สถานะการณ์การชุมนุมทางการเมืองในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อภาพรวมความเชื่อมั่นเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งก่อนหน้านี้ผลกระทบจากสภาวะการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ยังไม่มีทีท่าจะยุติลงได้ง่าย ทำให้เป็นปัญหาที่ทั้งภาครัฐ และเอกชน ต่างเร่งหาวิธีการรับมือเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนที่จะเกิดในอนาคต ทั้งนี้จากข้อมูลที่น่าสนใจจาก “อาจารย์ธนวรรธน์ พลวิชัย” อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ในฐานะประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจ และธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ซึ่งสำรวจความคิดเห็นจากภาคธุรกิจและหอการค้าทุกจังหวัดทั่วประเทศในเดือนก.ย.63พบว่า ภาคธุรกิจได้เสนอแนะต่อรัฐ 6 ข้อ คือ 1.ให้ควบคุมราคาสินค้า เนื่องจากปัจจุบันประชาชนส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ทำให้การจับจ่ายใช้สอยลดลงและไม่คึกคัก ,2.แนวทางหรือมาตรการอนุญาตให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามา ควรทำอย่างรัดกุม โดยไม่ปล่อยให้โควิด-19 เกิดการแพร่ระบาดภายในประเทศอีกระลอก 3.ขอให้ดูแลสถานการณ์ทางการเมืองให้มีเสถียรภาพ เพื่อให้เกิดภาพลักษณ์และความเชื่อมั่นต่อนักลงทุน ,4.รัฐควรเร่งใช้งบประมาณ และเร่งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ,5.หาแนวทางลดภาระหนี้นอกระบบของครัวเรือน และ6.กระตุ้นการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติให้อยากเข้ามาติดต่อธุรกิจกับประเทศไทยมากขึ้น สำหรับดัชนีฯ เดือนก.ย.อยู่ที่ระดับ 32.5 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนส.ค.63 อยู่ที่ระดับ 32.3 เนื่องจากคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 63 ใหม่ คาดว่า ติดลบน้อยลงเหลือ -7.8% จากเดิมที่คาดว่า -8.1% , รัฐบาลดำเนินมาตรการดูแลเยียวยาผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 เพื่อช่วยเหลือประชาชนและภาคธุรกิจอย่างต่อเนื่อง, ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศยังทรงตัวจากเดือนก่อน “แม้ดัชนีเชื่อมั่นปรับขึ้นบ้าง แต่ยังถือว่า อยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากยังมีความกังวลสถานการณ์การเมือง การชุมนุมของเยาวชนกลุ่มต่างๆ , ความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ด้านการเมือง รวมทั้งการชุมนุมทางการเมืองของกลุ่มเยาวชนและกลุ่มต่างๆ ที่อาจส่งผลให้ไทย ต้องเผชิญกับความขัดแย้งทางการเมืองดังเช่นในอดีต” เช่นเดียวกับ “พชรพจน์ นันทรามาศ” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย ประเมินว่าปี 2564 จะยังเป็นปีที่ธุรกิจไทยเผชิญความท้าทายแม้สถานการณ์โควิด-19 จะดีขึ้น โดยคาดว่ายอดขายที่หดตัวมากถึง 9.0% ในปี 2563 จะยังต่ำกว่าระดับปกติในปี 2564 เป็นปัจจัยกดดันความสามารถในการชำระหนี้ หลังมาตรการพักชำระหนี้เป็นการทั่วไปสิ้นสุดลง ซึ่งจากการวิเคราะห์ข้อมูลงบการเงินในระดับรายบริษัทกว่า 2 แสนราย พบว่าอัตราส่วนความสามารถในการจ่ายดอกเบี้ย (Interest Coverage Ratio: ICR) ซึ่งสะท้อนว่ากิจการมีกำไรจากการดำเนินงานเพียงพอที่จะจ่ายภาระดอกเบี้ยมากน้อยแค่ไหน ในภาพรวมจะลดลงจาก 3.62 เท่า ในปี 2562 มาอยู่ที่ 3.11 เท่า ในปี 2563 และจะใช้เวลาอย่างน้อย 3 ปี ถึงจะกลับไปสู่ระดับเดิม นอกจากนั้น กิจการที่มีกำไรจากการดำเนินงานไม่เพียงพอจ่ายดอกเบี้ย หรือมี ICR ต่ำกว่า 1 เท่า จะมีสัดส่วนมากถึง 28-30% ในระยะ 1-2 ปีข้างหน้า “สถานการณ์เศรษฐกิจซบเซาที่มีแนวโน้มลากยาว อาจส่งผลให้กิจการ “ซมไข้ยาวนาน” หรือ กิจการที่มี ICR ต่ำกว่า 1 เท่า ติดต่อกันเป็นเวลา 3 รอบปีบัญชี มีจำนวนเพิ่มขึ้น จากเดิมที่เคยอยู่ที่ 9.5% ของกิจการทั้งหมด ในปี 2562 เป็น 14% ของกิจการทั้งหมดในปี 2563 และจะพุ่งสูงขึ้นเป็น 26% ภายในปี 2565” “ชัยสิทธิ์ อนุชิตวรวงศ์” นักวิเคราะห์ กล่าวว่าการจัดการกับกิจการ “ซมไข้ยาวนาน” ที่จะเพิ่มมากขึ้นคือโจทย์ท้าทายในระยะข้างหน้า ซึ่งการดำเนินนโยบายต่างๆ จำเป็นต้องมีความเฉพาะเจาะจง โดยคำนึงถึงพื้นฐานทางการเงินของกิจการ และศักยภาพการกลับมาฟื้นตัวของธุรกิจ รวมถึงต้องคำนึงถึงการป้องกันปัญหา Moral Hazard ที่อาจจะตามมาได้ อีกทั้ง ควรให้การสนับสนุนในมิติอื่นๆ นอกเหนือจากเงินทุน ควบคู่ไปด้วย เช่น การยกเครื่องธุรกิจโดยอาศัยเทคโนโลยีดิจิทัล ควบคู่กับการสนับสนุนให้ภาคธุรกิจปรับตัวเพื่อแสวงหาโอกาสในตลาดศักยภาพใหม่ๆ ลดต้นทุน และสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันที่สอดรับกับบริบท New Normal อย่างยั่งยืน ขณะที่ภาคเอกชนมีความกังวลไม่น้อยต่อปัญหาการชุมนุมที่จะส่งผลกระทบเศรษฐกิจของประเทศ โดย “กลินท์ สารสิน” ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การชุมนุมครั้งนี้มีความพยายามที่จะสร้างกระแสการชุมนุมจำนวนมาก ซึ่งบางคนไม่รับรู้ว่าสถานการณ์โลกไปถึงไหนแล้ว และสถานการณ์ในประเทศเป็นอย่างไร เศรษฐกิจไทยเริ่มดีขึ้น แต่ยังไม่รู้ว่าไตรมาส 4 จะมีคนตกงานมากน้อยแค่ไหน หากมีการชุมนุม มีความปั่นป่วนแบบนี้ความไม่มั่นใจในการประกอบธุรกิจ การจับจ่ายใช้สอยของประชาชนมีมากขึ้นย่อมส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจให้แย่ลง คนว่างงานก็มีมากขึ้น “ไม่ต้องการให้เกิดสภาวะแบบนี้ ดังนั้นช่วงนี้ทุกคนต้องร่วมมือกันพาประเทศให้พ้นวิกฤติไม่ใช่มาสร้างกระแสการเมือง โดยเมืองไทยเป็นประเทศที่เป็นแหล่งอาหารของโลก หากมีปัญหาการเมืองจะทำให้การค้าขาย การลงทุน นักธุรกิจไม่อยากเข้ามาลงทุนในประเทศ” “สุพันธุ์ มงคลสุธี” ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) กล่าวว่า ขอให้รัฐบาลติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดอย่าให้เกิดความรุนแรง หรือถ้าเกิดขึ้นต้องระงับเหตุการณ์ให้ได้อย่างรวดเร็ว อย่าให้เกิดเหตุการณ์ที่กระทบความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ หรือกระทบต่อตลาดเงินตลาดทุน ส่วนขุนคลัง “อาคม เติมพิทยาไพสิฐ” รมว.การคลัง กล่าวถึงกรณีการชุมนุมทางการเมืองที่อาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน ว่า ในส่วนของกระทรวงการคลังจะยังต้องเดินหน้าดูเรื่องศักยภาพและความมั่นคงของภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศไทย เพราะวันนี้เศรษฐกิจไทยยังเจอผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังไม่จางไป “ถ้าผมเป็นนักธุรกิจผมก็ต้องทำธุรกิจของผมต่อไป ธุรกิจต้องเดินหน้าต่อ เพราะแต่ละวัน แต่ละนาที แต่ละวินาทีมันเป็นรายได้ของบริษัท ผมคงตอบแทนไม่ได้ว่าเรื่องนี้จะมีผลต่อความรู้สึก ความคิดของเขาอย่างไร” นายอาคม กล่าว ทั้งนี้กระทรวงการคลังยังยืนยันภาพรวมการจัดเก็บรายได้ในปีงบประมาณ 2564 ยังเป็นไปตามเอกสารงบประมาณที่ 2.67 ล้านล้านบาทเหมือนเดิม โดยหลังจากนี้ต้องติดตามสถานการณ์ทุกเดือน ทุกไตรมาส โดยขณะนี้เพิ่งเริ่มต้นปีงบประมาณ จึงอยากดูสถานการณ์ก่อน ค่อยมาคุยกัน ซึ่งหลังจากนี้คลังจะมีการหารือกับหน่วยงานจัดเก็บรายได้เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว งานนี้จึงเป็นสิ่งที่ท้าทายของรัฐบาล “ลุงตู่2” ที่จะคลี่คลายปัญหาที่เกิดขึ้น! เพราะงานนี้ช้าไม่ได้...!!!