กรมอนามัยล้างความเชื่อ/ย้ำเป็นช่วงสำคัญทารกต้องกินนมแม่อย่างเดียว นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัยเปิดเผยว่า จากข่าวในสังคมออนไลน์ที่แม่สูญเสียลูก เนื่องจากปู่กับย่าได้ป้อนยาลูกกลอนพร้อมกล้วยหอมและกระเทียม โดยบอกว่าทำกันมาตั้งแต่โบราณ แต่หลังจากนั้นเด็กเสียชีวิตซึ่งแพทย์ระบุว่าร่างกายเด็กไม่สามารถรับได้ ความเชื่อและการกระทำดังกล่าวเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เนื่องจากตามคำแนะนำองค์การอนามัยโลก และองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ เด็กควรได้กินนมแม่อย่างเดียวติดต่อกันตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ 6 เดือน โดยไม่ต้องให้น้ำหรืออาหารอื่น เนื่องจากนมแม่มีสารอาหารครบถ้วน ย่อยง่ายและถูกสร้างมาให้เหมาะสมกับสภาพร่างกายของทารกที่มีระบบย่อยและดูดซึมอาหารยังพัฒนาไม่เต็มที่ หากกินอาหารอื่นที่ไม่ใช่นมแม่เข้าไป อาจส่งผลให้เกิดความผิดปกติ เช่น ท้องอืด อาหารไม่ย่อย ท้องผูก ท้องเสีย แพ้อาหาร และเสี่ยงเสียชีวิตจากลำไส้อุดตัน แต่หลังจากทารกอายุครบ 6 เดือน เมื่อระบบย่อยและดูดซึมอาหารพัฒนาได้ค่อนข้างสมบูรณ์แล้วจึงให้เริ่มกินอาหารที่เหมาะสมตามวัย เช่น กล้วยน้ำว้า ไข่แดง ข้าว ผัก ผลไม้ และสารอาหารอื่นๆ ควบคู่กับกินนมแม่ต่อเนื่องไปจนถึงอายุอย่างน้อย 2 ขวบ ทั้งนี้ นมแม่ ถือเป็นอาหารที่มีคุณค่าที่สุดสำหรับลูก มีสารอาหารกว่า 200 ชนิด ที่มีประโยชน์ต่อการเจริญเติบโต พัฒนาสมอง จอประสาทตา ทำให้เด็กสามารถเรียนรู้สิ่งต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว นมแม่ในระยะ 1-7 วันแรก จะมียอดน้ำนมที่เรียกว่า หัวน้ำนม หรือโคลอสตรัม ถือเป็นยอดอาหารที่อุดมไปด้วยสารคาร์โบไฮเดรต โปรตีน วิตามิน เกลือแร่ครบถ้วน ซึ่งเป็นช่วงที่น้ำนมแม่มีภูมิคุ้มกันสูงสุด เปรียบเสมือนได้รับวัคซีนหยดแรกของชีวิต เพื่อป้องกันเชื้อโรคต่างๆ ทารกที่ดื่มนมแม่จึงมีภูมิต้านทานต่อต้านเชื้อโรค และช่วยลดอัตราเสี่ยงเกิดโรคต่างๆ