กฟผ.ร่วมเอกชนลดโลกร้อน ผ่านมาตรการลดก๊าซเรือนกระจกในภาคผลิตไฟฟ้า และการซื้อขายเครดิตพลังงานหมุนเวียน โดยโตโยต้าเป็นผู้รับซื้อรายแรก นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธีเปิดงาน “Thailand Clean Energy Network 2020” โดยระบุว่าประเทศไทยมีเป้าหมายที่เข้าสู่ข้อเสนอการมีส่วนร่วมของประเทศในการลดก๊าซเรือนกระจกและการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Nationally Determined Contribution : NDC) จึงถือเป็นเรื่องที่ดีที่ กฟผ.ได้พัฒนากลไกใบรับรองเครดิตการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Certificate) หรือ REC ขึ้นมา ช่วยส่งเสริมให้เกิดการพัฒนา การผลิตและการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ช่วยกระตุ้นให้เกิดการลดก๊าซเรือนกระจก และยังเป็นอีกกลไกที่จะนำประเทศไทยไปสู่การบรรลุเป้าหมายที่ให้คำมั่นตามข้อตกลงปารีสว่าจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกร้อยละ 20-25 ภายในปี 2573 ทั้งนี้เบื้องต้นโตโยต้าเป็นผู้ซื้อ REC เป็นรายแรกของประเทศไทย หากส่งเสริมให้เกิดการซื้อขายให้ปริมาณเพิ่มมากขึ้นในอนาคตก็จะเป็นประโยชน์ทั้งผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทนและลดภาวะโลกร้อนของไทย ซึ่งในอนาคตก็เป็นไปได้ว่าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยอาจจะใช้ช่องทางตลาดทุนในการเปิดการซื้อขาย REC ขึ้นได้ โดยกระทรวงพลังงานสนับสนุนพลังงานทดแทนในการผลิตไฟฟ้า ส่วนถ่านหินคาดว่าจะเกิดขึ้นลำบาก แต่ในการทบทวนแผนพัฒนากำลังงานไฟฟ้าระยะยาว(พีดีพี)ในอนาคตนั้นต้องดูควบคู่กันไปทั้งความมั่นคงพลังงาน ต้นทุนค่าไฟฟ้าที่จะไม่กระทบประชาชน เพราะขณะนี้ยังเป็นที่ทราบกันดีว่าต้นทุนค่าไฟฟ้าพลังงานทดแทนยังสูงและไม่มั่นคง นายวิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย ผู้ว่าการ กฟผ. กล่าวว่า กฟผ.ได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายผู้ผลิตไฟฟ้าดำเนินมาตรการลดก๊าซเรือนกระจกในภาคผลิตไฟฟ้ามาอย่างต่อเนื่อง โดยปิ 2562 กฟผ.และผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน (IPP) สามารถลดก๊าซเรือนกระจกลงได้ถึง 10.03 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และการที่ กฟผ.ร่วมกับเอกชนเช่น ไอพีพี,เอสพีพี ผนึกกำลังเป็นเครือข่าย Thailand Clean Energy Network จะส่งเสริมการลดก๊าซเรือนกระจกในประเทศจะนำไปสู่การเป็นสังคมคาร์บอนต่ำต่อไป สำหรับธุรกิจซื้อขายใบรับรองเครดิตการผลิตพลังงานหมุนเวียน (REC) รวมทั้งการให้บริการรับรอง REC ที่ กฟผ.ได้รับสิทธ์จาก The International REC Standard (I-REC) ประเทศเนเธอร์แลนด์นั้น กฟผ.เป็นผู้รับรอง REC แต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทย คาดว่าจะช่วยส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนภายในประเทศ เกิดการสร้างงานสร้างรายได้ กระตุ้นเศรษฐกิจ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตอบสนองเป้าหมายการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนของสหประชาชาติอย่างเป็นรูปธรรม โดยหน่วยการซื้อขายคือ REC ซึ่งคำนวณจากหน่วยไฟฟ้า 1,000 หน่วยเท่ากับ 1 REC โดยเบื้องต้นราคา 50 บาทต่อ 1 REC นายนินนาท ไชยธีรภิญโญ ประธานคณะกรรมการ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า บริษัทตกลงซื้อไฟฟ้า Grid ระบบส่งไฟฟ้า กฟผ.เป็นไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานน้ำ ซื้อทั้งหมด 10,000 REC มูลค่าประมาณ 500,000 บาท/ปี คิดเป็นร้อยละ 3.8 ของความต้องการใช้ไฟฟ้าของบริษัทในไทยที่มีประมาณ 187,000 หน่วย/ปี ซึ่ง Toyota Motor Thailand ตั้งเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซ CO2 ( สัดส่วนร้อยละ 80 ของก๊าซเรือนกระจก) ให้เป็น 0 ในปี 2050 (พ.ศ.2593) โดยจะดำเนินการใน 3 ส่วนหลักตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำคือ ทั้งโรงงานรถยนต์,ผู้ผลิตชิ้นส่วน และผู้แทนจำหน่าย โดยกลยุทธ์ลด CO2 ดำเนินการทั้งโครงการปลูกป่า การซื้อ REC และการลดการใช้พลังงาน ด้วยปรับปรุงการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพด้วย Kaizen ทุกวันตลอดเวลา,การใช้นวัตกรรม (Innovation) ในขบวนการผลิตเช่น Karakuri เป็นกลไกอัตโนมัติทำหน้าที่แทนหุ่นยนต์ โดยไม่ใช้ไฟฟ้า และก้าวสู่การใช้พลังงานหมุนเวียน เช่น การผลิตไฟฟ้าด้วยแสงอาทิตย์บนหลังคา (Solar Roof TOP) ซึ่งปี 2563 ติดตั้งแล้ว 6.2 เมกะวัตต์ และจะเพิ่มเป็น 31 เมกะวัตต์ในปี 2564 หรือประมาณร้อยละ 20 ของความต้องการใช้และวางแผนจะเพิ่มเป็นร้อยละ 31 ของความต้องการใช้ไฟฟ้าในปี 2593