ลานบ้านกลางเมือง/บูรพา โชติช่วง: เปิดงานวิจัยสองศาสนา “มุสลิม – พุทธ” ชายแดนใต้ ข้อเสนอเชิงนโยบายเสริมสร้างปฏิสัมพันธ์
น่าสนใจหัวข้องานวิจัยกิจกรรมที่เสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างชาวมุสลิมและชาวพุทธ ภายใต้บทบาทผู้นำศาสนาของชุมชนหนึ่งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
จากการสัมมนาชายแดนใต้ พื้นที่ ผู้คน และข้อเสนอเชิงนโยบาย จัดโดยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) (ศมส) ร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว) หรือ สกว.เดิม เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2563 ที่ศมส. หัวข้องานวิจัยดังกล่าว ของ รศ.ปัญญา เทพสิงห์ ภาควิชาสารัตถศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เกษตรชัย และหีม , ฮัสบุลเลาะ อาคิสสกุล คัดสังเขป พบว่า ความคิดของพระสงฆ์และผู้นำศาสนาอิสลามมีอิทธิพลต่อการเข้าร่วมกิจกรรมของชาวมุสลิมและชาวพุทธ ประกอบด้วยความคิดที่เห็นประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง ความสามัคคีของคน ในชุมชนคือพลัง และความคิดด้านเมตตาธรรมตามที่ยึดตามแบบอย่างศาสดา
ขณะที่กิจกรรมที่เสริมสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างชาวมุสลิมและชาวพุทธ ภายใต้บทบาทพระสงฆ์และผู้นำศาสนาอิสลาม ประกอบด้วย 1.การจัดงานฉลองพระสงฆ์ชั้นนำที่มีผู้นำศาสนาอิสลามเข้าร่วม มีพิธีการแสดงมุทิตาจิต และมอบทุนการศึกษาแก่นักเรียนทั้งพุทธและมุสลิม 2.การจัดตลาดนัดในเขตวัดมีผู้นำศาสนาร่วมกิจกรมของโรงเรียน ใช้ตลาดนัดเป็นพื้นที่ให้นักเรียนรวมกลุ่มทั้งชาวพุทธและมุสลิม แล้วจับจ่ายสินค้าร่วมกัน นำประสบการณ์มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันระหว่างพระสงฆ์และอิหม่าม 3.การช่วยเหลือเด็กกำพร้า ทั้งชาวพุทธและมุสลิมที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบ แม้มีการเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างคนสองศาสนา แต่ก็มีเสียวิพากษ์แต่ละกิจกรรมส่งผลกระทบต่อความรู้สึกนึกคิดของสังคมภายนอกมากน้อยต่างกัน กิจกรรมที่เหมาะสมควรเลือกสถานที่เป็นกลาง ไร้พิธีการ เกิดจากความต้องการของชุมชมอย่างแท้จริง
ในเรื่องของปรัชญาศาสนามีส่วนที่เกี่ยวข้อง กล่าวคือศาสนาพุทธมิได้เข้มงวดที่ชาวพุทธจะไปสนับสนุน เช่น สมทบเงินสร้างมัสยิด ขณะที่ศาสนาอิสลามเข้มงวด มุสลิมบริจาคเงินสร้างโบสถ์ผิดหลักศาสนา ขณะที่อิหม่ามเชิญชวนพระสงฆ์ให้ร่วมกิจกรรมดูเหมือนจะมีเงื่อนไขน้อยกว่าอิหม่ามชวนพระสงฆ์ร่วมกิจกรรม แต่เมื่อวิเคราะห์กับกิจกรรมที่เสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างชาวมุสลิมและชาวพุทธ ภายใต้บทบาทผู้นำศาสนาในชุมชน สะท้อนให้เห็นว่า ไม่ใช่บรรลุเพื่อค่านิยม แต่เพื่อบรรลุเป้าหมายคือความสัมพันธ์ที่เชื่อมแน่นของคนสองศาสนา
งานวิจัยได้ให้ข้อเสนอแนะ จากกิจกรรมดังกล่าวสามารถนำมาวางแผนเชิงนโยบาย เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างชาวมุสลิมและชาวพุทธ โดยการนำของผู้นำศาสนา ซึ่งมีข้อเสนอแนะที่น่าสนใจหลายข้อ เช่น ควรตั้งหน่วยศาสนสัมพันธ์ตำบล เป็นต้น
ทั้งนี้ ผู้สนใจงานวิจัยนี้ สามารถหาอ่านข้อมูลเพิ่มเติมและหัวข้อเรื่องอื่นๆ ได้จากงานสัมมนาชายแดนใต้ พื้นที่ ผู้คน และข้อเสนอเชิงนโยบาย ที่ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
ภาพประกอบปก