สัปดาห์พระเครื่อง / ราม วัชรประดิษฐ์ “หลวงปู่ฝั้น อาจาโร” หรือ “พระอาจารย์ ฝั้น” วัดป่าอุดมสมพร จ.สกลนคร สุดยอดพระเกจิสายวิปัสสนากรรมฐาน หรือที่เรียกกันว่า "สายวัดป่า" รูปหนึ่งแห่งภาคอีสานที่เป็นที่เคารพศรัทธาของพุทธศาสนิกชน และมีลูกศิษย์ลูกหามากมายทั่วทุกสารทิศ ท่านเป็นศิษย์รุ่นแรกๆ ของพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต แม่ทัพธรรมสายวัดป่า และยังเป็นกำลังสำคัญในการเผยแผ่พระธรรมคำสอนในทางพระพุทธศาสนา หลวงปู่ฝั้น อัตโนประวัติของ พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร ท่านเป็นชาวสกลนครโดยกำเนิด เกิดที่บ้านม่วงไข่ ต.พรรณา อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร เมื่อวันอาทิตย์ที่ 20 สิงหาคม พ.ศ.2442 ในตระกูลของ “สุวรรณรงค์” เจ้าเมืองพรรณานิคม บรรพชาเป็นสามเณร ที่ วัดโพนทอง เมื่อปี พ.ศ.2461 ขณะอายุได้ 19 ปี พออายุครบบวชจึงอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ที่ วัดสิทธิบังคม บ้านไฮ่ ต.ไร่ อ.พรรณานิคม ศึกษาร่ำเรียนพระปริยัติธรรมและวิปัสสนากรรมฐานกับ ท่านอาญาครูธรรม เจ้าอาวาสวัดโพนทอง และติดตามพระอาจารย์ออกธุดงค์ไปตามสถานที่ต่างๆ ด้วยจิตมุ่งมั่นในการบำเพ็ญภาวนาและเจริญวิปัสสนากรรมฐานอย่างแรงกล้า ปี พ.ศ.2463 พระอาจารย์ฝั้น ได้พบ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต และขอปวารณาตนเป็นศิษย์เพื่อศึกษาวิชาความรู้และหลักธรรมต่างๆ โดยเฉพาะด้านวิปัสสนากรรมฐาน ในปี พ.ศ.2468 จึงขอแปรญัตติจากมหานิกายเป็น ‘ธรรมยุติกนิกาย’ ที่ พระอุโบสถวัดโพธิสมภรณ์ จ.อุดรธานี โดยมี พระธรรมเจดีย์ (จูม พันธุโล) เป็นพระอุปัชฌาย์ หลังจากนั้นก็ร่วมออกธุดงค์กับพระอาจารย์มั่นไปตามสถานที่ต่างๆ เป็นเนืองนิตย์ เหรียญรุ่นแรกปี 2507 เนื้อทองแดง หน้า เหรียญรุ่นแรกปี 2507 เนื้อทองแดง หลัง พระอาจารย์ฝั้น ธุดงค์ไปถึงที่ใด ท่านก็จะให้ความเมตตาช่วยเหลือชาวบ้านและพัฒนาที่แห่งนั้น ไม่ว่าจะเป็นป่าช้าหรือหมู่บ้านเชิงเขา รวมทั้ง ‘วัดป่าอุดมสมพร’ และ ‘เขาถ้ำขาม’ ท่านนับเป็นพระเกจิที่มีคุณวิเศษ เป็นผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ เคร่งครัดในพระธรรมวินัย มีเมตตาธิคุณและกรุณาธิคุณสูงส่ง สามารถส่งพลังถึงผู้ไปกราบนมัสการให้เกิดความรู้สึกเป็นสุข สงบ และก่อให้เกิดสติปัญญา จึงเป็นที่เคารพเลื่อมใสและศรัทธาของเหล่าพุทธศาสนิกชนทั่วทั้งประเทศ ท่านมีลูกศิษย์ลูกหามากมายทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร มรณภาพเมื่อวันที่ 4 มกราคม พ.ศ.2520 ณ วัดป่าอุดมสมพร อันเป็นอนุสรณ์สถานสำคัญของท่าน สิริอายุรวม 78 ปี พรรษา 58 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯ ทรงสรงน้ำศพและพระราชทานหีบทองประกอบศพ และเสด็จฯ พระราชทานเพลิงศพเป็นการส่วนพระองค์ ณ วัดป่าอุดมสมพร ในวันที่ 21 มกราคม พ.ศ.2521 ปัจจุบันบริเวณที่พระราชทานเพลิงศพของ พระอาจารย์ฝั้น ได้มีการสร้าง ‘เจดีย์พิพิธภัณฑ์’ ความสูง 27.9 เมตร เป็นเจดีย์ปลายแหลม ฐานกลม ขึ้นรูปด้วยกลีบบัวหุ้มฐานสามชั้น แต่ละกลีบบัวตกแต่งด้วยกระเบื้องเป็นรูปพระอาจารย์ต่างๆ ในสายวัดป่ากรรมฐาน ภายในเจดีย์มี รูปปั้นพระอาจารย์ฝั้น ถือไม้เท้า ขนาดเท่าองค์จริง และตู้กระจกที่บรรจุเครื่องอัฐบริขารของท่านอย่างครบถ้วน สำหรับวัตถุมงคลของหลวงปู่ฝั้น บรรดาคณะศิษย์ได้ร่วมกันจัดทำวัตถุมงคลออกมาในหลายครั้ง ตามวาระโอกาสที่สำคัญ มีการจัดสร้างจำนวนมากหลายรุ่น แต่ที่โดดเด่นโดยคณะศิษย์ทหารอากาศ สร้างถวายตั้งแต่ปี พ.ศ.2507-2511 มีทั้งหมด 7 รุ่น อย่างไรก็ตาม ที่ได้รับการกล่าวขวัญถึงและเป็นที่เสาะแสวงหามากที่สุด คือ เหรียญพระอาจารย์ฝั้น รุ่น หนึ่ง พ.ศ.2507 เหรียญรุ่นนี้ จัดสร้างโดย น.อ.เกษม งามเอก สร้างถวายเนื่องในงานยกเสาโบสถ์นํ้า ลักษณะเป็นเหรียญวงรีรูปไข่ มีหูห่วงสร้างเนื้อทองแดง 9 เหรียญ และเนื้ออัลปาก้า 219 เหรียญ เหรียญรุ่นแรกปี 2507 เนื้ออัลปาก้า หน้า เหรียญรุ่นแรกปี 2507 เนื้ออัลปาก้า หลัง ด้านหน้าเหรียญ ขอบเหรียญมีเส้นสันนูน ตรงกลางเหรียญมีรูปเหมือนพระอาจารย์ฝั้น ครึ่งองค์ หันหน้าไปทางขวา ด้านล่างสลักตัวหนังสือนูนคำว่า “พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร” ด้านหลังเหรียญ ขอบเหรียญมีเส้นสันนูน ใต้หูห่วงใกล้ขอบเหรียญด้านบนสลักตัวหนังสือนูนคำว่า “วัดป่าถํ้าขาม สกลนคร” ตรงกลางเหรียญถัดลงมามีสัญลักษณ์คล้ายหยดนํ้า กึ่งกลางเหรียญมีอักขระ 2 บรรทัด ซึ่งเป็นพระคาถา “หัวใจพญานกยูงทอง” ถัดลงมีตัวอักษรเลขไทยระบุ “๒๕๐๗” ปีที่จัดสร้างบรรทัดล่างสุดสลักคำว่า “รุ่นแรกศิษย์ ทอ.สร้างถวาย” เหรียญพระอาจารย์ฝั้น รุ่น 1 ถึง รุ่น 7 มีจุดเด่นสำคัญคือ ด้านหน้าเหรียญจะใช้บล็อกเหรียญพระอาจารย์ฝั้นรุ่นแรกเหมือนกันหมด ส่วนด้านหลังเหรียญจะใช้บล็อกแต่ละรุ่นไม่เหมือนกัน ปัจจุบันมีเหรียญเก๊ทำลอกแบบเหรียญจริงได้แนบเนียนมาก เหรียญจริงให้สังเกตเหรียญด้านหน้าบริเวณใต้คางหลวงปู่ จะมีเส้นคล้ายเส้นเกศาลากยาว ส่วนด้านหลังให้สังเกตบริเวณใต้หูห่วง จะเห็นตัว"ม" ด้านหลังตัว ม.ม้า จะมีตัว "ม" อีกตัวเลือนราง เหรียญรุ่นแรกปี 2507 เนื้ออัลปาก้า หน้า เหรียญรุ่นแรกปี 2507 เนื้ออัลปาก้า หลัง วัตถุมงคลพระอาจารย์ฝั้นทุกรุ่น มีพุทธคุณโดดเด่นรอบด้าน โดยเฉพาะ แคล้วคลาด ปลอดภัย และเมตตามหานิยม จนเป็นที่เลื่องลือกันอย่างกว้างขวาง เป็นที่นิยมและแสวงหาอย่างสูงในแวดวงนักนิยมสะสมพระเครื่องและเหรียญคณาจารย์ และหายากยิ่งในปัจจุบัน ค่าความนิยมของวัตถุมงคลของอาจารย์ฝั้นนั้นมีตั้งแต่หลักร้อยถึงหลักแสน ตามอายุการจัดสร้าง ความโดดเด่นของรูปแบบ เจตนาผู้สร้างถวาย จำนวนเหรียญ และประสบการณ์ครับผม