เยาวชน เพื่อที่น้องๆเหล่านี้จะได้เรียนรู้และนำความรู้ไปช่วยเหลือสังคมต่อไป