ดร.ชูวิทย์ มิตรชอบ รักษาการแทนผู้อำนวยการ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. กล่าวว่า ทาง อพท. ได้นำเสนอแผนยุทธศาสตร์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนเลย ปี 2563-2570 ต่อนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ในโอกาสเดินทางเข้าร่วมกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวในแคมเปญ Explore the Unseen Thailand หรือ เรารู้จักกันดีพอหรือยัง เพื่อส่งเสริมให้ชาวต่างชาติที่พำนักในประเทศไทย (เอ็กซ์แพท) ที่อยู่ในพื้นที่ภาคอีสานเหนือได้เดินทางท่องเที่ยวเชื่อมโยงกันระหว่างจังหวัด
ทั้งนี้ แผนยุทธศาสตร์ฯ ดังกล่าว อพท. จะนำเกณฑ์มาตรฐานการท่องเที่ยวโดยชุมชน หรือ CBT Thailand ไปพัฒนาให้กับชุมชนที่มีแหล่งท่องเที่ยว เป้าหมายดำเนินการใน 15 ชุมชน ครอบคลุม 9 อำเภอ ในจังหวัดเลย เพื่อให้เกิดการกระจายออกไปชุมชนต่างๆ ที่เชื่อมโยงกับชุมชนที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวหลัก โดยชุมชนจะมีรายได้เพิ่มจากการให้บริการทางการท่องเที่ยว โดยเฉพาะพื้นที่เชียงคาน ซึ่งเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวต้นแบบของ อพท. ที่ได้เลือกบรรจุใน 100 แหล่งท่องเที่ยวยั่งยืนระดับโลก หรือ Sustainable Destinations TOP 100 จากหน่วยงานระดับโลก Green Destinations Foundation ประเทศเนเธอร์แลนด์ ร่วมกับคณะผู้จัดงานส่งเสริมการท่องเที่ยวระดับโลก ITB (Internation Tourism Borse) กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี
“เป้าหมายในการทำงานของ อพท. จะพัฒนาเพื่อใช้การท่องเที่ยวยกระดับคุณภาพชีวิต มีรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากการให้บริการ โดย อพท. จะเพิ่มกิจกรรมการท่องเที่ยวเข้าไปใน 15 ชุมชน ครอบคลุม 9 อำเภอของจังหวัดเลย และเป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานการบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยวโดยชุมชน หรือ มาตรฐาน CBT Thailand มีเชียงคานเป็นต้นแบบและขยายผลไปยังพื้นที่อื่น ๆ ที่เชื่อมโยงกันโดยยึดอัตลักษณ์ให้จังหวัดเลยเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์และวัฒนธรรม” ดร.ชูวิทย์ กล่าว
โกยรายได้เข้าจังหวัด 3.5 หมื่นล้านบาท
ซึ่ง ดร.ชูวิทย์ กล่าวว่า 9 อำเภอ ที่จะพัฒนานั้นได้แก่ อำเภอเมืองเลย เชียงคาน ท่าลี่ ด่านซ้าย ภูเรือ นาแห้ว ภูกระดึง ภูหลวง และหนองหิน แต่ละอำเภอจะกำหนดธีมการท่องเที่ยวที่แตกต่างกัน เป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์ (2563-2570) ที่มีเป้าหมายการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวสะสมรวมกว่า 35,000 ล้านบาท ภายในปี 2570 จากปัจจุบัน 90% ของการท่องเที่ยวในจังหวัดเลยเป็นแบบไทยเที่ยวไทย แต่จากธีมใหม่ตามยุทธศาสตร์ที่ อพท. กำหนดพัฒนาการท่องเที่ยวใน 9 อำเภอ ให้เกิดความแตกต่าง เป้าหมายดำเนินงานคือการเพิ่มจำนวนวันพักค้างคืนของนักท่องเที่ยว เช่นจาก 2 วัน 1 คืน ให้เป็น 5 วัน 4 คืน เบื้องต้นนำร่องเริ่มทดสอบจากเส้นทางตามรอยแสวงธรรมหลวงปู่มั่นที่เชื่อมโยงไปยังจังหวัดสกลนคร ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ อพท. เข้าไปพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวสายธรรมะ ด้วยการบรรจุแผนการพัฒนาไว้ในปีงบประมาณ 2564
ปัจจุบันจังหวัดเลยได้พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ คือ สกายวอล์ค บนภูเขาปากน้ำเหือง บริเวณพระใหญ่ภูคกงิ้ว ติดแม่น้ำโขง บ้านท่าดีหมี ตำบลปากตม โดย อพท. มีหน้าที่บูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการเข้าไปพัฒนาแผนการบริหารจัดการด้านการท่องเที่ยวที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นเพื่อกระจายจำนวนนักท่องเที่ยวที่คาดว่าจะเข้ามาใช้บริการจำนวนมาก ด้วยการใช้กลไกการส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนให้เป็นจุดเชื่อมโยงและจุดพัก เพื่อชะลอจำนวนนักท่องเที่ยวก่อนเข้าสัมผัสชมธรรมชาติบนสกายวอล์ค
สร้างโครงข่ายชุมชนรองรับนักท่องเที่ยว
ด้าน นายธรรมนูญ ภาคธูป ผู้จัดการสำนักงานพื้นที่พิเศษ 5 จังหวัดเลย หรือ อพท.5 กล่าวว่า เวลานี้อยู่ระหว่างการดำเนินงานตามแผนแม่บทการพัฒนาปี 2563-2570 ซึ่งต่อยอดจากแผนแม่บทเดิมที่ครบกำหนด รูปแบบการดำเนินงานยังคงเน้นรูปแบบบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พัฒนาจังหวัดเลยให้มีกิจกรรมการท่องเที่ยวที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น นอกเหนือจากการเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติและวัฒนธรรม จังหวัดเลยมีเป้าหมายที่จะเปิดพื้นที่ท่องเที่ยวอื่นๆ เพื่อรองรับจำนวนนักท่องเที่ยวที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในพื้นที่เชียงคานและภูกระดึง ดังนั้น อพท. 5 จะเข้าไปพัฒนาส่งเสริมชุมชนต่าง ๆ เพื่อเพิ่มศักยภาพให้ชุมชนเหล่านั้นมีความเข้มแข็ง เป้าหมายคือพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวโดยชุมชน สร้างเป็นโครงข่ายเชื่องโยงระหว่างกันใน 15 ชุมชนเป้าหมาย โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการพัฒนาให้เข้าสู่เกณฑ์มาตรฐาน CBT Thailand และยกระดับขึ้นเป็นชุมชนต้นแบบ
สำหรับพื้นที่ท่องเที่ยวโดยชุมชนที่มีความโดดเด่นด้านวัฒนธรรมและวิถีที่สามารถพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวมี 9 ชุมชนรอบสกายวอล์ค สำหรับรองรับนักท่องเที่ยวที่จะเพิ่มจำนวนมากขึ้น เช่น ชุมชนบ้านกลาง ตำบลปากตม อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย เป็นชุมชนของชาวไทพวนที่อพยพมาจากเมืองพวนทางตอนเหนือของประเทศลาว ที่ยังคงรักษาขนบธรรมเนียมการละเล่น และชุมชนบ้านคกงิ้ว ซึ่งมีโครงการพระราชดำริ และ อพท.ได้เข้าไปส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนแหล่งเรียนรู้ศาสตร์พระราชา น้อมนำมาเป็นเครื่องมือในการดำเนินชีวิตทั้งด้านการเพาะปลูก การพัฒนาผลิตภัณฑ์ประจำชุมชน จัดตั้งเป็นศูนย์ชุมชนคกงิ้ว และเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ที่สามารถรองรับการท่องเที่ยวด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ยังมีชุมชนอื่น ๆ ที่ยังมีอัตลักษณ์ให้นักท่องเที่ยวเข้าใช้บริการด้านการท่องเที่ยว ที่มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้นทั้งวิถีริมโขง วิถีทางวัฒนธรรม วิถีเกษตร เป็นต้น
ผลักดันกิจกรรมชุมชนสร้างรายได้เพิ่ม
ส่วนแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอื่นๆ ได้แก่ ชุมชนบ้านนาป่าหนาดเป็นคนเชื้อสายไทดำ หรือ ชาวไทดำกลุ่มชาติพันธุ์ที่อพยพมาจากจังหวัดเดียนเบียนฟู ประเทศเวียดนามเมื่อสมัยเกิดสงครามฝรั่งเศสเวียดนาม ที่เป็นอีกชุมชนหนึ่งที่จะเข้ามาเพิ่มเติมสีสันให้แก่อำเภอเชียงคาน เพราะมีการรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีทางวัฒนธรรมโดยเฉพาะการจัดทำโคมไฟที่ดัดแปลงมาจากตุ้มหนู (กรง) และ ตุ้มนก (กรง) ใช้เป็นเครื่องลางแสดงถึงความโชคดีของชุมชนที่แขวนไว้หน้าบ้านทุกหลัง ความเข้มแข็งของวัฒนธรรมของชุมชนแห่งนี้จึงพัฒนาให้เป็นเส้นทางการท่องเที่ยว“ถนนคนเดิน” ในยามค่ำคืน มีการนำอาหารประจำถิ่นมาจำหน่าย เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้ซื้อชิมสัมผัสรสชาติ ซึ่งหลังจากเปิดทดลองให้บริการที่ผ่านมา ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก ทำให้ชุมชนมีรายได้ที่เพิ่มขึ้น นอกจากนั้นยังส่งเสริมให้เยาวชนในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การร่ายรำประจำถิ่น เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ และ ซึมซับทางวัฒนธรรมสามารถรักษาสืบต่อไป
โดยในการรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ยังอยู่ในแผนที่ อพท. กำลังพัฒนาแผนการตลาดการสร้างเส้นทางเชื่อมโยงไปยังประเทศลาว ซึ่งเป็นเส้นทางการท่องเที่ยววัฒนธรรมล้านช้าง ดังนั้นการที่เชียงคานได้รับการจัดอันดับ Top 100 ของโลก จะช่วยสร้างกระแสการรับรู้ให้กับตลาดต่างประเทศมากยิ่งขึ้น เนื่องจากผู้จัดงาน ITB กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี จะนำสถานท่องเที่ยวยั่งยืนที่ผ่านการคัดเลือกขึ้นบนเว็บไซต์เพื่อแนะนำเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญอีกแห่งหนึ่งที่ได้มาตรฐานระดับโลก