ผู้เชี่ยวชาญด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศระบุ ลานีญาเพิ่มกำลังให้เตรียมรับมือความหนาวพ.ย.-ก.พ.ปีหน้า โดยหน้าแล้งปีหน้าฝนจะเยอะและมาเร็วกว่าปีนี้ ชี้ผลพยากรณ์สอดคล้องกันว่าเมืองไทยปีนี้จะเย็นกว่าทุกปี ทั้งกทม.-ปริมณฑล ภาคกลาง อีสาน ตะวันตก และตะวันออก โดยลานีญาจะลากยาวถึงเม.ย.64 ภัยแล้งน่าจะบรรเทา พร้อมเตือนภาคเกษตรให้เตรียมรับมือภัยหนาว รวมทั้งภัยจากฝุ่นพิษ 2.5
รศ.ดร.วิษณุ อรรถวานิช อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญงานวิจัยด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการเกษตร โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก Witsanu Attavanich ระบุ #อัพเดทน้ำท่วมน้ำแล้ง (16 ต.ค. 63) “ลานีญา” เพิ่มกำลังอีก! กรุงเทพฯ ภาคกลาง ภาคอีสาน ภาคตะวันตก และ ภาคตะวันออก เตรียมรับมือกับอากาศหนาวเย็นกว่าปกติช่วง พ.ย.63-ก.พ.64 ส่วนฝนมีแนวโน้มลดลงสู่ค่าเฉลี่ยปกติช่วง พ.ย.63-ม.ค.64 เกือบทุกภูมิภาค นอกจากนั้น ฤดูแล้งปี 64 ฝนจะมากกว่าปกติ และฤดูฝนปีหน้าน่าจะมาเร็วกว่าปีนี้
ล่าสุดเมื่อวันที่ 15 ต.ค. 63 ทาง International Research Institute for Climate Society (IRI) มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย สหรัฐอเมริกา (ภาพที่ 2) ได้พยากรณ์ว่าช่วงพฤศจิกายน 63 - กุมภาพันธ์ 64 อุณหภูมิของไทยมีแนวโน้มหนาวเย็นกว่าค่าเฉลี่ยในหลายภูมิภาค ได้แก่ กรุงเทพฯ และปริมณฑล ภาคกลาง ภาคอีสาน ภาคตะวันตก และภาคตะวันออก ซึ่งเปลี่ยนแปลงจากผลการพยากรณ์ในเดือนกันยายนที่ผ่านมา และสอดคล้องกับผลพยากรณ์ของ APEC Climate Center
สำหรับปริมาณฝน ภาพที่ 3 ทาง IRI พยากรณ์ว่า ปริมาณฝนมีแนวโน้มลดลงจากเดือนตุลาคม 63 สู่ค่าเฉลี่ยปกติช่วง พฤศจิกายน 63 - มกราคม 64 เกือบทุกภูมิภาค นอกจากนั้น ฤดูแล้งปี 64 คาดว่าจะมีปริมาณฝนมากกว่าปี 63 (โดยเฉพาะตอนล่าง) และฤดูฝนปี 64 น่าจะมาเร็วกว่าปี 2563 ภาคใต้ปีนี้ปริมาณฝนมีแนวโน้มสูงกว่าค่าเฉลี่ยปกติตลอดฤดูแล้ง
ส่วนภาพที่ 4 (ซ้าย) บ่งชี้ว่า ปรากฎการณ์ “ลานีญา” คาดว่าจะทำจุดสูงสุดในเดือน ม.ค. 64 ด้วยกำลัง “ปานกลาง-สูง” โดยได้เพิ่มระดับความรุนแรงอีกเล็กน้อยจากการพยากรณ์ครั้งที่ผ่านมา โดยค่าเฉลี่ยความผิดปกติของอุณหภูมิผิวน้ำทะเล (SST) ทำจุดสูงสุดใหม่ที่เกือบ -1.7 องศา ในประมาณเดือน ม.ค. 64 จากเดิมคือเกือบ -1.5 องศาในเดือน ธ.ค. 63 ล่าสุดค่าเฉลี่ยความผิดปกติของอุณหภูมิผิวน้ำทะเล (Nino3.4 SST anomaly) เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ใน 3 สัปดาห์ล่าสุด เป็น -1.0 -1.1 และ -1.2 สะท้อนกำลังของลานีญาที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยระดับความรุนแรงของลานีญาอยู่ในระดับปานกลาง และจะเริ่มอ่อนกำลังลงหลัง ม.ค. 64 แต่คาดว่าปรากฎการณ์ “ลานีญา” จะลากยาวถึงเดือน เม.ย. 64 (ภาพที่ 4 ขวา) โดยความน่าจะเป็นที่จะเกิด Neutral Phase (แท่งสีเทา) จะเข้ามาแทนที่ ดังนั้น ปีหน้าภัยแล้งน่าจะบรรเทาลงมาก
เตรียมรับมือภัยหนาวซึ่งอาจสร้างความเสียหายให้กับพืชผลทางการเกษตร และระวังฝุ่นพิษ PM2.5 (สารก่อมะเร็งกลุ่ม 1) ช่วง ธ.ค. 63 - ม.ค. 64 ในแถบกรุงเทพฯ ปริมณฑล ภาคกลาง ภาคอีสาน ภาคตะวันออก และตะวันตก