ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บีบีซี ไทย ได้สัมภาษณ์ "พล.ท.แสวง ขมะสุนทร" อดีตทหารราชองครักษ์พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในวัย 103 ปี แต่สิ่งหนึ่งที่อดีตทหารราชองครักษ์ผู้นี้ยังจำได้ดีจนขึ้นใจคือคำถวายรายงานตัวที่เขาจะต้องกล่าวทุกครั้งที่เข้าประจำการเป็นราชองครักษ์เวรถวายการอารักขาพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาภูมิพลอดุลยเดช "ข้าพระพุทธเจ้าพันโทแสวง ขมะสุนทร ผู้บังคับการกองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ พระพุทธเจ้าข้า ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมขอเดชะ" พล.ท.แสวงทบทวนข้อความนั้นด้วยเสียงดังฟังชัด ไม่มีติดขัด ในฐานะทหารราชองครักษ์ พล.ท.แสวง ซึ่งมียศเป็น "พันโท" ในขณะนั้นต้องนั่งประจำการอยู่หน้าห้องที่ประทับในพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ออกมาจากห้อง ราชองครักษ์เวรจะกล่าวถวายรายงานตัวด้วยข้อความข้างต้น จากนั้นก็จะตามเสด็จไปทุกที่ "ท่านจะเสด็จพระราชดำเนินไปไหนเราก็ต้องตามไป หากประทับรถยนต์พระที่นั่งที่มีเจ้าหน้าที่ขับให้ ท่านก็ประทับเบาะหลัง ส่วนเราที่เป็นราชองครักษ์เวรก็ทำความเคารพเสร็จแล้วก็ขึ้นไปนั่งข้างคนขับ เมื่อรถจอดเราต้องรีบลงก่อน ประจำที่รอทำความเคารพท่านเมื่อท่านเสด็จฯ ลงมา แต่ถ้าท่านเสด็จองค์เดียว ทรงขับรถเอง เราก็ไปนั่งที่นั่งข้างคนขับ" พล.ท. แสวงสรุปหน้าที่คร่าว ๆ ของราชองครักษ์เวรเมื่อราว 70 ปีก่อนให้บีบีซีไทยฟัง พล.ท.แสวง เป็นทหารสังกัดกรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ มาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จนกระทั่งได้รับแต่งตั้งเป็นผู้บังคับการกองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ หรือ "ร.11 พัน 2 รอ." ในปี 2495 "พอเป็นผู้บังคับการกองพันก็ได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นราชองครักษ์เวร กรมราชองครักษ์จะจัดเวรให้เข้าไปเฝ้าที่หน้าห้องพระตำหนัก (จิตรลดารโหฐาน) ตรงหน้าห้องที่ประทับของพระองค์ท่าน มีเก้าอี้นั่ง เราก็ไปนั่งอยู่นั่นจนกว่าท่านเสด็จฯ ออกมาจากห้อง เมื่อท่านเสด็จฯ ออกมาเราก็ต้องถวายรายงานตัวให้รู้ว่าเราเป็นใคร" พล.ท.แสวงย้อนความหลังเมื่อครั้งที่เขาเป็นทหารองครักษ์วัย 36 ปี "การเป็นราชองครักษ์ทำให้ได้เห็นว่าท่านเป็นคนช่างสังเกตและละเอียดอ่อนมาก สมัยนั้นพระองค์ท่านยังหนุ่มแน่น มักใช้วิทยุสื่อสาร ทรงเครื่องดนตรีและแต่งเพลง" พล.ท.แสวงกล่าว พล.ท.แสวงบอกว่าในสมัยนั้นหน่วยทหารรักษาพระองค์มีแค่ 2 กรมเท่านั้น คือ กรมทหารราบที่ 1 รักษาพระองค์กับกรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ ราชองครักษ์เวรจึงมีน้อย แต่ละคนจึงมีโอกาสได้เข้าเวรถวายการอารักขาเดือนละหลายครั้ง ถ้าราชองครักษ์เวรคนไหนลาป่วยหรือลากิจหรือมีเหตุสุดวิสัยใด พล.ท.แสวงคือคนที่กรมราชองครักษ์จะโทรศัพท์มาตามให้ไปปฏิบัติหน้าที่แทน "การเป็นราชองครักษ์ทำให้ได้เห็นว่าท่านเป็นคนช่างสังเกตและละเอียดอ่อนมาก สมัยนั้นพระองค์ท่านยังหนุ่มแน่น มักใช้วิทยุสื่อสาร ทรงเครื่องดนตรีและแต่งเพลง" เรื่องหนึ่งที่ในหลวงทรงสังเกตเห็นและนำความปลื้มปีติมาสู่ พล.ท.แสวงเป็นล้นพ้นก็คือในหลวงทรงมองเห็นความตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ราชองครักษ์เวรของ "คุณแสวง" ครั้งหนึ่ง พล.ท.แสวงถวายการอารักขาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลฯ ในงานเลี้ยงสังสรรค์แห่งหนึ่ง หลังงานนั้น พล.ร.อ.หม่อมเจ้ากาฬวรรณดิศ ดิศกุล สมุหราชองครักษ์ ถ่ายทอดสิ่งที่ในหลวงตรัสถึงเขา "พล.ร.อ.หม่อมเจ้ากาฬวรรณดิศบอกว่าในหลวงทรงชมว่าคุณแสวงคอยจ้องคอยระแวดระวังพระองค์ท่านอยู่ตลอดเวลาเลย เราก็นึกว่าพระองค์ทรงสนุกอยู่ในงานเลี้ยง แต่จริง ๆ แล้วท่านสังเกตเรา ซึ่งก็เป็นความจริงที่เราเฝ้ามองท่านตลอดเวลา เพราะเป็นหน้าที่ที่ต้องรักษาความปลอดภัยให้พระองค์ท่าน"