ลีลาชีวิต / ทวี สุรฤทธิกุล พี่เสือใหญ่แม้จะมีอายุมากกว่าผม แต่ก็นับถือผมเป็น “เจ้านาย” ด้วยอีกคนหนึ่ง พี่เสือใหญ่นอกจากจะเป็นคนเจียมเนื้อเจียมตัวแล้ว ยังเป็นคนที่ถ่อมตัวมาก ๆ ที่จริงผมก็มีฐานะเป็น “ลูกจ้าง” อีกคนหนึ่งของบ้านสวนพลู เหมือนกันกับที่พี่เสือใหญ่ก็เป็นลูกจ้างในตำแหน่ง “เด็กรับใช้” แต่พี่เสือใหญ่บอกว่าเขาไม่เคยลืมตัวเลยว่า เขาเป็นแค่ขี้ข้า อย่างที่พ่อแม่พร่ำอบรมสั่งสอนมา พ่อเล่าให้พี่เสือใหญ่ฟังว่าตั้งแต่สมัยปู่ทวด ทั้งบ้านลาดชะโดอยู่ภายใต้ “อาญาสิทธิ์” ของ “เจ้ากรม” (คือพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมขุนวรจักรธรานุภาพ ต้นราชสกุล “ปราโมช”) ชายหนุ่มในบ้านต้องเข้าสังกัดเป็น “ฝีพาย” ของเจ้ากรม โดยปู่ทวดก็ของพี่เสือใหญ่ก็เป็นหนึ่งในฝีพายเหล่านั้น ที่เมื่อมีงานพระราชพิธีต่าง ๆ ก็จะถูกเกณฑ์เข้าไปที่พระนคร ไปร่วมฝึกในขบวนฝีพายหลวง ร่วมกับหนุ่มๆ อีกหลายๆ ตำบล โดยตำบลเหล่านี้จะได้รับยกเว้น “ส่วย” และได้รับการคุ้มครองจากเจ้ากรม ซึ่งในยุคนั้นบ้านเมือง “อยู่ดีมีสุข” ไม่มีศึกสงครามอะไร จนเมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองนั่นแหละ บ้านเมืองก็วุ่นวาย ชาวบ้านคล้ายขาดที่พึ่ง เพราะเจ้านายหมดอำนาจไป มีข้าราชการขึ้นมาเป็นใหญ่ และดูเหมือนข้าราชการเหล่านั้นจะมา “รีดนาทาเร้น” มากกว่าที่จะมา “ชูชุบอุปถัมภ์” เหมือนกับเจ้านายในสมัยเก่า พี่เสือใหญ่เกิดมาในคุ้งเจ้าพระยาที่กว้างใหญ่ ใกล้ๆ ลาดชะโดนั้นก็คือลานเท ที่ที่น้ำจากทางเหนือจะมา “เท” รวมกันลงมาที่ท้องทุ่งนี้ ในหน้ามรสุมที่ฝนตกหนักๆ จะมีคลื่นลมอื้ออึงเหมือนท้องทะเล (ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เคยให้สัมภาษณ์ว่า ฉากแม่น้ำตรงลานเทนี่แหละที่เป็นจุดกำเนิดของเรื่อง “หลายชีวิต” ที่ตัวละครในเรื่องนั้นมา “ตายด้วยกัน” ในค่ำคืนที่พายุฝนกระหน่ำ และเรือมาจมลง ณ คุ้งน้ำนี้) บ้านแต่ละหลังอยู่กันห่างๆ แต่ที่ตลาดลาดชะโดนั้นเป็นชุมชนใหญ่ มีห้องแถวร้านค้ามากมาย ตอนเด็ก ๆ แม่เคยเอาตัวพี่เสือใหญ่ใส่ลงเรือมาหาซื้อของกินของใช้กลับไปที่บ้านอยู่บ่อย ๆ จนคุ้นเคยกับพ่อค้าแม่ค้าหลาย ๆ คน ถึงขั้นหยิบขนมกินได้ อาจด้วยเพราะความเป็นเด็กและจิตใจของผู้คนแถวนั้นที่โอบเอื้ออารี แบบว่า “ขอกันกินได้” พี่เสือใหญ่เรียนจบตามการศึกษาภาคบังคับในตอนนั้น คือชั้นประถม ๗ พ่อแม่ก็จะให้ช่วยทำนาเหมือนพี่ๆ น้อง ๆ แต่น้าเชื่อมที่เป็นลูกลาดชะโดด้วยกันมาเยี่ยมบ้านพอดี มาขอตัวไปอยู่ที่บ้านสวนพลู จนได้กลายมาเป็น “พลขับ” มือสำรองของน้าเชื่อม พี่เสือใหญ่ทำงานด้วยความขยันขันแข็ง และด้วยหน้าตาที่คมสัน ผิวคล้ำ สูงพอประมาณ อย่างที่เรียกกันในสมัยนั้นว่า “ดาร์ก ทอล แอนด์แฮนซั่ม” ทำให้พี่เสือใหญ่เป็นที่ต้องตาต้องใจของสาวน้อยสาวใหญ่หลายคน แต่พี่เสือใหญ่ก็ไม่ได้สนใจใคร จนกระทั่งมาเจอสาวรับใช้ในบ้านญาติของคุณชาย(ท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช)ที่อยู่รั้วติดกัน พี่เสือใหญ่เล่าว่าเธอไม่ได้สะสวยอะไร แต่เธอน่าสงสาร เป็นลูกกำพร้า และที่สำคัญเธอเป็นคนพูดน้อย เหมือนที่แม่เคยสอนว่าถ้าจะหาเมีย ให้หาคนที่ไม่พูดเพ้อเจ้อน่ารำคาญ ไม่เอาคนที่ชอบโพนทะนาเอาเรื่องในบ้านออกไประบายนอกบ้าน และเป็นพวกปากหอยปากปู ชอบนินทาโน่นนี่ไม่รู้จบ เพราะนั่นคือเหตุที่จะทำให้ชีวิตคู่ไม่มีความสุข แต่ที่สำคัญที่สุดก็คือต้องเป็นแม่ที่ดีของลูก ซึ่งดูได้จากแม่ของสาวคนนั้น อย่างที่โบราณว่า “ดูช้างที่หาง ดูนางที่แม่” ผมเข้ามาอยู่ที่บ้านสวนพลูไม่ทันงานแต่งของพี่เสือใหญ่ แต่ทราบจากพี่หละพ่อบ้านว่า เป็นงานแต่งที่เอิกเกริกพอสมควร เพราะเป็นงานแรกที่คุณชายจัดให้กับเด็กรับใช้ของท่าน โดยทำพิธีรดน้ำกันที่ศาลาใหญ่หน้าบ้าน แล้วเลี้ยงโต๊ะจีนที่สนามหญ้าหลังบ้าน แม้จะเป็นงานในเวลากลางวัน แต่ก็มีการละเล่นกันครึกครื้น ทั้งร้องทั้งรำกันสนุกสนาน แขกที่มาร่วมที่มีสัก 40-50 คน ก็เป็นญาติๆ ของพี่เสือใหญ่จากลาดชะโด และคนรับใช้ในละแวกบ้านที่ซอยสวนพลูนั้น พี่เสือใหญ่มีลูกกับภรรยาคนนี้ 1 คน (แต่จะไปมีกับคนอื่นอีกหรือไม่นั้นพี่เสือใหญ่ไม่เคยเล่าให้ฟัง เพราะอย่างที่บอกแล้วว่าพี่เสือใหญ่เป็นคนหน้าตาดี มีสาวๆ มาติดพันกันหลายคน อีกทั้งพี่เสือใหญ่ก็เป็นคนจิตใจดี แม้จะไม่ค่อยพูดแต่ก็มีเสน่ห์น่าคบ เพราะชอบช่วยเหลือและสนุกสนานเฮฮา) ซึ่งตอนที่ผมอยู่ในบ้านสวนพลูก็กำลังเข้าเรียนชั้นอนุบาล โดยพี่เสือใหญ่ก็เจียดเวลาเดินไปส่งเข้าโรงเรียนและรับกลับในบางวัน โดยท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ต่อห้องเล็ก ๆ ให้อยู่ แยกครอบครัวออกมาใกล้ๆ กันกับเรือนแถวที่พี่เสือใหญ่เคยอยู่ร่วมกับเด็กรับใช้คนอื่น ๆ ก่อนหน้านั้น ช่วงนั้นเป็น พ.ศ. 2523 ผมพ้นเกณฑ์ทหารกลับเข้ามาอยู่บ้านสวนพลูอย่างเต็มตัว ตอนนั้นท่านอาจารย์คึกฤทธิ์มีกิจกรรมยามบ่ายอย่างหนึ่งคือ “ดูหนังจากวิดีโอ” ซึ่งเป็นเทคโนโลยีการบันเทิงที่กำลังฮิตมากในหมู่ผู้มีอันจะกิน (สมัยนี้น่าจะเป็นพวกเน็ตฟลิกหรือยูทูบนั่นแหละ) ผมมีหน้าที่รับคำสั่งจากท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ จดรายการหนังที่ท่านเลือกจากลิสต์ของร้านให้เช่าวิดีโอเจ้าประจำแถวเอกมัย ครั้ง 4-5 เรื่อง สำหรับดูในแต่ละสัปดาห์ แล้วให้พี่เสือใหญ่ขับรถพาไปที่ร้าน เราจึงได้พูดคุยกันอย่างสม่ำเสมอ และในช่วงที่ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ดูวิดีโอในทุกบ่ายนั้น ผมก็จะมีเวลาว่าง เลยขอพี่เสือใหญ่ให้ช่วยสอนขับรถให้กับผมด้วย พี่เสือใหญ่เอารถเปอโยต์คันที่เอาไปเช่าวิดีโอนั่นแหละพาผมไปหัดขับแถวใต้ทางด่วนเฉลิมมหานคร(ทางด่วนเส้นแรกในโอกาสฉลอง 200 ปีกรุงเทพฯ เริ่มจากดินแดงไปจนถึงยานนาวา ที่เปิดใช้ใน พ.ศ. 2524) พอเดินหน้าถอยหลัง จอดเข้าซองและเทียบข้างฟุตปาธได้พอใช้แล้ว ก็พาออกมาที่ถนนใหญ่ จากใต้ทางก่อสร้างถนนพระราม 4 ออกไปถนนวิทยุ เข้าราชดำริขึ้นสะพานข้ามคลองแสนแสบตรงประตูน้ำ ไปราชปรารภ เลี้ยวเข้าอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เข้าถนนพญาไทมาเลี้ยวเข้าถนนเพชรบุรี เข้าถนนชิดลม มาถนนวิทยุ และเลียบถนนสาธร(สมัยนั้นเขียนอย่างนี้) เข้าซอยสวนพลูและซอยพระพินิจ ขับอย่างนี้อยู่สัก 5 วัน จำได้ว่าทุก ๆ วันนั้น “เหงื่อตก” เพราะ “เกร็ง” เอามาก ๆ แต่ก็สามารถไปสอบใบขับขี่ได้หลังจากที่หัดอยู่เกือบหนึ่งเดือน พี่เสือใหญ่จึงเป็น “ครู” อีกคนหนึ่งของผมด้วยประการฉะนี้