“พุทธิพงษ์” ร่วมกับ กสทช. หารือผู้ให้บริการมือถือ-ไอเอสพี ถึงแนวทางการดำเนินการต่อข้อมูลและเว็บไซต์ไม่เหมาะสมในช่วง พรก.ฉุกเฉินฯ เตือนผู้ใช้โซเชียลมีเดียอย่าโพสต์ข้อความที่สร้างความเสียหายต่อส่วนรวม นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) และนายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทนเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (รักษาการแทน เลขาธิการ กสทช.) กล่าวว่า กระทรวงฯ และสำนักงาน กสทช. ได้เชิญผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ISP) และผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตเกตเวย์ (IIG) ในประเทศไทย ทุกรายร่วมประชุมเพื่อซักซ้อมความเข้าใจในแนวทางปฏิบัติตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ในเขตท้องที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 14 ต.ค.2563 และข้อกำหนดที่ห้ามเสนอข่าว จำหน่าย หรือทำให้แพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใด รวมทั้งข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ที่มีข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร ทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉินจนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และข้อกำหนดสำหรับผู้ที่สงสัยว่าจะเป็นผู้ร่วมกระทำให้เกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือเป็นผู้ใช้ ผู้โฆษณา ผู้สนับสนุนการกระทำดังกล่าว หรือปกปิดข้อมูลการกระทำดังกล่าว ทั้งนี้ กระทรวงดีอีเอส และสำนักงาน กสทช. ขอกำชับให้ ISP และ IIG พึงระวังไม่ให้มีการดำเนินการใดๆ ที่อาจเข้าข่ายเป็นการกระทำที่ห้ามตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินข้างต้น โดยเฉพาะในส่วนของการทำให้แพร่หลายของข้อมูลที่ไม่เหมาะสม และการสนับสนุนให้มีการทำให้แพร่หลายของข้อมูลที่ไม่เหมาะสม และขอให้สนับสนุนการดำเนินงานของรัฐในช่วงสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงนี้อย่างเต็มที่ หากพบว่าผู้ให้บริการรายใดกระทำการที่เข้าข่ายข้างต้น อาจเป็นผลให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมดำเนินการตามกฎหมาย และสำนักงาน กสทช. บังคับทางปกครองต่อ ISP และ IIG ต่อไป ซึ่งอาจเป็นผลให้มีการพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตได้ “ทุกคนสามารถแสดงสิทธิเสรีภาพ ภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญ แต่ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย โดยเฉพาะการโพสต์ข้อความผ่านโซเชียล เว็บไซต์ต่างๆ ขอให้กระทำด้วยความระมัดระวัง งดเผยแพร่ข้อความที่เป็นเท็จ บิดเบือนหรือข่าวปลอม รวมถึงต้อง ไม่ยุยง ปลุกปั่น สร้างความแตกแยกในสังคม ไม่ทำให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชน ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงด้านเศรษฐกิจที่สำคัญ ต้องไม่ละเมิดสถาบันหลักของประเทศ เพราะการกระทำดังกล่าวจะเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพ์ฯ รวมถึง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ประกาศใช้ล่าสุดด้วย” นายพุทธิพงษ์กล่าว นอกเหนือจากการเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ หรือตามโซเชียลมีเดียแล้ว อยากให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตทุกรายติดตามการไลฟ์สดด้วย ซึ่งกระทรวงและรัฐบาลได้ติดตามและเก็บข้อมูลไว้แล้วตั้งแต่วันที่ 14 ต.ค.2563 บางกลุ่มอาจมองว่าไม่มีปัญหาก็ไลฟ์สดไปเรื่อยๆ ทั้งนี้ หากพบว่าการไลฟ์สดนั้นมีการกระทำความผิดตามพ.ร.บ.คอมฯ และพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งรัฐบาลจะดำเนินการตามกฏหมายทันที และยิ่งตอนนี้ทางรัฐบาลได้บังคับใช้กฏหมายอย่างจริงจัง ดังนั้น จึงขอความร่วมมือประชาชนระมัดระวังการเผยแพร่ข่าวสารที่บิดเบือนไม่เป็นจริง และไม่อยากให้มีการดำเนินคดีเกิดขึ้น จึงอยากฝากให้ประชาชนระมัดระวัง เพราะมีการมอนิเตอร์ทุกชั่วโมง