ซีพี และบริษัท รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน เหมาโบกี้รถไฟสายตะวันออกนำคณะที่ปรึกษาด้านความยั่งยืนสำรวจเส้นทางรถไฟแห่งอนาคต 220 กิโลเมตร ระดมไอเดียพัฒนาอย่างยั่งยืนในทุกมิติ ตั้งเป้าพัฒนาเมืองต้นแบบศูนย์กลาง อีอีซี ท่องเที่ยว+อุตสาหกรรม ดึงการมีส่วนร่วมทุกระดับจากท้องถิ่น ด้านซีอีโอเครือซีพีมั่นใจรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินคือหัวใจของอีอีซี ขับเคลื่อนไทยสู่ 4.0 เชื่อมภาคตะวันออกให้เป็นหนึ่งเดียวกับกรุงเทพฯและปริมณฑล สร้างผลตอบแทนทางสังคมมหาศาล พร้อมเดินหน้าโครงการหลัง รฟท.ส่งมอบที่ดิน นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ พร้อมด้วยคณะผู้บริหารซีพี คณะผู้บริหาร บริษัท รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด ได้จัดประชุมสัญจรคณะที่ปรึกษาด้านความยั่งยืนโครงการรถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบินบนรถไฟขบวนพิเศษเส้นทางรถไฟสายตะวันออก 220 กิโลเมตรจากสถานีหัวลำโพงถึงสถานีรถไฟพลูตาหลวง จ.ชลบุรี ซึ่งเป็นเส้นทางรถไฟแห่งอนาคตภายใต้การร่วมมือของภาครัฐและเอกชนครั้งแรกของประเทศไทย โดยรถไฟขบวนพิเศษนี้ได้แวะจอดที่สถานีลาดกระบัง ฉะเชิงเทรา ศรีราชา และพลูตาหลวง และมีการระดมความคิดเห็นแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างผู้บริหารและคณะที่ปรึกษากันอย่างกว้างขวางตลอดการเดินทาง เพื่อที่จะพัฒนารถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินสายนี้ให้มีความยั่งยืนในทุกมิติและเป็นเส้นทางแห่งโอกาสและความภูมิใจของประเทศไทย นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์กล่าวว่า โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินคือหัวใจของอีอีซี ถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานใหม่ของระบบเศรษฐกิจที่จะช่วยให้ประเทศไทยก้าวสู่ยุค 4.0 และจะเชื่อมโยงและเพิ่มศักยภาพให้ ฉะเชิงเทรา ศรีราชา พัทยา ระยอง ให้เป็นส่วนหนึ่งของกรุงเทพฯและปริมณฑล ซึ่งจะผลักดันให้เกิดการพัฒนาเมืองแห่งอนาคต หรือ Smart City อีกด้วย "รถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน แม้จะกล่าวได้ว่าเป็นโครงการที่เกิดขึ้นก่อนเวลามาก แต่เมื่อสร้างเสร็จจะเป็นที่น่าภาคภูมิใจ เพราะเป็นความท้าทายที่โดยปกติโครงการขนาดใหญ่ลักษณะนี้จะเป็นการสร้างเพื่อเชื่อมเมืองใหญ่ต่อเมืองใหญ่ตามหลักการสากล แต่สิ่งที่ทำวันนี้คือ การมองถึงวิสัยทัศน์ที่เชื่อมกับอีอีซีให้เห็นผลในอนาคต ซึ่งผลที่ออกมาอาจต้องใช้เวลานาน 10-15 ปี หากสำเร็จจะเป็นตัวอย่างการพัฒนาที่ดีของประเทศว่านอกจากการมีผลตอบแทนจากการลงทุน หรือ Return of Investment ที่เหมาะสมแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่วัดไม่ได้แต่มีมูลค่ามหาศาลคือ Return of Society ดังนั้นถ้าวางแผนควบคู่กันไปจะมีผลตอบแทนต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมมหาศาล” ม.ล.ดิศปนัดดา ดิศกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ 1 ในที่ปรึกษาด้านความยั่งยืน โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน กล่าวโดยสรุปว่า โครงการนี้ต้องมองการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนในทุกมิติควบคู่กันไป ซึ่งจะเป็นการสร้างโอกาสการเติบโตในพื้นที่อีอีซี และที่สำคัญต้องสร้างความสมดุลระหว่างโลกสองโลกเข้าด้วยกัน คือ โลกของการเติบโตทางเศรษฐกิจ และโลกการเติบโตในเชิงวัฒนธรรมที่มีคนในชุมชนเป็นศูนย์กลาง อย่างไรก็ตาม ต้องตระหนักว่าเมื่อโครงการนี้มาก่อนเวลา การทำแผนโครงการนี้จึงต้องมองระยะยาวไปอีก 15-20 ปีข้างหน้าให้ทันต่อสถานการณ์อนาคตด้วย รวมทั้งต้องดำเนินการใน 2 มิติคือ 1.Inclusive Economic ในพื้นที่อีอีซี ทำให้โครงการส่งเสริมการสร้างงาน สร้างอาชีพให้คนในพื้นที่ 2.Inclusive Design โดยการออกแบบรถไฟความเร็วสูงฯ ต้องคำนึงถึงเรื่อง Circular Economy หรือเศรษฐกิจหมุนเวียนด้วย “เป็นโจทย์ที่ท้าทายพอสมควร สิ่งสำคัญต้องไม่ใช่ให้รถไฟฯนำความเจริญวิ่งผ่านไปโดยที่ชาวบ้านได้แต่มอง แต่จะต้องทำให้รถไฟฯพาความเจริญกระจายไปทุกส่วน ทุกพื้นที่ที่รถไฟฯวิ่งผ่าน” ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร ประธานสถาบันเศรษฐกิจพอเพียง ที่ปรึกษาด้านความยั่งยืนอีกคนหนึ่งในฐานะเป็นคนจังหวัดฉะเชิงเทรา กล่าวว่า จ.ฉะเชิงเทรา เปรียบเหมือนเมืองลูกหลวงของอีอีซีที่เหมาะสมจะเป็นแหล่งผลิตอาหารป้อนอีอีซีที่จะมีผู้คนจำนวนมากหลั่งไหลเข้ามา รถไฟความเร็วสูงฯจะช่วยเสริมส่งอีอีซีและมีส่วนสำคัญในการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ช่วยให้เกิดการขยายตัวของอุตสาหกรรม และการท่องเที่ยว ในจ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีศักยภาพและโอกาส เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ สามารถรองรับประชากรในอนาคตที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นกว่า 15-20 ล้านคนเมื่อเมืองขยายตัวจากรถไฟความเร็วสูงฯ ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีฝ่ายกิจการพิเศษ คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์กล่าวว่า ศรีราชาถือเป็นอีกเมืองที่มีศักยภาพในการเติบโตเป็นจุดที่เริ่มต้นของภูเขาในภาคตะวันออกและยังมีทะเล มีธรรมชาติที่สวยงาม เช่น เกาะสีชัง ทั้งยังควบคู่ไปกับการเป็นเมืองอุตสาหกรรมที่มีชาวญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนจำนวนมาก จนเรียกว่าเป็น Little Osaka แนวการพัฒนาศรีราชาจึงต้องใช้ประโยชน์แบบผสมผสาน คือเป็นเมืองอุตสาหกรรมที่เชื่อมโยงความยั่งยืน และความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติ คู่ขนานกับการสร้างจุดเด่นการท่องเที่ยวสีเขียว และการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ ดังนั้นโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินสามารถเข้ามาช่วยพัฒนาพื้นที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ ได้ นายธีรินทร์ ธัญญวัฒนกุล ประธานหอการค้าจังหวัดชลบุรี กล่าวว่า จ.ชลบุรีมีความพร้อมทั้งเป็นแหล่งท่องเที่ยว อุตสาหกรรม ท่าเรือ ภาคเกษตร รวมทั้งยังมีศรีราชาที่เป็นแหล่งพื้นที่การจ้างงานและการลงทุนจากประเทศญี่ปุ่น แต่หลังสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้ธุรกิจในพื้นที่ อาทิ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ซบเซาลง แต่มั่นใจว่าโครงการรถไฟความเร็วสูงฯจะเป็นโอกาสสำคัญที่จะทำให้ จ.ชลบุรี และศรีราชากลับมาพลิกฟื้นใหม่ ส่งผลดีต่อการกระจายรายได้ลงสู่ชุมชนเล็กๆในท้องถิ่นอย่างทั่วถึง ผศ.ดร.อนุรัตน์ อนันทนาธร อาจารย์ประจำภาควิชารัฐประศาสนศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา กล่าวว่า เป้าหมายการพัฒนาโครงการรถไฟความเร็วสูงฯ ไม่ได้มองความยั่งยืนในมิติเชิงเศรษฐกิจหรือพาณิชย์เพียงเท่านั้น แต่ต้องมองความยั่งยืนในมิติชุมชนและสังคมด้วย อาทิ สนับสนุนให้ความรู้การบริหารวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่ และต่อยอดธุรกิจของชุมชนเชื่อมโยงกับโครงการเพื่อกระตุ้นรายได้ในพื้นที่ ด้าน ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กล่าวว่า รถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินเป็นเส้นทางแห่งอนาคต จึงสำคัญมากที่เส้นทางของโครงการรถไฟความเร็วสูงฯ ต้องมองทั้งเรื่องการเชื่อมโยง และการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีเพื่อให้ประชาชนให้รับประโยชน์ โดยหากมองด้านของการพัฒนาที่ยั่งยืน โครงการนี้จะเข้ามาเปลี่ยนชีวิตผู้คนและสามารถช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต หากประเทศใดมีรถไฟความเร็วสูงฯจะเป็นความภาคภูมิใจของคนในชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถือเป็นการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจใหม่ของภูมิภาคตะวันออกที่เชื่อมถึง EEC ซึ่งจะเกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการเคลื่อนคน การกระจายการลงทุนออกไปยัง EEC เพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ได้เสนอให้พิจารณาตั้งสถานีรถไฟความเร็วสูงที่สถานีพระจอมเกล้าลาดกระบังซึ่งเป็นศูนย์กลางของชุมชน โรงงานอุตสาหกรรม โรงเรียน และมหาวิทยาลัย เพื่อให้ชุมชนสังคมในพื้นที่ลาดกระบังได้รับประโยชน์สูงสุดจากรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ทั้งนี้นายธิติฏฐ์ นันทพัฒน์สิริ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด กล่าวถึงความคืบหน้าของโครงการว่า ในภาพรวมทางภาครัฐคาดว่าจะสามารถส่งมอบพื้นที่ให้เอกชนได้ประมาณเดือนมีนาคม-เมษายนปี 2564 โดยอย่างช้าไม่เกินเดือนตุลาคม 2564 ซึ่งยังคงเป็นไปตามสัญญา ส่วนการย้ายสาธารณูปโภคที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีหน่วยงานกว่า 20 แห่ง และตามแผนเกือบทุกหน่วยงานจะรื้อย้ายให้เสร็จได้ภายในเดือนมีนาคม 2564 ทั้งนี้คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการรถไฟความเร็วสูงช่วงแรกได้ภายในปี 2569