เรื่อง : พุทธชาติ แซ่เฮ้ง
เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันสวรรคต พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร วันที่ 13 ตุลาคม 2563 ประชาชนทุกหมู่เหล่าล้วนรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่เป็นล้นพ้นหาที่สุดมิได้
ในการนี้ "สยามรัฐ"ขอนำเสนอรายงานพิเศษเพื่อร่วมรำลึกในพระอัจริยภาพ พระปรีชาชาญ และน้ำพระทัยที่ทรงช่วยเหลือพสกนิกรของพระองค์ตลอดรัชสมัย โดยเฉพาะในเรื่องน้ำที่มีความสำคัญ
"...หลักสำคัญว่าต้องมีน้ำบริโภค น้ำใช้ น้ำเพื่อการเพาะปลูก เพราะว่าชีวิตอยู่ที่นั่น ถ้ามีน้ำคนอยู่ได้ ถ้าไม่มีน้ำ คนอยู่ไม่ได้ ไม่มีไฟฟ้าคนอยู่ไม่ได้ แต่ถ้ามีไฟฟ้าไม่มีน้ำคนอยู่ไม่ได้..."
พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทาน ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2529
พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงเห็นความสำคัญของน้ำ และทรงตระหนักด้วยพระปรีชาสามารถ ด้วยพระราชหฤทัยห่วงใยราษฎร จึงทรงตั้งพระราชหฤทัยเกี่ยวกับการพัฒนาแหล่งน้ำเป็นลำดับแรกอย่างมากมายพระราชทานพระราชดำรัสเสมอว่า "น้ำคือชีวิต"
จากการที่ พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรในภูมิภาคต่างๆ ทำให้ทรงทราบถึงปัญหาความเดือดร้อนของราษฎรเกี่ยวกับเรื่องน้ำใน 3 ด้าน คือ น้ำแล้ง น้ำท่วม และน้ำเสีย จึงนำมาซึ่งแนวทางพระราชดำริในการแก้ปัญหาน้ำที่สำคัญได้แก่ การแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำ การแก้ปัญหาน้ำท่วม และการแก้ปัญหาคุณภาพน้ำ
ดังนั้น พระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จึงทรงพระราชทานแนวพระราชดำริจนก่อเกิดเป็นโครงการอันเนื่องจากพระราชดำริ ปัจจุบันมีจำนวน 4,000 กว่าโครงการทั่วประเทศ โดยมีกรมชลประทาน เป็นหน่วยงานหลักในการรับสนองพระราชดำริใน "โครงการพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ" เพื่อประโยชน์ในกิจกรรมต่างๆ รวมทั้งการแก้ไขปัญหาและบรรเทาความเดือดร้อนอันเนื่องจากน้ำ อาทิ
โครงการอ่างเก็บน้ำเขาเต่า อันเนื่องมาจากพระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จเยือนประชาชนเขตอำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ทรงเห็นความลำบากของประชาชนในหมู่บ้านเขาเต่า ซึ่งมีประชากรอยู่กันอย่างหนาแน่น ขาดแคลนน้ำที่จะใช้อุปโภค-บริโภค และช่วงน้ำทะเลขึ้นสามารถไหลเข้าท่วมพื้นที่เกษตรทุ่งตะกาด ทำให้ผลผลิตเสียหายพร้อมกันนี้ราษฎรได้รวมตัวกันน้อมเกล้าถวายที่ดินแด่พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จำนวน 300 ไร่ จึงมีพระราชดำริพร้อมมอบทรัพย์ส่วนพระองค์ จำนวน 60,000 บาทให้กรมชลประทาน ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำเขาเต่า ซึ่งนับเป็นโครงการตามพระราชดำริ แห่งแรกของกรมชลประทาน
เขื่อนขุนด่านปราการชล โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2536 เนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานพระราชดำริให้กรมชลประทานพิจารณาวางโครงการเพื่อก่อสร้างเขื่อนคลองท่าด่าน บริเวณบ้านท่าด่าน ตำบลหินตั้ง อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก เพื่อช่วยบรรเทาอุทกภัยในลุ่มน้ำนครนายกที่เกิดเป็นประจำ ด้วยระบบชลประทาน ที่จะช่วยควบคุมปริมาณน้ำไม่ให้ไหลเข้าท่วมพื้นที่ และยังสามารถช่วยราษฎรให้มีน้ำใช้ในการเกษตร การอุปโภคบริโภค ตลอดจนแก้ไขปัญหาดินเปรี้ยว ส่งผลให้ชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎรดีขึ้น
โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำห้วยบางทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมีความห่วงใยชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎรบริเวณพื้นที่ลุ่มน้ำห้วยบางทรายตอนบน อำเภอดงหลวง จังหวัดมุกดาหาร เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2537 ได้ทรงมีพระราชดำรัสกับ พลเอกเทียนชัย จั่นมุกดา รองสมุหราชองครักษ์ ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต ให้กรมชลประทานตรวจสอบสภาพพื้นที่ สภาพการถือครองที่ดิน สภาพน้ำท่า ในลำห้วยสายต่างๆ ตลอดจนสภาพการเพาะปลูกตำบลกกตูม อำเภอดงหลวง จังหวัดมุกดาหาร เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาศึกษาเบื้องต้น โครงการจัดหาแหล่งน้ำช่วยเหลือการเพาะปลูกและการอุปโภคบริโภคของราษฎรบริเวณดังกล่าว
นอกจากนี้ กรมชลประทาน ได้ดำเนินการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำเพื่อช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรและการอุปโภคบริโภคในเขตโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำห้วยบางทรายตอนบน จำนวน 7 อ่างฯ ได้แก่ 1.อ่างเก็บน้ำห้วยทา บ้านแก่งนาง 2.อ่างเก็บน้ำห้วยตะไถ บ้านคำผักกูด 3.อ่างเก็บน้ำบ้านสานแว้ บ้านสานแว้ 4.อ่างเก็บน้ำห้วยพุ บ้านนาหินกอง 5.อ่างเก็บน้ำห้วยหอย บ้านปากช่อง 6.อ่างเก็บน้ำห้วยพุง บ้านนาโคกกุง และ7.อ่างเก็บน้ำห้วยไผ่ บ้านแก่งนาง
ปัจจุบัน โครงการพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ราษฎรในเขตพื้นที่โครงการนั้นๆ จากพื้นที่แห้งแล้งขาดแคลนน้ำก็ได้รับพระราชทานให้ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ส่งผลให้ราษฎรมีความเข้มแข็ง ทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สืบเนื่องมาจากพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงให้ความสำคัญและตระหนักถึงปัญหาความเดือดร้อนของราษฎรทั่วทุกภูมิภาค




