ลีลาชีวิต / ทวี สุรฤทธิกุล พี่เสือใหญ่เป็นคน “น้ำนิ่งไหลลึก” หลายครั้งก็ทำอะไรที่คาดไม่ถึง หลายปีที่ผมคลุกคลีอยู่กับพี่เสือใหญ่ ผมไม่เคยเห็นพี่เสือใหญ่อารมณ์เสียหรือโกรธใครเลย เวลาที่ขับรถก็ดูไม่เคร่งเครียด และไม่เคยสบถด่าใครที่ขับรถแบบหวาดเสียวเข้ามาใกล้ ๆ เลย ผมเองเสียอีกที่ต้องด่าออกไปแทนอยู่เป็นประจำ แรก ๆ ก็ดูพี่เสือใหญ่ไม่สนใจอะไร แต่พอบ่อยครั้งเข้าพี่เสือใหญ่ก็เตือนสติออกมา พี่เสือใหญ่บอกว่า ด่าเขาไป เขาก็ไม่ได้ยินหรอก เรานี่เองที่ต้องได้ยินเต็มรู้หู ความอัปมงคลจึงเกิดกับตัวเราเอง และมันจะติดเป็นนิสัย ซึ่งตัวพี่เสือใหญ่ก็เคยเป็นอย่างนี้มาก่อน แต่น้าเชื่อมได้เตือนเอาไว้ จนไม่ทำอีกแล้ว พี่เสือใหญ่บอกว่า น้าเชื่อมเป็นเหมือน “พ่อคนที่สอง” เพราะดูแลและสั่งสอนพี่เสือใหญ่อยู่เสมอ โดยเฉพาะการทำตัวเวลาที่ “อยู่กับเจ้ากับนาย” อย่างการขับรถให้คุณชาย(ท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช)ก็ต้องขับรถด้วยความระมัดระวังและสุภาพนอบน้อม เพราะความปลอดภัยคือเรื่องที่สำคัญที่สุดในการขับรถ น้าเชื่อมบอกว่า รถยนต์ก็เหมือนตัวของเราเอง แกเชื่อว่า “รถก็มีหัวใจ” เวลาขับรถก็เหมือนกับการควบคุมตัวของเราเอง ทั้งเวลาเดินหน้า ถอยหลัง เลี้ยวซ้ายขวา หรือเบรก ก็คือการบังคับตัวเราเองนั่นเอง ดังนั้นถ้าเราขับรถด้วยความนุ่มนวล ก็คือการปฏิบัติที่สุภาพนุ่มนวลกับตัวเราเอง เราระมัดระวังเวลาขับรถก็คือระมัดระวังอันตรายให้กับตัวเอง ซึ่งก็จะส่งผลต่อผู้โดยสารคือ “เจ้านาย” ที่นั่งมากับเรานั้นด้วย “เวลาขับรถต้องรู้สึกให้เหมือนว่ารถนั้นคือตัวเรา” น้าเชื่อมบอกพี่เสือใหญ่เสมอ ๆ ครั้งหนึ่งตอนเดินทางไปบ้านริมปิงที่เชียงใหม่ ปกติท่านอาจารย์คึกฤทธิ์จะชอบเดินทางในตอนกลางวัน โดยออกเดินทางประมาณ 8 โมงเช้า ไปรับประทานอาหารเที่ยงที่ปั๊มน้ำมันเจ้าประจำที่กำแพงเพชร พอบ่ายแก่ ๆ ประมาณ 5 โมงเย็นก็จะถึงบ้านริมปิงพอดี แต่มีวันหนึ่งท่านวางแผนว่าจะเดินทางในตอนกลางวันเช่นเดิม แต่มีงานสำคัญในช่วงนั้น ท่านจึงออกเดินทางค่ำ ๆ โดยใช้รถโฟล์กตู้ขนข้าวของและสุนัขคู่ใจ “สามสี - เสือใบ” ไปด้วยเหมือนทุกครั้ง ผมจำได้ว่าหลังจากทานข้าวต้มแถวสลกบาตร เป็นเวลาประมาณตีสอง ขณะที่รถของเรากำลังวิ่งมาด้วยความเร็วสูง มองไปไกล ๆ ที่หน้าปั๊มน้ำมันข้างหน้า มีรถบรรทุก 18 ล้อ 2 คันกำลังเลี้ยวออกมาจากปั๊ม พี่เสือใหญ่ที่ขับแทนน้าเชื่อมในช่วงนั้น ชะลอความเร็วลง แล้วเบี่ยงรถออกไปเลนขวา แต่รถบรรทุกคันนั้นไม่ได้หักเลี้ยวซ้ายให้เต็มเลน แต่กินทางออกมาทางขวาจนปิดถนนที่มีสามเลนนั้นทั้งหมด พี่เสือใหญ่จึงหักรถไปทางซ้าย แต่พลันที่กำลังจะถึงตรงหน้าปั๊ม ก็มีรถบรรทุก 18 ล้ออีกคันเร่งเครื่องตามคันข้างหน้าออกมา มีช่องว่างห่างจากท้ายรถบรรทุกคันหน้าแค่วากว่า ๆ ใจผมนั้นคิดว่าไม่รอดแน่แล้ว แต่ก็ไม่ได้ส่งเสียงร้องอะไร เพราะคนอื่นรวมทั้งท่านอาจารย์คึกฤทธิ์นอนหลับอยู่ ผมเห็นพี่เสือใหญ่เร่งเครื่องอย่างเต็มที่ในอึดใจนั้น จนได้ยินเสียงลมวูบและรู้สึกเหมือนรถวิ่งออกนอกขอบทาง มีเสียงขลุกขลักอยู่ชั่วครู่ จนมองเห็นว่ารถได้ปีนขึ้นมาบนถนนเหมือนเดิม ครั้งนั้นผมรู้สึกว่าเหมือนมีปาฏิหาริย์เกิดขึ้น เพราะพอท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ลืมตาขึ้นมาเหมือนท่านจะรู้สึกว่ามีอะไรผิดปกติ แต่ก็ได้ยินแต่เสียงท่านถามเพียงว่า “ถึงไหนแล้ว” ซึ่งพี่เสือใหญ่ก็พูดออกไปเบาๆ ว่า “ผ่านจังหวัดตากมาแล้วครับ” วันต่อมาผมจึงถามว่าพี่เสือใหญ่ทำได้อย่างไร แกก็ตอบด้วยน้ำเสียงเรียบ ๆ ว่า “รถบรรทุก 2 คันขวางอยู่เต็มถนน เรามีทางรอดอยู่ทางเดียว เราก็ต้องรีบวิ่งไปหาทางรอดนั้นโดยเร็ว” ผมจึงพูดด้วยอาการที่ยังไม่หายตกใจว่า “พี่รู้ไหมพวกเรา 7 ชีวิต รวมทั้งเจ้าสามสีเสือใบ ต้องขอบคุณพี่มาก ๆ เลย” ที่บ้านริมปิงที่เชียงใหม่เป็น “แดนสำราญ” ของทุก ๆ คน รวมทั้งสุนัขทั้งสองนั้นด้วย ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์จะตื่นมาตั้งแต่ฟ้าเริ่มสาง ออกมานั่งที่ระเบียงหน้าห้องนอนชั้นบนที่หันไปทางทิศตะวันออกและเห็นแม่น้ำปิงเต็ม ๆ ในฤดูหนาวน้ำจะอยู่นิ่ง ๆ มีไอหมอกลอยเอื่อย ๆ อยู่เหนือลำน้ำ เหมือนเมฆก้อนบาง ๆ ที่ปลิวหล่นลงมา ดอกอ้อที่เกาะกลางแม่น้ำชูช่อขาวเรียงราย โบกไปโบกมาช้า ๆ ตามลมเย็นที่โชยมาเบา ๆ มองดูเหมือนมือของภูติน้อยนับพันกำลังโบกทักทายผู้ออกมาชื่นชม พอแสงแดดค่อย ๆ แรงขึ้น ก็จะขับเงาต้นไม้ใบไม้รอบ ๆ นั้นให้สว่างขึ้น มองเห็นน้ำค้างเกาะอยู่ตามยอดหญ้าและใบไผ่ และยิ่งในเวลาที่ดอกไม้แปลงหน้าบ้านออกดอกก็จะยิ่งเพิ่มสีสันให้เจิดจ้าสดใส ยิ่งมองไปก็ยิ่งอิ่มอกอิ่มใจด้วยความงดงามข้างหน้านั้น หลังอาหารเช้า ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์จะลงมา “เดินสวน” ชมต้นไม้ดอกไม้ที่ปลูกไว้ รวมทั้งคอยบอกให้คนสวนปลูกเสริมหรือตกแต่งตรงโน้นตรงนี้ ตามแต่ท่านจะมีไอเดียต่าง ๆ พอสาย ๆ ก็จะเข้าไปเที่ยวตามที่ต่าง ๆ ในตัวเมือง บ้างก็เป็นวัดที่มีมากมายในจังหวัดเชียงใหม่ บ้างก็เป็นร้านค้าและบ้านเพื่อน ๆ ที่ท่านคุ้นเคยมาแต่หนุ่ม ๆ (ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เคยมาอยู่ที่ภาคเหนือตอนที่มาเป็นผู้จัดการธนาคารไทยพาณิชย์ในจังหวัดลำปาง ราว พ.ศ. 2480 และอยู่ที่นั่นหลายปี จึงได้เที่ยวไปทั่วภาคเหนือและมีเพื่อนฝูงคนรู้จักอยู่มาก) พอเที่ยง ๆ ก็หาอาหารร้านอร่อย ๆ รับประทาน พอบ่าย ๆ ก็กลับมางีบที่บ้านริมปิง ตื่นมาสักบ่ายสี่โมงก็เป็นเวลาน้ำชา หลังจากนั้นท่านก็จะเดินสวนอีกรอบ แล้วเข้าไปที่ครัวใหญ่เพื่อทำอาหารเย็น คอยเลี้ยงแขกซึ่งก็คือลูกศิษย์ลูกหาและคนที่รู้จักกันสนิทสนมที่มักจะมาเยี่ยมเยียนท่านอยู่เป็นประจำ ไม่ต่างจากที่เป็นอยู่ตอนที่อยู่บ้านสวนพลูนั้นเลย จากนั้นท่านก็จะขึ้นพักผ่อนประมาณ 3 ทุ่ม ช่วงเวลานี้เองที่ผมมักจะขอให้พี่เสือใหญ่พาออกไปดู “แสงสียามราตรี” ของเชียงใหม่ จนเวลาตีหนึ่งตีสองที่สถานบันเทิงเหล่านั้นปิด เราสองคนก็กลับมานอน และน่าประหลาดใจว่าทั้งที่ได้กินดื่มมึนเมามาพอสมควร ทั้งยังได้นอนแค่ 3-4 ชั่วโมง เราทั้งสองคนก็ยังตื่นเช้าขึ้นมาด้วยความกระปรี้กระเป่า และสามารถทำงานทำการได้เป็นปกติ ที่อาจจะเป็นด้วยวัยที่ยังหนุ่มแน่น หรือความอิ่มเอิบในบรรยากาศแห่งความสุขที่เชียงใหม่ หรืออาจจะเป็นทั้งสองสิ่งนั้นรวมกัน “เชียงใหม่นั้นช่างมีมนตร์....” เหมือนเสียงเพลงที่ว่าไว้จริง ๆ