จากความผูกพันกับวิถีชีวิตการทอผ้าของครอบครัว และความรู้ความสามารถด้านการทอผ้าตั้งแต่อายุ 11 ปี ทำให้นายจิราเมธ สุภารัตน์ นักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะอุตสาหกรรมสิ่งทอและออกแบบแฟชั่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ยอมทิ้งวิชาชีพครู เดินหน้าศึกษาต่อด้านสิ่งทออย่างจริงจัง หวังเพิ่มพูนความรู้ ทักษะ และประสบการณ์ เพื่อเดินตามความฝันในการสร้างแบรนด์ผ้าทอของตนเอง และนำความรู้ที่ได้ศึกษาไปต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่นสามารถพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชน รวมถึงพัฒนาเป็นศูนย์เรียนรู้การทอผ้าพื้นเมืองโบราณ เพื่อสืบสานวัฒนธรรมการทอผ้าของชุมชนไม่ให้เลือนหาย และสร้างรายได้ให้ชาวบ้านในชุมชน อ.ขุขันธ์ จ.ศรีสะเกษ นายจิราเมธ เล่าว่า ตนเองเติบโตมากับครอบครัวที่ทอผ้าในชีวิตประจำวัน ได้คลุกคลีกับการทอผ้ามาตั้งแต่เด็ก จึงพยายามศึกษาค้นคว้าหาข้อมูลในเรื่องของการทอผ้าเรื่อยมา พร้อมทั้งเรียนรู้ขั้นตอนและวิธีต่างๆ เกี่ยวกับการทอผ้าอย่างจริงจัง จนสามารถเข้าใจในกระบวนการและขั้นตอนต่าง ๆ ของการทอผ้า และลงมือปฏิบัติ โดยใช้เวลาว่างหลังเลิกเรียน อีกทั้งได้ประยุกต์พัฒนาต่อยอดการแซวผ้าให้มีความสวยงาม เพิ่มมูลค่าให้กับผ้า รวมถึงการพัฒนาลวดลายพื้นบ้าน เช่น ดอกพิกุล โฮลประยุกต์ กะนีว มัดหมี่ ลูกแก้ว เป็นต้น พร้อมทั้งนำเทคโนโลยีในการออกแบบลวดลายผ้าที่ได้จากการศึกษานำไปประยุกต์ในการออกแบบและถ่ายทอดความรู้เรื่องการทอผ้าให้กับบุคคลและชุมชนอื่นๆ จากผลงานที่โดดเด่นด้านการทอผ้าด้วยลวดลายที่สวยงาม จึงทำให้สามารถคว้ารางวัล ราชมงคลสรรเสริญผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรม "ด้านศิลปะ หัตถศิลป์" พุทธศักราช 2563 จิราเมธ เล่าอีกว่า หลังจบมัธยมศึกษา 6 ได้ไปศึกษาต่อวิชาชีพครูอยู่ 2 ปี แต่ตลอดเวลาที่ศึกษายังคงมุ่งมั่นทำในสิ่งที่รักทุกวัน นั่นคือการทอผ้า สุดท้ายจึงเบนเข็มชีวิตตัวเองออกมาเพื่อศึกษาด้านสิ่งทออย่างจริงจังที่คณะอุตสาหกรรมสิ่งทอและออกแบบแฟชั่น มทร.พระนคร หวังนำศาสตร์จากการศึกษาไปประยุกต์กับการทำงานในชุมชน และนำไปพัฒนาผ้าทอของตนให้มีคุณภาพ “การทอผ้าต้องใช้ความอดทนมาก ความยากง่ายส่วนใหญ่จะขึ้นอยู่กับชนิดผ้าที่ทอ เช่น ผ้ามัดหมี่ก็จะยากในขั้นตอนการมัดย้อมสีและการทอ ผ้าลายลูกแก้วจะยากตอนเหยียบตะกอ ส่วนผ้าอันลูนจะยากตอนขึ้นเครือสลับสี เป็นต้น จากวันแรกจนถึงปัจจุบันทอผ้ามาแล้วร้อยกว่าผืน ภูมิใจที่มีโอกาสได้นำความรู้ที่ได้จากการศึกษาไปพัฒนาฝีมือลงบนผืนผ้าจนมีลวดลายที่สวยงามและมีผู้คนสนใจมากมาย” นับเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของเยาวชนไทยที่ได้สร้างสรรค์ สั่งสม สืบทอด และเชิดชูวัฒนธรรมไทย โดยการพัฒนาผ้าไทยอันเป็นมรดกอันทรงคุณค่าทางภูมิปัญญาของคนไทยให้ยั่งยืนสืบไป