กรณีเด็ก 4 ขวบทำร้ายเด็กอายุ 1 ขวบ 8 เดือนกลางเนอสเซอรี่ คุณแม่เด็กที่ทำร้ายรู้สึกไม่สบายใจ ว่าทำไมเกิดเหตุแบบนี้ขึ้นได้ เป็นไปได้หรือไม่ว่าเด็ก 4 ขวบไปดูภาพความรุนแรงจากสื่อโซเชียล หรือเกมที่มีความรุนแรง ทำให้มาทำร้ายร่างกายเด็กคนอื่นหรือเปล่า รายการโหนกระแสวันที่ 16 ต.ค. "หนุ่ม กรรชัย กำเนิดพลอย" ในฐานะผู้ดำเนินรายการ ผลิตในนามบริษัท ดีคืนดีวัน จำกัด ออกอากาศทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 12.35 น. ทางช่อง 3 กดเลข 33 เปิดใจสัมภาษณ์ พัชรา สาระผล แม่น้องแชมป์ (นามสมมติ), พิมลศิริ ห่านวิไล คุณอา , ครู้อ้อย นาถลดา เจริญสังข์ ผู้จัดการเนอสเซอรี่ ต้องการมาชี้แจงข้อเท็จจริง รวมทั้ง รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กและวัยรุ่น ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม น้องเป็นไง? พัชรา : "น้องเริ่มกลับมาปกติ เล่นเหมือนเดิม แต่ผวานิดหน่อย" คุณอาเป็นคนเลี้ยง? พิมลศิริ : "คุณยายป็นคนเลี้ยง แต่หลานมาหาบ่อย สนิทกันค่ะ" เอาเหตุการณ์วันนั้น ทำไมอยู่ดีๆ พาน้องแชมป์ไปฝากที่เนอสเซอรี่แห่งนี้? พัชรา : "คือพี่สาวน้องแชมป์เคยเรียนที่นี่ หลานอีกคนก็เรียนที่นี่ด้วย เราเลยไว้ใจ เลยเอาไปฝาก น้องแชมป์เข้าไป 2 ช่วง ช่วงขวบ 1 เดือน น้องไม่สบายก็เอาออกมาก่อน แล้วช่วงที่สองก็เพิ่งเข้าไปได้ 2 สัปดาห์" แม่ทราบได้ไงว่าลูกถูกทำร้ายจากเด็กรุ่นพี่? พัชรา : "มีผู้ปกครองท่านนึง เขาบอกว่าเขาปล่อยผ่านไม่ได้ เขาบอกว่าช่วงบ่ายสามเขาไปรับลูก กำลังจะดูว่าลูกทำอะไรอยู่ เลยดูในกล้องวงจรปิด แล้วบังเอิญเห็น เขาก็ไม่สบายใจ เลยปรึกษากับทางสามีว่าทำยังไงดี เขาเอาคลิปนั้นให้ทางเนอสเซอรี่ แล้วก็ส่งคลิปลงในกลุ่มตอนสองทุ่ม เราก็ตกใจ ไม่คิดว่าจะเกิดกับลูกเรา เพราะเพิ่งเกิดเหตุกับสารสาสน์ ไม่คิดว่าจะโดนกับตัว" เด็กโต 4 ขวบ ลูกคุณแม่ขวบกว่า มีการกระทืบ เห็นภาพตอนแรกเป็นยังไง? พัชรา : "ร้องไห้เลยค่ะ ร้องไห้กับลูก สงสารลูกมาก ลูกไม่มีอาการอะไร แต่จากที่เราเห็นจากคลิป เราเจ็บแทนลูก เราร้องไห้เลย ทีแรกคุณครูเจ้าของเนอสเซอรี่โทรหาคุณพ่อมาขอโทษ เราก็ไม่รู้ว่าเรื่องอะไร แต่พอวางสายแล้วเปิดไลน์ดูก็เจอคลิป คุณพ่อเขาก็รับไม่ได้ คุณพ่อออกจากกลุ่มเลย สงสารลูก ร้องไห้เลย แต่คือลูกเราบอกไม่เป็น พูดไม่ได้" มีร่องรอยบาดแผลมั้ย? พัชรา : "ไม่มีค่ะ แต่น้องมีอาการผวา วันนั้นที่คุณยายไปรับ ช่วง 4 โมงครึ่งพาไปบ้านคุณอา" พิมลศิริ : "ปกติน้องจะวิ่งมาหา มีความสุข แต่เขากลัวเรา ไม่ให้จับ เราก็ถามว่าน้องแชมป์กลัวอะไรลูก เขาเอาแต่คุณยาย ปกติคุณยายเป็นคนเลี้ยง น้องหวาดผวา" เราสงสัยมั้ยว่าเป็นอะไร? พิมลศิริ : "ก็ถามอยู่ว่าเป็นอะไร ทำไมกลัวอา เขาก็ไม่ให้จับ ก็วิ่งเล่นในบ้าน แต่จับเขาไม่ให้จับ วิ่งไปหาคุณยาย" หลังเห็นคลิปแม่ทำยังไง? พัชรา : "ก็ปรึกษากันในบ้านว่าจะทำยังไงดี ตอนแรกก็คิดว่าเรื่องของเด็กเนอะ เด็กไม่รู้เรื่องอะไร ก็เลยโทรคุยกับเจ้าของเนอสเซอรี่ บอกว่าจะไม่เอาเรื่อง เพราะลูกก็ไม่เป็นอะไร แต่หลังจากนั้นอีกวันนึง ประมาณเที่ยง มีผู้ปกครองท่านนึงส่งคลิปมาอีก บอกว่าคุณแม่ดูคลิปยัง เขาบอกคุณแม่ดูนะ ส่งคลิปมาให้ดูสองคลิป" ไม่ได้โดนครั้งเดียว? พัชรา : "ใช่ค่ะ" คลิปแรกถูกตีเข่าและกระทืบที่อยู่กันสองต่อสอง แต่จะมีอีกคลิป น้องอยู่รวมกลุ่มกับเพื่อนๆ เล่นกันอยู่? พัชรา : "พอส่งคลิปอีก 2 คลิปมาเราคุยกับพ่อว่าไม่ไหวแล้ว เราเลยส่งไปไลน์กลุ่มโรงเรียน บอกว่าครูติ้งแบบนี้ไม่ไหวแล้วนะ" น้องโดนกระโดดเหยียบกระทืบจากเด็กคนเดิม? พัชรา : "ค่ะ เป็นวันเดียวกัน เหมือนตามมาแล้วเป็นคลิปนี้" ตรงไม้ลื่นนี่คืออะไร? ครูอ้อย : "เขาเข้าไปทำน้องตั้งแต่ไม้ลื่น ทีแรกน่าจะใช้เข่าตี แล้วน้องหนีลงมาตรงบ้านบอล" แม่เห็นคลิปที่สองทำยังไง? พัชรา : "ตอนนั้นรับไม่ได้แล้วค่ะ ทนไม่ไหว เลยคุยกับพ่อพอทานข้าวเที่ยงเสร็จก็ไปเนอสเซอรี่ อยากคุยเด็กที่ทำ ว่าทำไมทำน้อง เขาบอกว่าหยอกเล่น พอเราถามว่าน้องเจ็บมั้ย เขาก็บอกว่าเขาไม่รู้ พอถามว่าเอามาจากไหน น้องเขาก็ไม่ตอบ ซึม ก็คงกลัว" เข้าใจสองฝั่ง เพราะเด็กกันทั้งคู่ อาจมีพฤติกรรมรุนแรงเพราะเป็นเด็กผู้ชาย ได้คุยกับเจ้าของเนอสเซอรี่มั้ย? พัชรา : "คุยค่ะ เราคุยกันโอเคนะกับเจ้าของเนอสเซอรี่ พัชจะไม่เอาความอะไรเขาเลย เพราะเขาก็เลี้ยงพี่สาวน้องแชมป์มา และหลานเราอีก เราก็รู้ว่าครูติ้งทำงานนี้ด้วยใจจริงๆ แต่ที่พัชเสียใจอย่างหนึ่งคือตอนที่คุณปู่พาเด็ก 4 ขวบมา ไม่มีคำขอโทษจากคุณปู่เขาสักคำ ซึ่งคุณปู่เป็นแฟนเจ้าของเนอสเซอรี่ พัชก็ถามว่าแล้วแบบนี้จะชดใช้ยังไง หรือทำขวัญหลานยังไง เขาก็ไม่ตอบ ไม่พูดอะไร แล้วทางคุณปู่พูดว่าถ้าลูกคุณเล่นกันแบบนี้ขาหักแขนหัก ผมรับผิดชอบแน่นอน เราก็อ้าว แล้วมากระทืบลูกเราแบบนี้จะไม่รับผิดชอบเหรอ คำขอโทษคำเดียวก็ไม่มี" ถ้าขอโทษก็จบแล้ว? พัชรา : "ค่ะ เราก็เลยบอกว่าเสียเวลางาน พัชขอตัวกลับก่อน คุณยายกับคุณอาอยู่เนอสเซอรี่ ไม่รู้คุยอะไรกันต่อ" ตัวแทนเนิร์สเซอรี่ เป็นครู? ครูอ้อย : "เป็นพี่เลี้ยงเด็กค่ะ เราไม่ได้จบครู หลังได้ดูในคลิปที่ให้มาดูวันนั้น ผู้ปกครองส่งมาให้ เราก็ช็อก ทำไมเกิดขึ้นแบบนี้แล้วเราไม่รู้ ณ ตอนนั้น" น้อง 4 ขวบเป็นหลานเจ้าของเนอสเซอรี่ ปกติน้องเป็นแบบนี้มั้ย? ครูอ้อย : "บอกตามตรงว่าไม่เลยค่ะ ที่ดูประวัติน้องมา ไม่เคยเป็นแบบนี้ นี่เป็นครั้งแรก เห็นน้องมาตั้งแต่ขวบกว่าๆ ไม่เคยเห็นมาก่อนเลย" มุมเนอสเซอรี่ดูแลรับผิดชอบยังไง? ครูอ้อย : "เรายอมรับผิดเต็มๆ ว่าเราพลาด ดูแลไม่ทั่วถึงตอนนั้น" พี่เลี้ยงในเนอสเซอรี่ดูกี่คน? ครูอ้อย : "เอาเฉพาะโซนข้างล่างนะคะ เพราะเรามีสองโซฯ โซนที่เกิดเหตุมีครู 2 คน อาบน้ำ 1 คน และใส่เสื้อผ้าให้น้องอีก 1 คน ณ ตอนนั้นเป็นเวลาอาบน้ำให้น้องกันอยู่ อาบเรียบร้อยแล้ว ช่วงน้องจะออกมา น้อง 4 ขวบเขาจะออกมากินไอติม เราก็บอกให้มากินไอติมข้างนอก อย่ากินด้านในเพราะมีน้องอยู่ เดี๋ยวน้องจะขอกินตาม แต่ช่วงที่น้องออกไป ครูคลาดสายตา เพราะมัวแต่ถอดเสื้อผ้าเด็ก ใส่เสื้อผ้าเด็ก เลยไม่ทราบว่าน้องแชมป์เดินตามไป" น้อยไปมั้ยเจ้าหน้าที่? ครูอ้อย : "ณ วันนั้นมีเด็ก 10 คน เจ้าหน้าที่ 2 คน ถามว่าน้อยไหม ถ้าตามกฎกระทรวงที่ให้ไว้ 6 ต่อ 1 ค่ะ" นพ.สุริยเดว : "มันมีอายุอยู่ เนื่องจากเนอสเซอร์รี่รับได้หลากหลายอายุมาก ถ้ามาตรฐาน เด็กปฐมวัยอายุน้อยกว่า 1 ปี หนึ่งต่อสาม เด็ก 3 คนต้องมีครู 1 คน ถ้าอายุระหว่าง 1-2 ปี ก็จะเป็น 1 ต่อ 5 ถ้า 2-3 ปี เป็นหนึ่งต่อสิบ แต่ต้องเข้าใจอย่างนึงเขาใส่สัดส่วนแบบนี้ให้ แต่ขึ้นชื่อว่าความเป็นเนอสเซอรี่ ตามสัดส่วนนี้ไม่ได้ ต้องมีแผนสำรอง ถ้ามีแค่ 3 แต่กำลังทำภารกิจเข้าห้องน้ำ ใครจะดู มันมีเงื่อนไขคำว่าเด็กห้ามคลาดสายตา" คิดว่า 2 คนน่าจะน้อยไป? ครูอ้อย : "จริงๆ เรามีสองคนทำงาน แต่มีครูติ้งอีกคน ซึ่ง ณ ตอนนั้นเขาออกไปรับเด็กอีกคน ถ้าพูดคือเรามีครู 3 คน แต่ครูติ้งออกไปรับน้องข้างนอก แล้วมีแม่บ้าน เขาก็มีหน้าที่ของเขา ไม่ได้หันมาดูตรงนี้ เราก็โทษเขาไม่ได้ ต้องโทษครูเองที่บกพร่องในการดูแลน้องไม่ทั่วถึงว่าน้องจะเดินตามออกไปมั้ย เพราะไม่มีผู้ใหญ่ขวางประตูตรงนั้น เด็กสามารถคลาดสายตาได้" เห็นบ่อยมั้ยเด็กที่มีพฤติกรรมอยู่ร่วมกันแล้วใช้ความรุนแรง? ครูอ้อย : "ถ้าเด็กรุ่นเดียวกันจะไม่มี จะมีแค่แย่งของเล่น รุนแรงแบบนี้จะไม่มี" นพ.สุริยเดว : "อันนี้ผิดวิสัยไปหน่อยนึง แปลก เห็นเองแล้วเสียใจและช็อกด้วยเหมือนกัน แต่ถ้าดูจากวีทีอาร์ จะเห็นว่าตอนเด็กอยู่กันเยอะๆ เราก็ไม่เห็นครูผู้ดูแลเด็ก" ตรงนั้นไปไหน? ครูอ้อย : "ครูอีกท่านจัดของเพื่อเตรียมให้เด็กกลับบ้าน และคุณครูอ้อยนี่แหละเป็นคนที่อยู่ แต่ครูอ้อยเดินไปเอายางกับหวีเพื่อทำผมให้เด็ก" มีสองจังหวะ คลิปแรกการอยู่ตัวตัว อยู่ได้ยังไง? ครูอ้อย : "คิดเองว่าน้องน่าจะเดินตามพี่ออกไป พี่เขาเดินออกไปก่อน น้องน่าจะเดินตามออกไป เพราะนิสัยน้องเป็นคนชอบปลีกตัว จะหลบอยู่ตรงมุม นั่งกินอะไร" มุมคุณแม่และครอบครัวน้องแชมป์ ไม่ได้ติดใจเรื่องเด็กที่ทำร้าย แต่ติดใจครู เนอสเซอรี่ คุณปู่น้อง 4 ขวบที่ไม่ขอโทษ? ครูอ้อย : "เนอสเซอรี่เองก็รู้สึกช็อกและเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พอดูคลิปแล้ว เราเห็นคลิปแล้ว น้องมาตรงนั้น เราพลาดเลยแหละว่าทำไมไม่แจ้งให้คุณยายทราบตอนมารับ ครูอ้อยก็ได้คุยกับทางเจ้าของ เจ้าของบอกว่าเดี๋ยวทางครูติ้งจะแจ้งคุณพ่อเขาทีเดียพร้อมเอาคลิปให้ดู เราไม่ได้ตั้งใจจะปกปิด เพราะปิดไม่ได้อยู่แล้ว เราไม่ได้มีเจตนาจะปกปิด แต่ทางผู้ปกครองได้ส่งให้กับทางคุณแม่" ทำไมไม่มีการขอโทษ? ครูอ้อย : "ครูอ้อยได้ขอโทษค่ะ" พัชรา : "ครูอ้อยและเจ้าของเนอสเซอรี่ขอโทษ แต่วันที่ไปคุยกัน คุณปู่เขามาด้วย และใช้คำพูดไม่ดี" ครูอ้อย : "ณ ตรงนั้นครูอ้อยไม่ได้ยินคุณปู่พูด แต่ได้ยินแค่ว่าขอต่อรองได้มั้ย อะไรอย่างนี้" มีข่าวว่าแม่แจ้งความ? พัชรา : "ไม่ได้แจ้งค่ะ มีบางสื่อบอกว่าไปแจ้งความที่สน.ประเวศ ไม่เป็นความจริง เขตที่เราอยู่สน.อุดมสุข ด้วยค่ะ ไม่เกี่ยวกันเลยค่ะ" เรื่องพฤติกรรมเด็กที่เกิดขึ้น มีหลายแง่มุมที่เข้ามา คุณย่าน้อง 4 ขวบบอกว่าไง? พัชรา : "ติดโทรศัพท์ ดูเกมในยูทูปค่ะ" ไม่ได้เอะอะโทษเกม แต่มีการตั้งข้อสังเกตว่าเกมหรือเปล่า ไปดูสื่อที่มีความรุนแรงหรือเปล่า รวมทั้งความรุนแรงในครอบครัวหรือเปล่า? นพ.สุริยเดว : "ถ้าดูจากในคลิป ประเด็นแรก ผู้ดูแลเด็กกับเด็กต้องห้ามคลาดสายตา เป็นหลักคิดเลยไม่ว่าสัดส่วนอย่างไรก็ตามต้องซักซ้อม สองเด็กโตมาอยู่กับเด็กเล็กมันสุดวิสัย ไม่ควร บังเอิญเจอเด็กเลี้ยงง่ายไม่มีพฤติกรรมอะไรเลยเขาอาจจะเป็นคนช่วยน้องได้ ก็ขึ้นอยู่กับทุนชีวิต ว่าถูกพัฒนาที่่บ้านมาอย่างไร ข้อสังเกตที่สอง ทำไมเด็กโตปนกับเด็กเล็กได้ และตอนปนไม่มีผู้ดูแลอยู่ด้วย ทำให้คลาดสายตากับเด็ก อีกอันคือหมอต้องบอกว่าเป็นปัญหา เด็กคนนี้มีพฤติกรรมที่เป็นปัญหา วันนี้ผู้ใหญ่ไม่ว่าปู่ย่าหรือพ่อแม่ เด็ก 4 ขวบที่กำลังใช้ความรุนแรง กำลังป่วยทางพฤติกรรม ทางอารมณ์ จำเป็นต้องเข้ารับการรักษา" ขนาดนั้นเลยเหรอ? นพ.สุริยเดว : "ถูกต้อง เมื่อไหร่ก็ตามมีพฤติกรรมก้าวร้าวทางอารมณ์และไปกระทำกับผู้อื่นถือว่าไม่ปกติแล้ว จำเป็นต้องไปพบแพทย์ อาจเป็นจิตแพทย์เด็ก แต่หัวใจสำคัญ โดยส่วนใหญ่ครึ่งนึงก็มักมีปัญหากับผู้ปกครองนั่นแหละ" น้องชอบดูสื่อ? ครูอ้อย : "น้องชอบดูสื่อ ดูข่าวเหมือนผู้ใหญ่ ข่าวนำเสนอรุนแรงเขาก็ดู" นพ.สุริยเดว : "ต้องบอกว่าเด็กอายุน้อยกว่า 6 ขวบ เป็นบูรณาการทางสัมผัส พ่อแม่ทั้งหมดลดละเลิกในการดูทีวี หรือดิจิทัล ถ้าหากบอกว่าเยอะไปมั้ย คำถามของหมูคือบูรณาการสัมผัสคือการเรียนรู้จากการเล่นการสัมผัส ไม่ได้เกิดการเรียนรู้จากเทคโนโลยี เพราะฉะนั้นคุณพ่อคุณแม่คนไหนก็ตาม ปู่ย่าตายายคนไหนก็ตามเอาเทคโนโลยีให้เด็กเร็วไป มันจะทำให้เกิดพฤติกรรมเกิดขึ้น ยิ่งสื่อนั้นเป็นสื่อใช้ความรุนแรง บางเรื่องทำแล้วเจาะลึกเกินไป ถ้าเด็กดูเยอะเกินไป เด็กเลียนแบบได้" เรื่องเกม นี่ยังไง? นพ.สุริยเดว : "ส่วนใหญ่เกมบ้านเรารุนแรง แม้จะมีเรตติ้งอยู่บนหน้ากล่อง แต่ก็ไม่ได้มีผลบังคับว่าจะทำยังไงให้เข้าไม่ถึง ก็กลับมาที่ครอบครัวอีก ปล่อยให้เล่นมือถือได้ยังไง และให้เล่นไม่พอ ยังปล่อยให้เข้าถึงเกมที่รุนแรง ท้ายที่สุดถ้าครอบครัวไม่มากำกับ ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจะเกิด 3-4 รูปแบบที่เราเคยคุยกัน คือเด็กลอกเลียนความรุนแรงนั้นไปใช้กับคนอื่น แม้กระทั่งการความเมตตาลง อันนี้จะเกิดขึ้นได้ เด็กวัยนี้เป็นวัยจินตนาการ เขาแยกไม่ออกกับสิ่งที่เล่นอยู่ในเกม อาจนำมาประพฤติปฏิบัติด้วย อันนี้ยิ่งหนักไปอีก" กรณีแบบนี้ต้องเคลียร์กันยังไง? นพ.สุริยเดว : "หนึ่งเด็กต้องเลิกเล่นเกมทั้งหมด สองเด็กต้องเข้ารับการปรึกษากุมารแพทย์ หรือจิตแพทย์บำบัดเรื่องพฤติกรรม และครอบครัวต้องมาด้วย" เคยพาลูกสาวไปหาจิตแพทย์เด็ก ถูกด่าเละเทะว่าพ่อบ้า พาลูกไปหาจิตแพทย์ทำไม? นพ.สุริยเดว : "เขาจะดูเป็นครอบครัว และดูระบบนิเทศน์เด็ก วันนี้พูดแค่ว่าป่วยทางพฤติกรรม ป่วยทางอารมณ์ แต่ถ้าไม่ทำ ปล่อยเลย เด็กคนนี้จะกลายเป็นคนที่มองโลกในแง่ร้าย และใช้ความก้าวร้าว" ได้คุยกับพ่อเด็ก 4 คนหรือยัง? พัชรา : "ส่งข้อความมาขอโทษแล้วค่ะ" เหลือคุณปู่ที่ต้องเจรจา บุคลากรไม่พอ ต้องนำไปพิจารณา? ครูอ้อย : "เราติดต่อหาพี่เลี้ยงเพิ่มแล้วค่ะ เราจะปรับปรุงให้ดีที่สุดสำหรับเรื่องนี้ เป็นอุทาหรณ์สำหรับเรามาก และขอโทษสำหรับคุณแม่ด้วย"