หมายเหตุ : “ประเสริฐ จันทรรวงทอง” ส.ส.นครราชสีมา พรรคเพื่อไทย ในฐานะเลขาธิการพรรคเพื่อไทยคนใหม่ให้สัมภาษณ์ “สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์” ถึงแนวทางการทำงานทางการเมืองของพรรค รวมถึงการกำหนดนโยบายต่าง ๆ เพื่อนำพาพรรคกลับมาเป็นหนึ่งในใจของพี่น้องประชาชน รวมทั้งการกำหนดท่าทีในการเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่มีกลุ่มนิสิต นักศึกษา ที่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตย กำลังร้อนแรงขณะนี้ พรรคเพื่อไทยจะมีจุดยืนในเรื่องต่าง ๆอย่างไร มีรายละเอียดที่น่าสนใจดังนี้ - การเข้ามาทำหน้าที่เลขาฯพรรคเพื่อไทย ครั้งนี้ มีที่มา ที่ไปอย่างไรบ้าง มีการพูดคุยกับเพื่อนส.ส.ในพรรคก่อนหรือไม่ ผมอยู่พรรคเพื่อไทยมานาน ตั้งแต่ปี 2542 ตอนตั้งพรรคไทยรักไทยใหม่ ๆ ต่อมาเปลี่ยนมาเป็นพรรคพลังประชาชน และพรรคเพื่อไทยในปัจจุบัน ไม่เคยย้ายพรรคไปไหน เพราะฉะนั้นตลอด ระยะเวลา กว่า 20 ปีที่ผ่านมา ได้เรียนรู้งาน เรียนรู้คน ได้เห็นวัฒนธรรม และการเปลี่ยนแปลงของพรรคมาโดยตลอด เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร มา 5 สมัย เคยดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการ เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม หลังสุด ก่อนได้รับการเลือกตั้งเป็น เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ดำรงตำแหน่งรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย จึงคิดว่า มีความอาวุโส และผ่านการดำรงตำแหน่งสำคัญมาแล้ว น่าจะเป็นตัวเลือกคนหนึ่ง ที่สมาชิกให้ความไว้วางใจ และก่อนที่จะถูกเสนอชื่อผมไม่ได้มีการพูดคุยกับเพื่อน ส.ส. หรือ สมาชิกพรรค แต่อย่างใด เพราะอยากให้ทุกท่านมีอิสระในการตัดสินใจ อีกทั้งในพรรคมีผู้ที่มีความรู้ความสามารถหลายคนที่เหมาะสมเช่นเดียวกัน - อะไรที่ทำให้สมาชิกพรรคถึงให้ความไว้วางใจ คิดว่านอกเหนือจากความอาวุโสแล้ว ด้วยความที่มีบุคลิกส่วนตัวเป็นคนที่เข้ากับคนอื่นง่าย และเป็นคนประนีประนอม และพร้อมที่จะรับฟังความคิดเห็นของทุกคน น่าจะเหมาะกับตำแหน่งเลขาธิการพรรค ซึ่งมีหน้าที่เป็นแม่บ้านพรรค ต้องประสานงานกับทุกฝ่าย ทั้งภายใน และภายนอกพรรค - วันนี้ภารกิจหลักๆใหญ่ๆ ของเลขาธิการพรรคเพื่อไทย คืออะไร โดยเฉพาะในยามที่การเมืองมีความเข้มข้น ภารกิจหลัก ๆ มีอยู่ 4 เรื่อง คือ เรื่องแรก จัดให้มีการระดมความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนของพรรค เพื่อจัดวางโครงสร้างภายในพรรค การวางบทบาทในทุกองคาพยพ เพื่อให้สามารถทำงานได้ทันที และมีประสิทธิภาพ เรื่องที่ สอง คือ การสืบทอดเจตนารมณ์ของพรรค ซึ่งเรามีความยึดมั่นอย่างไม่เปลี่ยนแปลง ในเรื่อง “ จุดยืนเรื่องประชาธิปไตย และ การสร้างความยุติธรรม” ให้ปรากฎขึ้นจริง ซึ่งพรรคให้ความสำคัญอย่างยิ่ง เรื่องที่ สาม สร้างและผลักดันนโยบายด้วยการ ระดมทรัพยากรบุคคลภายในพรรค และภายนอกประสานงานกับเครือข่ายองค์กร และบุคคลจากภายนอก ให้เป็นนโยบายที่ตรงกับความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง และเรื่องสุดท้าย เป็นบทบาทหน้าที่ของเลขาธิการพรรคโดยตรง คือการสร้างความเข้มแข็งภายในพรรค โดยเน้นเรื่องการกระจายอำนาจ และการมีส่วนร่วมของทุกคนในพรรค รับฟังความเห็นของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และประชาชนทุกกลุ่ม แล้วนำความคิดเหล่านั้นมาบูรณาการรวมกัน หาข้อสรุป -พรรคเพื่อไทย เมื่อมีการปรับทัพกันใหม่แล้ว จากนี้ทิศทางจะเป็นอย่างไรบ้าง เมื่อพรรคปรับโครงสร้างใหม่จะทำให้เห็นภาพการทำงานอย่างชัดเจน มีการแบ่งอำนาจ หน้าที่ และความรับผิดชอบของแต่ละฝ่ายอย่างเป็นรูปธรรม ไม่ว่าจะเป็น เรื่องการบริหารงานในสภา การสร้างนโยบายและงานวิชาการ การพัฒนาพื้นที่ และการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และต่อไปนี้จะเห็นบทบาทของพรรค เพื่อไทยทั้งบทบาทในสภา และนอกสภา ทำงานให้กับประชาชนอย่างเต็มกำลัง ซึ่งคณะกรรมการบริหารพรรคจะเป็นศูนย์กลางในการบริหาร เพื่อให้ทันกับสถานการณ์การเมืองที่เปลี่ยนไป ต้องยอมรับว่า ทุกวันนี้ ประเทศประสบวิกฤติด้านการเมือง ในเรื่องของ รัฐธรรมนูญที่ยังไม่เป็นประชาธิปไตย อย่างแท้จริง และ วิกฤติศรัทธา ที่ขาดความเชื่อมั่นว่า รัฐบาลจะสามารถแก้ไขปัญหา เรื่องปากท้อง ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนได้ ที่สำคัญ สถานการณ์โควิด ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ดังนั้นพรรคจำเป็นต้องขับเคลื่อนทุกองคาพยพ โดยจะมีการวางกรอบนโยบายในด้านต่าง ๆ ให้เหมาะสม ตรงกับความต้องการของพี่น้องประชาชน และในฐานะที่เป็นเลขาธิการพรรคต้องสร้างพรรคให้เข้มแข็ง กระจายความรับผิดชอบ และให้ความสำคัญกับส.ส.ทุกคน เพราะถือเป็นผู้ที่ใกล้ชิดกับพี่น้องประชาชนโดยตรง จะรับรู้ รับทราบปัญหาของพี่น้อง นอกจากนี้พรรคจะสร้างมิติใหม่ทางการเมืองเพื่อสร้าง “อนาคต โอกาสและความหวัง”ให้กับคนไทย นอกจากนี้พรรคจะนำความคิดเห็นของคนรุ่นใหม่ และคนรุ่นเก่าทำงานประสานกัน เพราะวันนี้เทคโนโลยี และการสื่อสารเปลี่ยนแปลงไปเร็วมาก จึงเป็นต้องผนึกกำลังกันทุกภาคส่วนเพื่อขับเคลื่อนนโยบาย พรรคมีจุดยืนที่มั่นคงในเรื่องของประชาธิปไตยตั้งแต่แรกไม่เคยเปลี่ยนแปลง วันนี้การรับฟังเสียงของคนรุ่นใหม่ เป็นสิ่งจำเป็น เพราะเป็นกลุ่มบุคคลที่เราต้องฝากอนาคตของประเทศไว้ และเราต้องมีการประสานงานกับอีกหลายภาคส่วนในอนาคต ส่วนการแก้ไขรัฐธรรมนูญพรรคยืนหยัดที่จะทำประชาธิปไตยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ แต่เราจะไม่ร่วมสังฆกรรมกับกรรมาธิการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญชุดนี้ ก่อนรับหลักการแน่นอน เพราะยังขาดความจริงใจในการที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง -หลายคนคาดหวังว่าจะได้เห็นพรรคเพื่อไทยกลับมายิ่งใหญ่เหมือน พรรคไทยรักไทย คิดว่าเป็นเรื่องที่ยาก และเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน เรามั่นใจ ว่า เราสามารถทำได้ เหมือนในอดีตที่ผ่านมา พรรค จึงมีการปรับปรุงองค์กร โดยการดึงเอาคนรุ่นใหม่ ผสมผสานกับคนรุ่นเก่า เรียกว่า เป็นการถ่ายทอดความคิด จาก รุ่นพี่ สู่รุ่น น้อง เพราะสมัยพรรคไทยรักไทย มีนโยบายดี ๆ หลายโครงการ ยกตัวอย่างเช่น โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค เป็นการลดรายจ่ายให้คนทุกคน มีโอกาสเข้าถึงการรักษาพยาบาล โดยเท่าเทียมกัน กองทุนหมู่บ้าน สร้างโอกาสให้ ชุมชนได้เข้าถึงแหล่งเงินทุน ดอกเบี้ยต่ำ เอาดอกผลที่ได้ทำประโยชน์ให้เกิดขึ้นภายในหมู่บ้าน โครงการเอส เอ็ม แอล เปิดโอกาสให้ประชาชนในหมู่บ้าน ได้คิดตัดสินใจเองว่า จะทำอะไรที่เป็นประโยชน์ในหมู่บ้าน เป็นต้น โดยมีหลักคิดที่เป็นสูตรแห่งความสำเร็จคือ เพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย ขยายโอกาส พอมาเป็นพรรคพลังประชาชน มีนโยบายในเรื่องการแก้ไขปัญหาความยากจนให้กับพี่น้องประชาชน แต่มีเหตุการณ์รัฐประหาร ปี 49 และปี 57 ประเทศมีการสะดุดหลายเรื่อง ไม่ได้รับการยอมรับจากต่างประเทศ ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ โดยรวมของประเทศ ซ้ำร้ายรัฐธรรมนูญปี 60 ยังขาดความเป็นประชาธิปไตย ทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอ วันนี้พรรคเพื่อไทยปรับองค์กรใหม่ การเปลี่ยนแปลงด้านต่าง ๆ การทำงานจะตอบสนองต่อความต้องการของพี่น้องประชาชนมากขึ้น และเรามั่นใจว่า ด้วยคน และทรัพยากรที่มีอยู่ทั้งหมด ของพรรค จะสามารถขับเคลื่อนอย่างเต็มที่ โดยยึดประโยชน์ประเทศชาติ และประชาชนเป็นหลัก -จากนี้ไปบทบาทการนำ การเป็นพรรคหลักของฝ่ายค้านจะเป็นอย่างไร เพราะที่ผ่านมาเพื่อไทยถูกมองว่าเดินตามพรรคก้าวไกล เราไม่ได้เดินตามพรรคก้าวไกลแต่อย่างไร พรรคเพื่อไทยมีประวัติศาสตร์ของการต่อสู้เรื่อง ประชาธิปไตยมานาน มีความมั่นคง และจะยึดหลักการนี้ตลอดไป และตลอดการทำงานทางการเมือง 20 กว่าปีที่ผ่านมาเราได้ต่อสู้ในแนวทางประชาธิปไตยมาโดยตลอด พรรคเพื่อไทยมีแนวทางของตัวเอง ซึ่งเราได้ปรับเปลี่ยนให้เหมาะกับ สถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา - กรณีมีชื่อคุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ เข้ามามีบทบาทในพรรคเพื่อไทย ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร ท่านเป็นผู้ใหญ่ที่ทุกคนให้ความเคารพนับถือ แต่ท่านไม่ได้เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับพรรคเพื่อไทยแต่อย่างใด ท่านไม่เคยเข้าร่วมกับกิจการงานต่าง ๆของพรรค หรือ มีส่วนใด ๆในการเข้ามาบริหารกิจการภายในพรรค ซึ่งในเรื่องนี้ทุกคนในพรรคทราบเป็นอย่างดี -คิดว่าวันนี้"อะไร"คือ "ฟืน"ที่เข้าไปสุมให้การเมือง"นอกสภาฯและ"ในสภาฯ"ร้อนแรง วันนี้ประเด็นที่มีการพูดถึงกันมากคือ เรื่องรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าใน หรือ นอกสภาฯ ในสภาฯ ตอนนี้มีการตั้งกรรมาธิการพิจารณา ก่อนรับหลักการในวาระ 1 ผมมองว่ารัฐบาลขาดความจริงใจ และไม่มีความชัดเจน ทั้ง ๆที่ รัฐบาลเป็นผู้เสนอร่างร่วมกับพรรคร่วมฝ่ายค้าน แต่เมื่อถึงการโหวตในวาระ 1 กลับ ตั้งกรรมาธิการศึกษาก่อน เป็นการยื้อเวลา ส่วนนอกสภาฯ จะเห็นกลุ่มพลังมวลชนหลายกลุ่ม อาที ประชาชนปลดแอก นิสิต นักศึกษา หลายสถาบัน ร่วมกับประชาชน ออกมาเรียกร้องเรื่องการแก้ไข รัฐธรรมนูญฉบับนี้ แต่รัฐบาลทำเป็นคน “หูทวนลม เอาหูไปนา เอาตาไปไร่” ไม่ได้ยิน เสียงของประชาชน นอกจากนั้น ยังมีร่างญัตติ แก้ไขรัฐธรรมนูญ ของภาคประชาชน ซึ่งรอการบรรจุระเบียบวาระในการเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา เพราะฉะนั้นการเอาฟืนเข้ากองไฟ หมายถึงสถานการณ์บ้านเมืองขณะนี้ ทุกคนมองว่า รัฐธรรมนูญ ปี 2560 ไม่มีความเป็นประชาธิปไตย จำเป็นต้องมีการแก้ไข ซึ่งเป็นเรื่องร้อน เป็นกองไฟ ที่อยู่ต่อหน้ารัฐบาล แทนที่จะเอาน้ำเข้าไปดับกองไฟ รัฐบาลกลับเลือกที่จะเอาฟืนเข้าไปสุมให้ไฟร้อนขึ้น และร้อนนาน แทนที่รัฐบาลจะเอาฟืนออกจากกองไฟ ดังนั้นถ้ารัฐบาลต้องการคลี่คลายสถานการณ์ด้วย สันติวิธี ยอมรับความคิดเห็นต่าง และต้องพยายามทำความเข้าใจกับคนทุกกลุ่มเหล่านั้น สร้างความชัดเจน และลงมาพูดคุย แต่ ถ้ารัฐบาลเลือกใช้วิธีที่รัฐบาลทำอยู่ ขอเรียนว่า น่าเป็นห่วงประเทศไทย