กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เผย มาตรการส่งเสริมการตั้งครรภ์อย่างสมัครใจให้สอดคล้องกับหลักสากลของการพัฒนาประชากรเพื่อรับมือสังคมผู้วัยในอนาคต โดยส่งเสริมการมีบุตรในกลุ่มหญิงวัยเจริญพันธุ์ที่มีความพร้อม ควบคู่ไปกับป้องกันการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยในการนำเสนอข้อมูลเรื่องการส่งเสริมการเกิดอย่างมีคุณภาพภายใต้แผนประชากรเพื่อการพัฒนาประเทศระยะยาว 20 ปี (ปี 2560-2579) ณ โรงแรมริชมอนด์ จังหวัดนนทบุรี ว่า กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาอนามัยการเจริญพันธุ์แห่งชาติ ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2560-2569) ว่าด้วยการส่งเสริมการเกิดและการเจริญเติบโตอย่างมีคุณภาพ เพื่อรักษาระดับอัตราการเจริญพันธุ์ รวมไม่ต่ำกว่า 1.6 การเกิดทุกรายมีการวางแผน มีการเตรียมความพร้อมตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ และได้รับความช่วยเหลือในการมีบุตรส่งเสริมให้ลูกเกิดรอด แม่ปลอดภัย ได้รับการดูแลหลังคลอดที่ดี เด็กได้รับการเลี้ยงดูในสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการสมวัย พร้อมที่จะเรียนรู้ในช่วงวัยต่อไปอย่างมั่นคง ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการส่งเสริมให้หญิงวัยเจริญพันธุ์ อายุ 20-34 ปีทุกคน ที่พร้อมตั้งใจและวางแผนจะมีลูก กินวิตามินเสริมธาตุเหล็กและกรดโฟลิกหรือวิตามินแสนวิเศษสัปดาห์ละครั้ง อย่างน้อย 12 สัปดาห์ก่อนการตั้งครรภ์ พร้อมได้รับคำแนะนำการเตรียมตัวก่อนตั้งครรภ์ นพ.วชิระ กล่าวต่อไปว่า สำหรับมาตรการส่งเสริมการเกิดภาครัฐมีการสนับสนุนให้คู่สมรสที่มีเงินได้ ได้รับการลดหย่อนภาษีสำหรับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายคนละ 30,000 บาท โดยไม่จำกัดจำนวนบุตร สนับสนุนการดำเนินงานตาม พ.ร.บ.ควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก พ.ศ. ... การสนับสนุนยาเม็ดเสริมไอโอดีน ยาเม็ดเสริมธาตุเหล็ก และกรดโฟลิก ในหญิงวัยเจริญพันธุ์ เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนการตั้งครรภ์ ขณะตั้งครรภ์ จนถึงหลังคลอด 6 เดือน การฝากครรภ์ทุกที่ ฟรีทุกสิทธิ สนับสนุนเงินสงเคราะห์บุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย อายุ 0-6 ปีบริบูรณ์ สำหรับผู้ประกันตนเหมาจ่ายเดือนละ 400 บาท คราวละ ไม่เกิน 3 คน สิทธิเรียนฟรีตามสิทธิขั้นพื้นฐานภายใต้รัฐธรรมนูญจนถึงอายุ 12 ปี การจัดตั้งมุมนมแม่ในสถานประกอบกิจการ มีโครงการ บขส.ส่งความรักจากอ้อมอกแม่สู่ลูก ด้วยการส่งนมแม่แช่แข็งโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายผ่านบริการรับ-ส่งพัสดุภัณฑ์ One day One night ทั่วประเทศ เพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 12 สิงหาคม “ทั้งนี้ ปัจจุบันประเทศไทยมีอัตราเจริญพันธุ์รวมอยู่ในระดับต่ำ โดยผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์อายุ 15-49 ปี มีบุตรเฉลี่ยเพียง 1.6 คน ซึ่งต่ำกว่าอัตราทดแทนทางประชากร อัตราการเกิดโดยรวมของประเทศไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง จากที่เคยมีจำนวน เด็กเกิดใหม่มากกว่าปีละ 1 ล้านคน ในระหว่างปี 2506- 2526 ลดลงเหลือเพียงประมาณ 736,000 คนในปี 2558 และเป็นการเกิดจากแม่วัยรุ่นที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี ประมาณ 104,300 คน ขณะเดียวกันประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบรูณ์ คือมีสัดส่วนประชากรที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป มากกว่าร้อยละ 20 ในอีก 5 ปีข้างหน้า ส่วนประชากรวัยแรงงานอายุ 15-59 ปี จะลดลงจาก 43 ล้านคนในปัจจุบัน เป็น 40.7 ล้านคนในอีก 10 ปี และลดลงเหลือ 35.1 ล้านคนในปี 2583 การวางแผนด้านประชากรเพื่อรองรับการเข้าสู่สังคมสูงอายุจึงเป็นเรื่องสำคัญ โดยส่งเสริมการมีบุตรในกลุ่มหญิงวัยเจริญพันธุ์ที่มีความพร้อม ควบคู่ไปกับป้องกันการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว ทางด้าน ดร.วาสนา อิ่มเอม ผู้ช่วยผู้แทนกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย (UNFPA) กล่าวว่ากองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติมีภารกิจส่งเสริมให้ทุกการตั้งครรภ์เป็นที่ต้องการ ทุกการคลอดปลอดภัย ทุกศักยภาพของเยาวชนได้รับการส่งเสริมอย่างเต็มที่ ตามที่กรมอนามัยได้กำหนดยุทธศาสตร์สำคัญเพื่อช่วยให้วัยรุ่นเข้าถึงบริการการวางแผนครอบครัว สร้างระบบบริการที่ครอบคลุม ให้คำปรึกษา ความรู้ บริการคุมกำเนิดที่เข้าถึงง่าย และระบบการดูแลช่วยเหลือเมื่อเกิดปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พร้อม ลดปัญหาการยุติการตั้งครรภ์ที่ไม่ปลอดภัย และโดยเฉพาะการป้องกันการตั้งครรภ์ซ้ำในวัยรุ่น ด้วยการสนับสนุนการให้บริการวิธีคุมกำเนิดชนิดกึ่งถาวรด้วยการใส่ห่วงอนามัยและยาฝังคุมกำเนิดแก่วัยรุ่นที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี ให้กับสถานบริการเครือข่ายของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ตั้งแต่ 1 พฤษภาคม 2557 ที่ผ่านมา และกรมอนามัยยังให้ความสำคัญเพื่อพัฒนาการให้บริการที่เป็นมิตรสอดคล้องต่อความต้องการของวัยรุ่น โดยสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้วัยรุ่นสามารถเข้าถึงบริการอนามัยการเจริญพันธุ์ได้อย่างแท้จริง ตามแนวทางการประชุมระหว่างประเทศเรื่องประชากรและการพัฒนา หรือ ICPD - The International Conference in Population and Development และเรื่องสิทธิอนามัยการเจริญพันธุ์ซึ่งเป็นหนึ่งในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDG เป้าหมายที่ 3.7.1 ที่มุ่งเน้นให้สตรีวัยเจริญพันธุ์ที่มีความต้องการเรื่องการวางแผนครอบครัวพอใจกับการคุมกำเนิดสมัยใหม่ ซึ่งการคุมกำเนิดไม่ได้ช่วยเพียงแค่ให้ผู้หญิงมีสุขภาพที่ดีขึ้นเท่านั้น แต่ ดร.บาบาทุนเด โอโซทิเมฮิน อดีตผู้อำนวยการกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ ได้เคยกล่าวไว้ว่า เพื่อที่จะให้สตรีทั้งปวงสามารถใช้ศักยภาพ ได้อย่างเต็มที่และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้อย่างเกิดประสิทธิผล จำเป็นมากที่สตรีจะต้องได้รับสิทธิในการตัดสินใจเองว่าพวกเธอจะมีบุตรหรือไม่ เมื่อใด และอย่างไร การให้สิทธิเหล่านี้แก่สตรีทำให้มีการพัฒนาด้านสุขภาพและก่อให้เกิดคุณประโยชน์มากมาย ได้แก่ ทำให้เกิดการลงทุนมากขึ้นในด้านการศึกษา ก่อให้เกิดผลผลิตที่มากขึ้น เกิดการมีส่วนร่วมของแรงงานมากขึ้น นำไปสู่รายได้ที่เพิ่มสูงขึ้น เงินออมที่มากขึ้น การลงทุนที่มากขึ้น และการสะสมสินทรัพย์ที่มากขึ้น “สำหรับวันประชากรโลก (World Population Day) ซึ่งตรงกับวันที่ 11 กรกฎาคมของทุกปี ถูกกำหนดขึ้นโดยคณะมนตรีประศาสน์การของสหประชาชาติว่าด้วยการพัฒนาตั้งแต่ปี 2532 เพื่อให้คนทั่วโลกเกิดความตระหนักในประเด็นปัญหาของประชากรโลก ซึ่งในปี 2560 นี้ ได้กำหนดแนวคิดว่า การวางแผนครอบครัว คือการสร้างพลังแก่ประชาชนและการพัฒนาประเทศ” ผู้ช่วยผู้แทนกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย (UNFPA) กล่าว