ปากกาขนนก / สกุล บุณยทัต [email protected] “ในหลายส่วนของสาระความคิดมักถูกนำมาหลอมรวมเข้าด้วยกันจากเงื่อนไขของสำนึกคิดไปสู่นิยามแห่งความเป็นตัวตน เรื่องราวบางเรื่องราวคือความจริงแท้ที่อุบัติขึ้นท่ามกลางบรรยากาศแห่งการรับรู้ในรู้สึกที่เปี่ยมไปด้วยจินตนาการและใจความอันเนื่องมาแต่การกระทำในห้วงเหวแห่งการดิ้นรนต่อสู้ของจิตวิญญาณที่ซ่อนลึกอยู่ภายในอย่างไม่รู้จบรู้สิ้น มันคือสัญญะแห่งความแปลกต่างที่ถูกไขขานออกมาให้โลกได้รับรู้ภายใต้การกระทำในความรู้สึกร่วมของนักเขียนแห่งโลกที่แสดงภาพสำนึกของพวกเขาออกมาด้วยเหลี่ยมมุมแห่งสาระความคิดที่ยากจะคาดเดา” ผมถือเอาบทกล่าวนำข้างต้นเป็นนัยแห่งการเข้าถึงสาระเนื้อหาแห่งรวมเรื่องสั้นของ 11 นักเขียนรางวัลโนเบล สาขาวรรณกรรม ภายใต้ชื่อ...“ผู้ทำให้เทพธิดารอคอย” ผลงานแปลที่ทั้งลุ่มลึกและหนักแน่นด้วยภาษาและเนื้อในแห่งความเข้าใจที่ชัดแจ้ง...โดยนักแปลระดับฝีมือ “วิมล กุณราชา” เรื่องสั้นทั้ง 11 เรื่องนับเป็นปรากฏการณ์ที่มนุษย์มีต่อมนุษย์ด้วยการมองเห็นถึงว่า...เงื่อนงำต่างๆนานาที่เกิดขึ้นกับชีวิตนั้นล้วนมีที่มาที่ไปอันสลับซับซ้อนในโลกแห่งความลี้ลับในชีวิตมนุษย์ มันอยู่ลึกลงไปและอยู่เหนือขึ้นไปในบริบทแห่งความเป็นจิตวิญญาณสามัญ สภาวะวิสัยโดยรวมของเรื่องสั้นทั้งหมดนี้สื่อถึงการมองโลกแห่งชีวิตให้ดิ่งลึกลงไปถึงแก่นแท้แห่งความเป็นตัวตน รวมทั้งสมรรถนะแห่งแรงขับเคลื่อนอันไม่รู้จบที่ทั้งสั่นไหวและสะเทือนอยู่บนภาวะแห่งการรับรู้ในเชิงประสบการณ์ที่ดูเหมือนจะง่ายต่อการทำความเข้าใจ แต่กลับยากยิ่งต่อการหยั่งถึง...แท้จริงนี่คือ...ความสามัญธรรมดาที่เป็นเปลือกห่อหุ้มเนื้อแท้ความสามัญของจิตวิญญาณที่หลายๆขณะมักตกอยู่ในบ่วงบาศของความคลุมเครือที่ต่อเนื่องกันไปอย่างไร้จุดหมาย ไม่มีทิศทางที่แน่นอนของการให้ข้อสรุป “เมื่อเราสูญเสียภาพมายาของความเป็นนิรันดร์ไป ผมไม่ยึดติดกับสิ่งใด ผมรู้สึกสงบอยู่บ้าง แต่มันเป็นความสงบอันน่าสยอง เพราะร่างกายของผม ร่างกายที่ผมมองเห็นได้ด้วยดวงตาของมัน ได้ยินด้วยหูของมัน มันไม่ใช่ของผมอีกต่อไปแล้ว...” ภาวะแห่งการสูญเสียตัวตนในรูปรอยแห่งความเป็นมายาคตินี้ถูกตอกย้ำอยู่ในหลากมิติผ่านเรื่องสั้น “กำแพงประหาร” (The Wall) ของ ฌอง ปอล ซาร์ตร์ (Jean Paul Satre) เจ้าแห่งลัทธิ ‘เอ๊กซิสตองเชียลลิสม์’ ชาวฝรั่งเศส นักเขียนรางวัลโนเบล ปีค.ศ.1964... เมื่อชีวิตรู้สึกถึงการสูญเสียตัวตนมีปรากฏการณ์บางอย่างได้เกิดขึ้นกับชีวิตอย่างเยียบเย็น มันคือความลึกเร้นแห่งความมีความเป็นของเนื้อแท้แห่งโครงสร้างของชีวิตที่ซ่อนรูปซ่อนรอยอยู่อย่างโดดเดี่ยวด้านในจิตวิญญาณที่แตกซ่านของความเป็นตัวตน “มันหลั่งเหงื่อออกมาและสั่นสะท้านเยือกด้วยตัวของมันเอง ทว่าผมไม่ตระหนักรู้ถึงมันอีกต่อไป ผมจำเป็นต้องสัมผัสและมองดูมัน เพื่อตรวจดูว่ากำลังเกิดอะไรขึ้น ราวกับว่า...มันเป็นร่างกายของคนอื่นเสียอย่างนั้น” ทรรศนะแห่งการมองเห็นความเป็นอื่นมักนำตัวตนของเราให้คืบคลานเข้าไปสู่ภาวะอันทบซ้อนที่ยากจะอธิบาย...มองเห็น...แต่ไม่แลเห็น...เข้าใจแต่ไม่เข้าใจ ในเรื่องสั้นเรื่อง “หญิงซักผ้า”(The Wash Woman) ของ ไอแซค บาเชวิส ซิงเกอร์(Isaac Bashevis Singer) นักเขียนรางวัลโนเบลในปีค.ศ.1978 ผู้เป็นอเมริกันเชื้อสายโปแลนด์ ซึ่งนักอ่านไทยรู้จักเขาดีจากเรื่องสั้นแสนงามแห่งใบไม้สองใบ “โอเล่ และ ทรูฟา”...เขาได้แสดงถึงการยึดมั่นแห่งเจตจำนงของความเป็นตัวตนที่แข็งแกร่งผ่านมิติความคิดของหญิงชรา ผู้มีร่างกายที่เจ็บป่วยอย่างหนัก และต้องเผชิญหน้าอย่างโดดเดี่ยวและน่าหวั่นกลัวต่อพายุของความทุกข์ทรมานที่โหมกระหน่ำเข้าใส่ แต่เธอก็ยังยืนยันถึงเจตนาที่ไม่ยอมแพ้ต่อพันธะหน้าที่แห่งความเป็นตัวตนว่า “ฉันนอนสบายอยู่ในที่นอนไม่ได้หรอก เพราะมีเสื้อผ้าต้องซัก”...เมื่อนางค่อยฟื้นจากความเจ็บป่วย นางก็ลงมือซักผ้าของตนในทันใด...ซักตามหน้าที่ในครอบครัวที่ต้องรับผิดชอบรวมทั้งยังต้องซักให้อีกหลายๆครอบครัวที่นางต้องกระทำด้วย...แต่ตัวตนของนางก็ยังคงยืนยันอย่างแข็งกล้าว่า “งานซักผ้าจะไม่ยอมให้ฉันตายง่ายๆหรอก” “มิคาอิล โซโลคอฟ”(Mijhail Sholokov) นักเขียนรางวัลโนเบลชาวรัสเซียในปีค.ศ.1965 ได้ระบุถึงจิตสำนึกแห่งความเป็นตัวตนผ่านเรื่องสั้นที่ติดตรึงอารมณ์ของเขา “รอยปาน”(Birthmark) ผ่านนัยแห่งภาพแสดงของการกระเสือกกระสนดิ้นรนต่อชะตากรรมอย่างไม่ยอมแพ้วิบากกรรมอันถือเป็นทุกขเวทนาของ “อาตะมาน”หัวหน้าโจรผู้ไม่เคยสร่างเมา...ผู้เคยถูกจับทรมานและถูกกักกันเพื่อเกณฑ์ไปทำงานหนัก เมื่อพ้นโทษชีวิตของเขาก็ยังคงซ่องสุมผู้คนเพื่อออกปล้นต่อไป...แต่ในความเป็นตัวตนของเขา เมื่อเวลาล่วงผ่านเขาก็ได้มองเห็นแก่นแท้แห่งความเป็นตัวตนที่ชัดแจ้งว่า ‘นั่นคือชีวิต’ “หัวใจของเขากร้านกระด้างดุจรอยกีบเท้าวัวที่ย่ำเหยียบประทับบนดินแดนหนองน้ำในทุ่งสเต็ปป์ แล้วต่อมาดินนั้นก็แห้งแข็งจากแสงแดดที่แผดเผาในฤดูร้อน ความเจ็บปวดรวดร้าวอันลึกลับที่ปกปิดซ่อนเร้นไว้คอยกัดแทะอวัยวะภายในของเขาอยู่ตลอดมา” ในเรื่องสั้น “ตามหามิสเตอร์กรีน”(Looking For Mr.Green) ของซาอูล เบลโล(Saul Bellow) นักเขียนอเมริกันเชื้อสายยิว ผู้ได้รับรางวัลโนเบลในปีค.ศ.1976...เขาได้บอกกล่าวถึงมิติสำคัญแห่งความเป็นตัวตนในวิถีเชิงปฏิบัติที่ทุกคนจะต้องใส่ใจและทุ่มเทพลังลงไปในการกระทำต่อสิ่งต่างๆ “ไม่ว่ามือของท่านจะควานทำอะไร จงทำจนสุดกำลังของท่าน” นี่คือนิยามแห่งแบบอย่างของความเป็นตัวตน โดยเฉพาะในยามวิกฤติแห่งวิกฤติของความไร้ระเบียบที่มนุษย์ต่างทำร้ายกันและกันด้วยความดิบเถื่อนและโหดร้ายโดยไม่สามารถหยั่งรู้ถึงเจตนาแห่งเหตุและผลอันสมควร “พวกเขาฟันแทงกันและลักขโมยข้าวของ...พวกเขาประกอบอาชญากรรมและกระทำสิ่งชั่วร้ายเลวทรามทุกชนิดเท่าที่เราเคยได้ยินมา.”.. เหตุดั่งนี้จึงอาจแปลความได้ว่า...ตัวตนของมนุษย์สามารถสร้างเงื่อนไขที่เป็นทั้งดีและชั่วได้แค่ด้วยมือที่เปื้อนบาปและละอายต่อบาปแห่งความเป็นตัวตนของตนหรือไม่เท่านั้น และนี่อาจหมายถึงความเศร้าตรมที่สามารถเกิดขึ้นได้จากการเดินทางไปบนรอยทางแห่งจิตวิญญาณของตัวตนที่ผิดเพี้ยน... “ซินแคลร์ ลูอิส”(Sinclair Lewis) นักเขียน นักละครคนสำคัญของอเมริกาผู้ได้รับรางวัลโนเบลเมื่อปีค.ศ.1930 เป็นนักเขียนอเมริกันคนแรกที่ได้รับรางวัลนี้ ได้แสดงถึงมิติสำคัญอีกด้านหนึ่งที่แสดงถึงเนื้อในแห่งความเป็นตัวตนที่แปลกแยกและลึกลับในเรื่องสั้น “อ้างว้างกลางมหาวิทยาลัย”(Youngman Axelbrod) ผ่านเรื่องราวของตาเฒ่าคนุดที่เปิดเผยความในใจแก่แมวที่แกเลี้ยงเอาไว้และเรียกมันว่าเจ้าหญิงถึง ‘ความคิดที่เก็บซ่อนไว้’ในตัวตนของแก...มันคือความคิดที่วิพากษ์ถึงบทบาทหน้าที่ในความเป็นตัวตนอันแท้จริงของมนุษย์ที่ตัดสินใจกระทำในสิ่งหนึ่งสิ่งใดขึ้นมา “คนทั้งหลายนั้นโง่เขลาเหลือเกินที่ทนตรากตรำทำงานหนัก” ตาเฒ่าคนุดมีความทะเยอะทะยานใฝ่ฝันอันลึกซึ้งดื่มด่ำนับแต่วัยหนุ่ม...เป็นความงดงามแบบโบราณที่ล่องลอยวนรอบตัวตนของแกอยู่เสมอ...กระทั่งแกได้ค้นพบความลึกลับแห่งความมืดยามรัตติกาลที่ทำให้แกสามารถมองเห็นทุ่งแพรี่ที่กว้างใหญ่ไพศาลพร่าเลือนอยู่ในม่านหมอกสีขาว ท่ามกลางแสงจันทร์ส่องสว่าง ได้ยินเสียงหญ้าและต้นคอตตอนวู้ดทั้งหลาย รวมทั้งเสียงนกที่ง่วงโงกละเมอออกมา “แกพยายามเก็บงำเรื่องการออกเดินเล่นเตร็ดเตร่ในตอนกลางคืนไว้เป็นความลับ”นั่นแสดงถึงมนุษย์มักมีความอ้างว้างโดดเดี่ยวอยู่กับกายและใจแห่งตัวตนของตนเสมอ...สิ่งนั้นถือเป็นที่สุดในการก่อเกิดความลับที่มืดดำเฉพาะตัวในโลกแห่งความวาดหวังของแต่ละบุคคล ในเรื่องสั้น “มือสังหาร”(The Killer)ของ ‘เออร์เนสต์ เฮมิงเวย์’(Ernest Hemingway)นักเขียนชาวอเมริกันผู้นิยมชมชอบการผจญภัยที่ดังก้องโลก ผู้ได้รับรางวัลโนเบลในปีค.ศ.1954 สื่อถึงความเป็นตัวตนที่จมปลักอยู่กับด้านในของห้วงสำนึกผ่านชีวิตของ ‘โอล แอนเดอร์สัน’ผู้ไม่สามารถจะคลี่คลายความคิดแห่งความเป็นตัวตนได้ว่าจะนำชีวิตให้ก้าวพ้นไปจากวังวนที่จมปลักของตนเองได้อย่างไร โดยเฉพาะเมื่อต้องตกอยู่ในสภาพของความคอขาดบาดตาย “มีเพียงอย่างเดียวเท่านั้น คือผมคิดไม่ตกว่าจะออกไปข้างนอกดีไหม ผมอยู่ในห้องนั้นมาทั้งวัน”…และข้างนอกที่เขาหมายถึงมีคนกำลังมารอฆ่าเขาอยู่ ซึ่งเขาก็รู้เรื่องนี้ดี ความเป็นตัวตนต่อความแปลกหน้าในสภาพการณ์ของตนเองถือเป็นโศกนาฏกรรมแห่งความขมขื่นที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออก.. “ฉันทนไม่ได้ เมื่อนึกว่าเขาเฝ้ารออยู่ในห้องพักโดยรู้อยู่เต็มอกว่าจะต้องตาย มันร้ายกาจและบัดซบจริงๆ” ในเรื่องสั้นของ “ยาสึนาริ คาวาบาตะ” (Yasunari Kawabata) นักเขียนญี่ปุ่นคนแรกที่ได้รับรางวัลโนเบลเมื่อปีค.ศ.1968... “เจ้านกตะขาบ” (The Jay) แสดงถึงภาวะของครอบครัวที่แตกแยกหย่าร้างของพ่อแม่จนตัวตนของลูกๆต้องตกอยู่ในสภาวะที่สั่นคลอนหวั่นไหว ไม่สามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่นใจในตัวตนที่แท้ที่ควรจะเป็น...ชีวิตของมนุษย์ เมื่อความเป็นตัวตนได้พรากจากกันแล้ว ก็ยากที่จะหวนคืนกลับมาได้ใหม่ ด้วยทรรศนะแห่งความเป็นอคติและมิจฉาทิฐินานาประการที่ตัวตนได้ก่อร่างเป็นกำแพงหนาขึ้นกั้นขวางความงดงามแห่งชีวิตของตนเองอย่างไม่น่าจะเกิดขึ้น...ภาพเปรียบเทียบอันกินใจต่อสภาวะดังกล่าวที่ ‘คาวาตาบะ’สื่อผ่านนัยแห่งความเป็นตัวตนของเจ้านกตะขาบ ถือเป็นบทเรียนต่อการเรียนรู้ความเป็นตัวตนของตนได้อย่างตริตรอง “แม่นกซึ่งมาตามเสียงของลูกนกที่ร่ำร้องอย่างละห้อยโหยหาพลางแหงนหน้าขึ้นมองท้องฟ้า...ค่อยๆขยับใกล้เข้ามาทีละน้อยๆ เมื่อมันบินลงมาเกาะอยู่กึ่งกลางของต้นสนที่ขึ้นอยู่ใกล้ๆ ลูกนกก็กระพือปีกกระจ้อยร่อยของมัน พยายามจะบินขึ้นไปหาแม่ถึงแม้มันจะสะดุดคะมำหกล้มหกลุก หล่นมาครั้งแล้วครั้งเล่า ด้วยความอุตสาหะอย่างสุดกำลัง เจ้าลูกนกก็ยังคงส่งเสียงร้องอย่างไม่ยอมหยุด แม่นกยังรีรออยู่อย่างระแวดระวัง แต่ในไม่ช้ามันก็บินพุ่งตรงลงมาอยู่ข้างๆลูกของมัน...ลูกนกแสนจะยินดีปรีดา มันหันหัวไปมาพร้อมกับแผ่ปีกสั่นกระพือให้แม่ของมัน..แม่นกนำอาหารมาป้อนให้ลูกน้อย...” ในเรื่องสั้น “วิญญาณชั่วร้าย” (The Evil Spirit)ของนักเขียน นักการละครคนสำคัญของอิตาลี “ลุจิ พิแรนเดลโล”(Luigi Pirandello) ผู้ได้รับรางวัลโนเบลเมื่อปีค.ศ.1934 ได้สื่อถึงชีวิตแห่งความเป็นตัวตนของ ‘นอกเซีย’ ตัวละครที่เชื่อในความบริสุทธิ์ใจและไม่เกี่ยวข้องกับการโกหกใดใด แต่ก็ดูเหมือนจะมีคนแสดงถึงท่าทีที่ไม่ยอมเชื่อเขา จนเป็นเหตุให้ความมั่นใจในความดีงามแห่งตัวตนของเขาต้องเสื่อมทรุดและกลับกลายไปสู่ “ความเชื่อในการมีอยู่ของวิญญาณอันชั่วร้าย ซึ่งมีกำเนิดมาจากความอิจฉาริษยา ความเกลียดชังและความอาฆาตมาดร้ายจากศัตรูของคนเรา แล้วถูกบำรุงเพาะเลี้ยงให้เจริญเติบโตด้วยความคิดและเจตนาที่ชั่วร้าย นอกเซียเชื่อว่าวิญญาณชั่วร้ายนี้จะยืนใกล้ชิดติดอยู่กับเราตลอดเวลา” “อนาโทล ฟร้องซ์” (Anatole France) นักเขียน นักวิจารณ์ชาวฝรั่งเศสผู้ได้รับรางวัลโนเบลในปีค.ศ.1921 ได้นำเสนอประเด็นของความเป็นตัวตนที่มีวิถีอันทบซ้อนไว้ในเรื่องสั้น “นักแสดงมายากล” (Our Lady’s Juggler) ผ่านชีวิตของ ‘ภราดาบาร์นาบาส์’ ผู้แสดงกลกายกรรมที่สร้างชื่อเสียงให้เขาเมื่อครั้งอดีต โดยครั้งนี้เขาได้แสดงต่อหน้าพระรูปของพระแม่มารีผู้บริสุทธิ์และศักดิ์สิทธิ์ ด้วยการหกคะเมนเอาศีรษะจรดตั้งกับพื้นและยกเท้าสองข้างชูขึ้นไปในอากาศ พร้อมกับยอมรับลูกกลมทองแดงหกลูกและมีดสิบสองเล่ม เพื่อถวายเป็นการปฏิบัติบูชา...แน่นอนว่าเข้าต้องถูกมองและวิพากษ์ถึงความไม่เหมาะสม แต่ในส่วนลึกแห่งความเป็นตัวตนของเขาแล้วเข้าต้องการจะชี้ให้เห็นถึงว่า...ศรัทธาที่ก่อเกิดจากตัวตนอันบริสุทธิ์นั้นเป็นสิ่งที่สำคัญเหนืออื่นใด “ผู้ที่มีหัวใจบริสุทธิ์ย่อมได้รับพรประเสริฐและพวกเขาจักได้พบพระเจ้า”… ภาวะแห่งความเป็นตัวตนในเรื่องสั้นต่างๆที่ได้กล่าวถึงมาทั้งหมดแสดงถึงนัยสำคัญของการมองชีวิตว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ (Holy Spirit) แต่ในเรื่องสั้น “อ้างว้างในต่างแดน”ของ ‘อัลแบร์ต กามูส์’ นักเขียน นักการละครชาวฝรั่งเศส ผู้ได้รับรางวัลโนเบลในปีค.ศ.1957...กลับได้แสดงถึงความหมายแห่งชีวิตที่เป็นการค้าอันก่อให้เกิดความสับสนอยู่ไม่น้อยในการดำรงตนให้อยู่อย่างแนบชิดและกลมกลืนกับความเป็นตัวตนของตน... ชีวิตของ ‘จานีน’ หญิงสาวกับ ‘มาร์เซส’ ผู้สามีดำเนินไปท่ามกลางความแปลกต่างของยุคสมัย ไม่มีอะไรเป็นไปอย่างที่คาดหวังเอาไว้ “ไม่มีอะไรเกิดขึ้นอย่างที่เธอคาดหวัง วันเวลาผ่านพ้นไปในความมืดครึ่งหนึ่ง หลังบานหน้าต่างที่ปิดไว้ข้างหนึ่ง ไม่มีอะไรดึงดูดความสนใจของมาเซสได้นอกจากธุรกิจเท่านั้น...เธอได้ค้นพบแล้วว่าความรักของเขาคือเงินนั่นเอง เธอไม่ชอบสิ่งนี้เลย แต่ชีวิตก็ต้องดำเนินไป... “ผู้ทำให้เทพธิดารอคอย” (The Black Man Who Made The Angels wait...) เรื่องสั้นของ ‘กาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ’ นักเขียนผู้ยิ่งยงแห่งโคลอมเบีย ซึ่งได้รับรางวัลโนเบลเมื่อปีค.ศ.1982 ถือเป็นบทสรุปแห่งการตอกย้ำถึงการใคร่ครวญแห่งความเป็นตัวตน ณ ที่นี้ได้อย่างลุ่มลึก...ความเหลื่อมซ้อนในบทบาทของชีวิต...ความสิ้นหวังในภาวะที่จมปลักของความเป็นตัวตนที่เกิดขึ้นอย่างหม่นมืดในความพลิกผันของโชคชะตา มีผลทำให้ชีวิตของตัวตนต้องบาดเจ็บ และถูกฝังลึกอยู่แต่กับความทุกข์ทรมานที่อาจทั้งต้องพิกลพิการทางกาย และเจ็บปวดเร้นลึกกับรอยแผลเป็นในหัวใจที่ถูกจองจำอย่างไม่สุดสิ้น มันคือความมืดมนที่น่าเวทนา...ที่หวังแต่รอคอยความหม่นมืดแห่งโชคชะตาในความไม่จีรังยั่งยืนเพียงเท่านั้น “เขายืนหันหน้าสู้ดวงอาทิตย์โดยที่ดวงตาสองข้างปิด-ปิดสนิท...แล้วเขาก็วิ่งเปะปะไปอย่างไร้จุดหมาย เหมือนม้าที่ถูกครอบปิดตา ตะเกียกตะกายด้วยสัญชาตญาณ ค้นหาประตูคอกที่เวลาแห่งการจองจำลับเลือนหายไปจากความทรงจำ แต่มันยังไม่หายไปจากสัญชาตญาณ...ทั้งหมดได้ทิ้งความหายนะ ความพินาศ และความยุ่งเหยิง วุ่นวายไว้ข้างหลัง…” ผมอยากจะยกย่องให้รวมเรื่องสั้นชุดนี้เป็นผลงานรวมเรื่องสั้นแปลที่มีคุณค่าต่อวงวรรณกรรมของไทยอย่างมากที่สุดเล่มหนึ่งในรอบทศวรรษที่ผ่านมา... มันคือผลรวมแห่งการแจกแจงแยกแยะภาพแสดงแห่งความเป็นตัวตนของมนุษย์ ณ โลกวันนี้ที่ดำรงอยู่อย่างคลอนแคลนและขาดศรัทธาโดยสิ้นเชิง...ความสามารถทั้งในเชิงการประพันธ์และสำนึกคิดอันยิ่งใหญ่และเติบกล้าของนักเขียนแต่ละคน ถือเป็นพลังแรงที่สามารถขับเคลื่อนกงล้อแห่งสาระของบรรดาเหล่าเรื่องสั้นทั้งหมดให้บดทับลงไปบนทางเบี่ยงแห่งโชคชะตาที่เต็มไปด้วยอันตรายทางจิตวิญญาณ...ทั้งหมดเป็นงานประพันธ์ในเชิงฝีมือล้วนๆ หนักแน่นไปด้วยสาระเนื้อหาและอ่อนโยนด้วยท่าทีอันบริสุทธิ์ของเจตจำนงในปรารถนาที่มุ่งหวังถึงความดีงามอันเป็นนิรันดร์แห่งตัวตน...เป็นรวมผลงานที่ผ่านการคัดกรอง เลือกสรรมาเป็นอย่างดีก่อนจะถูกนำมาแปลความและถ่ายทอดออกมาเป็นภาษาไทยอย่างอวดฝีมือ...มันสอดคล้องกลมกลืนกันด้วยลำดับการณ์แห่งความงามทางศิลปะและความจริงแท้แห่งมโนสำนึก นี่คือของขวัญในวงวรรณกรรมแปลของไทย...สำหรับนักอ่านทุกคน และน่าจะสำคัญอย่างยิ่งต่อการเป็นแรงบันดาลใจของนักเขียนที่ปรารถนาจะเป็นนักเขียนด้วยตัวตนที่สมบูรณ์พร้อม ...ในอนาคต … . “เนื่องด้วยเขามีจิตใจที่ใสซื่อบริสุทธิ์... ตัวตนของเขาจึงอดทนกับความทุกข์ทรมานอยู่เงียบๆ”