"ช่างสิบหมู่"ตรวจงานปั้นช้าง 10 ตระกูลประดับสระอโนดาตพระเมรุมาศ ภาพรวมคืบหน้า 95% คาดภายในก.ค.เสร็จทั้ง 30 ตัว เพาะช่างเผยใช้พญาฉัททันต์เป็นต้นแบบแก้ไข ส่วนช้างกาฬวกะหัตถี วารีกุญชร กรินทปักษา พร้อมทำพิมพ์ หล่อไฟเบอร์ล็อตแรก ความคืบหน้าจัดสร้างประติมากรรมช้าง 10 ตระกูล 30 ตัว ดำเนินการโดยประติมากรรมไทย ภาควิชาศิลปะประจำชาติ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ วิทยาเขตเพาะช่าง เพื่อนำไปประดับสระอโนดาตรอบพระเมรุมาศ งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เมื่อวันที่ 4 ก.ค. 60 เวลา 10.00 น. ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ วิทยาเขตเพาะช่าง นายสมควร อุ่มตระกูล ผู้อำนวยการสำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร พร้อมด้วยนายประสพสุข รัตน์ใหม่ หัวหน้ากลุ่มงานประติมากรรม ตรวจความคืบหน้างานปั้นประติมากรรมสัตว์หิมพานต์ช้าง 10 ตระกูล ประดับสระอโนดาตรอบพระเมรุมาศ โดยมีนายวรพงษ์ อรุณเรือง ผู้ช่วยอธิการบดีมทร.รัตนโกสินทร์ วิทยาเขตเพาะช่าง และนายประสิทธิ เอมทิม หัวหน้าสาขาประติมากรรมไทย ภาควิชาศิลปะประจำชาติ บรรยายภาพรวมการดำเนินงานที่ได้รับมอบหมายให้ปั้นช้างต้นแบบทั้งหมด 30 ตัว นายประสพสุข รัตน์ใหม่ หัวหน้ากลุ่มงานประติมากรรม กล่าวว่า จากการตรวจงานประติมากรรมต้นแบบช้าง 10 ตระกูลของวิทยาลัยเพาะช่าง ภาพรวมการดำเนินงานคืบหน้ากว่า 95% ถือว่าเป็นที่น่าพอใจ มีความงดงาม โดยการปั้นเป็นไปตามลักษณะท่าทางและรูปแบบที่กำหนดในตำราคชลักษณ์ แต่ได้ให้ทางเพาะช่างปรับเพิ่มเติมในบางส่วนที่ยังขาดเพื่อให้ช้างแต่ละตัวมีความสง่างามและสมบูรณ์ที่สุด อาทิ การวางตำแหน่งของโครงสร้างให้อยู่ถูกที่ การเพิ่มเติมในส่วนของเส้นปริมาตรที่ขาดเพื่อให้เกิดความสมบูรณ์ของรูปทรง เช่น ช้างพญาฉัททันต์ ที่จะปรับปริมาตรความโค้งนูนของกล้ามเนื้อในส่วนขา และการวางตำแหน่งโครงสร้างภายใน เช่น กระดูกให้อยู่ถูกตำแหน่ง หลังจากนี้จะเข้ามาตรวจงานอีกครั้ง และเชิญอาจารย์สุดสาคร ชายเสม ร่วมพิจารณาความเรียบร้อยครั้งสุดท้าย ก่อนที่จะมีการทำพิมพ์และหล่อไฟเบอร์กลาสเพื่อเข้าสู่กระบวนการลงสีตามลำดับ คาดว่าการดำเนินงานปั้นต้นแบบจะแล้วเสร็จภายในเดือน ก.ค.นี้ ด้าน นายประสิทธิ เอมทิม หัวหน้าสาขาประติมากรรมไทย ภาควิชาศิลปะประจำชาติ วิทยาลัยเพาะช่าง กล่าวว่า ประติมากรรมช้าง 10 ตระกูลประดับสระอโนดาต พระเมรุมาศ เป็นช้างตระกูลพรหมพงศ์ ซึ่งมีช้าง 10 หมู่ ประกอบด้วยหมู่ที่ 1 ฉัททันต์ หมู่ที่ 2 อุโบสถ หมู่ที่ 3 เหมหัตถี หมู่ที่ 4 มงคลหัตถี หมู่ที่ 5 คันธหัตถี หมู่ที่ 6 ปิงคัล หมู่ที่ 7 ดามพหัตถี หมู่ที่ 8 บัณฑระนาเคนทร หมู่ที่ 9 คงไคย หมู่ที่ 10 กาฬวกะหัตถี นอกจากนี้ จะมีสัตว์ผสม อาทิ กุญชรวารี วารีกุญชร กรินทปักษา พญานาคหัวช้าง ขณะนี้ได้ทำการปั้นต้นแบบครบทั้งหมดแล้ว หลังจากตรวจสอบความเรียบร้อยของกรมศิลปากรครั้งนี้เพื่อความถูกต้องเหมาะสมได้ร่วมกันปรับแก้ตำแหน่งทางกายวิภาคของช้างฉัททันต์ให้ชัดเจนมากขึ้น โดยให้ฉัททันต์เป็นประติมากรรมต้นแบบในการแก้ไขช้างตัวอื่นๆ บางตัวเน้นกระดูกมากไป จะต้องปรับให้มีความเป็นอุดมคติมากขึ้น โดยจะให้ทีมช่างปั้นเข้ามาดำเนินการเก็บงานให้เรียบร้อยทั้งหมดกลางเดือน ก.ค.นี้