หลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ฝนตกในกรุงเทพทีไร นอกจากทำให้การจราจรติดขัด ยังทำให้ถนน ตรอกซอกซอยหลายสายมีน้ำท่วมสูง น้ำท่วมก่อปัญหาหลายประการ น้ำท่วมทำให้ 1) การจราจรที่แย่อยู่แล้ว สาหัสมากขึ้น 2) ผู้คนสัญจรลำบาก ต้องเดินลุยน้ำ 3) บ้านเรือน ร้านค้าริมถนนถูกน้ำท่วมเข้าบ้าน 4) พ่อค้าแม่ค้าริมทาง หาเช้ากินค่ำ ที่เวลาฝนตกก็ค้าขายลำบากอยู่แล้ว ต้องลำบากมากขึ้นไปอีก 5) มนุษย์เงินเดือนที่ทำงานเหนื่อยมาทั้งวัน ตื่นและออกจากบ้านแต่เช้ามืด สิ้นวันยังต้องตรากตรำในการกลับบ้าน 6) คนที่ต้องอาศัยขนส่งสาธารณะเผชิญความยากลำบาก ทั้งรถเมล์ที่รอนาน แท๊กซี่ที่หาไม่ได้ รถมอเตอร์ไซค์ที่เสี่ยงเกิดอุบัติเหตุ บางคนอาจไม่ได้กลับไปเจอหน้าลูกเมียด้วยซ้ำ ทั้งหมดนี้ยังไม่นับต้นทุนเวลาที่เสียไป พลังงานที่ปล่อยทิ้ง และรถยนต์ที่ต้องจมน้ำเสียหาย
ภาพเหล่านี้สะท้อนใจว่า ทำไมคนกรุงเทพฯ ถึงมีคุณภาพชีวิตตกต่ำขนาดนี้ ทำไมคุณค่าและราคาชีวิตคนกรุงเทพฯถึงได้ถูกเพียงนี้
ความรู้สึกที่ว่า กรุงเทพฯขาดการพัฒนา ส่งผลต่อคุณภาพชีวิต กำลังปกคลุมไปทั่ว ความรู้สึกเหล่านี้ มองเผินๆ เหมือนใช้อารมณ์หรือปากพาไป แต่เอาเข้าจริง กลับพบหลักฐานและผลสำรวจหลายชิ้น ที่สะท้อนปัญหากรุงเทพฯ เหล่านี้ เช่น - ผลสำรวจของ InterNations ในกลุ่มคนต่างชาติที่มาทำงานในต่างประเทศ (expat) ที่ปัจจุบันมีสมาชิกกว่า 3.5 ล้านคน ถึงความเห็นต่อเมืองต่างๆ ที่ตนไปใช้ชีวิตและทำงานอยู่ ผลสำรวจในปี 2019 จาก expat มากกว่า 20,000 คนที่อาศัยใน 187 ประเทศ พบว่า ไทยได้คะแนนสูงในแง่ค่าครองชีพ (local cost of living) ถูก โดยอยู่อันดับ 9 ของการสำรวจ แต่ได้คะแนนต่ำในแง่คุณภาพชีวิตคนเมือง (quality of urban living index) ที่อยู่อันดับ 56 ของการสำรวจ เช่นเดียวกับคุณภาพสิ่งแวดล้อม (quality of the environment) ที่อยู่อันดับ 79 - ผลสำรวจของ Mercer’s 21st annual Quality of Living Survey ที่เปรียบเทียบคุณภาพชีวิตของประชากรที่อาศัยในแต่ละเมืองทั้งมิติสภาพแวดล้อมการทำธุรกิจและการใช้ชีวิต โดยเก็บข้อมูลระหว่างกันยายน - พฤศจิกายน 2018 ที่พบว่ากรุงเทพฯอยู่ลำดับ 133 จากการสำรวจทั้งหมด 450 ประเทศ - ผลสำรวจ IMD Smart City (SCI) Index 2019 ของ World Competitiveness Center’s Smart City Observatory ภายใต้ IMD Business School จัดอันดับกรุงเทพฯให้อยู่ที่ 75 จาก 102 เมืองทั่วโลกในแง่ความเป็นสมาร์ทซิตี้ ทั้งนี้ ผู้ให้สำรวจให้ความเห็นต่อกรณีกรุงเทพฯ ว่า “อยู่ในระดับต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของเมืองที่อยู่ในระดับเดียวกัน” - ผลสำรวจของ McKinsey ในเรื่องค่าใช้จ่ายในการเข้าถึงขนส่งสาธารณะ พบว่าจากการสำรวจเมืองใหญ่ 24 เมืองทั่วโลก กรุงเทพฯได้คะแนนต่ำสุด กล่าวคือ ถ้าเทียบกับเมืองใหญ่อื่นๆ ต้นทุนต่อเดือนในการใช้ขนส่งสาธารณะเทียบกับรายได้เฉลี่ยของประชากรแล้วแพงสุด - จาก Sustainable Cities Mobility Index ที่สำรวจความยั่งยืนของเมืองผ่านการเดินทาง ว่าส่งเสริมความยั่งยืนในการใช้ชีวิตของคนเมืองหรือไม่ ครอบคลุม 3 มิติทั้งทางสังคม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ ผลปรากฏว่า กรุงเทพฯอยู่อันดับที่ 92 จาก 100 เมืองในการจัดอันดับ - คุณภาพอากาศกรุงเทพฯ อยู่ในระดับต่ำ ในปี 2563 บางช่วงเวลาคุณภาพต่ำสุดติดหนึ่งในสามของโลก กระทบต่อสุขภาพ และการใช้ชีวิต โดยเฉพาะต่อผู้มีรายได้น้อย ผู้ประกอบอาชีพและผู้ใช้ชีวิตริมทางหรือภายนอกอาคาร ดังนั้น การที่ปัจจุบัน ฝนตกในกรุงเทพฯ เมื่อใด น้ำท่วมเมื่อนั้น ไม่ใช่ปัญหาชั่วครั้งชั่วคราว หรือแค่เรื่องเดียวที่คนกรุงเทพฯต้องอดทน หากแต่สะท้อนความล้มเหลวในการจัดการเมืองในทุกมิติของผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ในการสร้างเมืองให้มีคุณภาพ ที่สามารถส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัย กรุงเทพฯ อาจเป็นเมืองน่าท่องเที่ยว น่าประทับใจของนักเดินทาง ดังผลสำรวจที่กรุงเทพฯ ได้รับความนิยมในสายตาชาวต่างชาติเสมอ เช่น Master Global Destination Cities Index 2019 ที่จัดให้กรุงเทพฯ อยู่ลำดับ 1 ที่มีนักท่องเที่ยวมาเยือนพักค้างคืนมากสุดในโลก ความนิยมของกรุงเทพฯ ในหมู่นักท่องเที่ยว ที่มาแล้วก็ไป อาจไม่ใช่เรื่องน่าภูมิใจนัก หากกรุงเทพฯ ดีต่อผู้มาท่องเที่ยวเท่านั้น แต่ไม่ได้ตอบโจทย์ หรือดีต่อผู้อยู่อาศัยหรือใช้ชีวิตจริง
หลายท่านอาจไม่ทราบ จากข้อมูลของสถาบันอนาคตไทยศึกษา ภายใต้พื้นที่ 1,568 ตารางกิโลเมตรของกรุงเทพมหานคร มีเจ้าหน้าที่เทศกิจ 3,200 คน กล่าวคือโดยเฉลี่ยมีเจ้าหน้าที่เทศกิจถึง 2 คนต่อพื้นที่ 1 ตารางกิโลเมตร คำถามคือทำไมคนกรุงเทพฯ ยังเจอปัญหาทางเท้าชำรุด ไม่ได้รับการแก้ไข ป้ายโฆษณาเกะกะกีดขวางทางเท้า ทั้งหมดนี้ล้วนสะท้อนปัญหาการจัดการทั้งนั้น
ทั้งนี้ ยังไม่นับความท้าทายหลายอย่างที่กรุงเทพฯ ต้องเผชิญในอนาคต เช่น วิกฤติโลกร้อนที่จะก่อปัญหาน้ำท่วมในกรุงเทพฯ ให้หนักขึ้น จากสถิติ 2017 Global Climate Risk Index ของ Germanwatch กรุงเทพฯกำลังเผชิญวิกฤตน้ำท่วมมากขึ้น โดยไทยอยู่อันดับ 10 ของประเทศที่ได้รับผลกระทบจากโลกร้อนมากสุดตลอด 2 ทศวรรษที่ผ่านมา จากการประมาณการ หากอุณหภูมิเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 4 องศาเซลเซียส เสี่ยงทำให้น้ำทะเลสูงขึ้น 15 ซม.ในปี 2030 และ 88 ซม.ในปี 2080 นอกจากโลกร้อนจะทำให้น้ำทะเลหนุนสูงขึ้น น้ำท่วมเพิ่มขึ้น ยังทำให้ดินทรุดตัวมากขึ้นด้วย ทั้งนี้พบว่าปัจจุบันดินกรุงเทพฯเสี่ยงทรุดตัวปีละ 1-2 ซม. ทั้งปัญหาในปัจจุบันของกรุงเทพมหานคร ที่กระทบต่อคุณภาพชีวิตคนกรุงเทพฯ อย่างร้ายแรง และความท้าทายในอนาคตที่กรุงเทพฯ ต้องเผชิญ กรุงเทพฯ ต้องการการบริหารจัดการและการเปลี่ยนแปลงอย่างเร่งด่วน ทำอย่างไร ให้กรุงเทพฯ น่าอยู่กว่านี้ คนกรุงเทพฯ มีคุณภาพชีวิตดีกว่านี้ กรุงเทพฯ ควรดีกว่านี้ได้ครับ ดร.สิทธิพล วิบูลย์ธนากุล (ขอบคุณภาพจาก JS100, Doraemom Tanthakosai)