ในกระแสโลกโซเชียลที่กำลังเป็นกระแสข่าวดังพูดกันถึง “มาตรฐานวิชาชีพครู” และเรื่องของ ใบประกอบวิชาชีพครู ที่แม้จะไม่ใช่เรื่องของการการันตีพฤติกรรมได้อย่าง 100% แต่ก็มีความสำคัญในเรื่องของการแสดงวิทยฐานะ และเป็นเรื่องของการสร้างมาตรฐานทางการประกอบวิชาชีพ เฉกเช่นเดียวกับวิชาชีพอื่นๆ ทั้ง หมอ และ วิศวกร ที่ล้วนมีใบประกอบวิชาชีพ การันตีถึงความเหมาะสมสำหรับวิชาชีพนั้นๆ
มาตรฐานวิชาชีพครู ที่ถูกนำพูดถึงกันหลังเกิดเหตุ “ครูทำร้ายเด็ก” รวมถึงเรื่อง จรรณยาบรรณวิชาชีพ ที่หลายคนยังไม่รู้ว่า “ครู” จะต้องมีอะไรบ้าง ก่อนที่จะทำงานเกี่ยวกับ การสอน หรือ ทำงานกับเด็กๆ
พระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2546 มาตรา 4 ได้ให้ความหมายของคำว่าวิชาชีพ ใช่ว่า วิชาชีพทางการศึกษาที่ทำหน้าที่หลักทางด้านการจัดการเรียนการสอนและการส่งเสริมการเรียนรู้ของผู้เรียนด้วยวิชาต่างๆ และกำหนดให้วิชาชีพครูเป็นวิชาชีพที่ต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพและในมาตรา 7 กำหนดให้มีสภาครูและบุคลากรทางการศึกษาเรียกว่า “คุรุสภา” ที่มีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดมาตรฐานวิชาชีพ มีหน้าที่ออกและเพิกถอนใบอนุญาต และมีหน้าที่กำกับดูแลการปฏิบัติตามมาตรฐานวิชาชีพ และจรรยาบรรณของวิชาชีพและที่สำคัญ พระราชบัญญัติฉบับนี้ มาตรฐานที่ 43 ได้กำหนดให้วิชาชีพครูเป็นวิชาชีพที่ควบคุม คนที่จะมาเป็นครูได้นั้น ต้องมีปริญญาทางการศึกษาหรือเทียบเท่า หรือมีคุณวุฒิอื่นที่คุรุสภารับรองนอกจากนั้นยังต้องผ่านการปฏิบัติกรสอนในสถานศึกษาตามหลักสูตรปริญญาทางการศึกษา เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 1 ปี โดยต้องผ่านเกณฑ์การประเมินการปฎิบัติการสอนตามเงื่อนไขที่คุรุสภากำหนดอีกด้วย
คนที่เป็นครูจะต้องประพฤติตนตามมาตรฐานจรรยาบรรณวิชาชีพตามที่กำหนดในข้อบังคับของคุรุสภา ซึ่งมาตรฐานดังกล่าวประกอบไปด้วย มาตรฐานความรู้และประสบการณ์วิชาชีพ มาตรฐานการปฎิบัติงาน และมาตรฐานการปฏิบัติตน
พูดง่ายๆก็คือ ครูวิชาชีพ ต้องมีความรู้ในศาสตร์วิชาที่ตนเองสอน มีความรู้ในศาสตร์ของวิชาชีพครู และมีประสบการณ์ในการนำศาสตร์เหล่านั้นไปปฏิบัติจริงในโรงเรียน มีความสามารถในการปฏิบัติงานในโรงเรียนได้เป็นอย่างดี ทั้งงานสอน และงานอื่นๆ รวมถึงงานสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครองและชุมชน ที่สำคัญที่สุด ต้องเป็นคนที่ดีมี “จรรยาบรรณของความเป็นครู” ตรงนี้ถือเป็นหัวใจของวิชาชีพครู และการออกไปปฏิบัติงานเป็นครู จะต้องมีสิ่งนี้!!
นอกจากนี้ในมาตรฐานการปฏิบัติตนของวิชาชีพครูนั้น ยังแยกย่อยถึงเรื่องของ การกำหนดข้อบังคับว่าด้วยจรรยาบรรณวิชาชีพที่ประกอบไปด้วย จรรยาบรรณต่อตนเอง ต่อวิชาชีพ ต่อผู้รับบริการ ต่อผู้ร่วมวิชาชีพ และต่อสังคม หากบุคคลที่ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นครูมีความเก่งในเนื้อหาสาระที่ตนเองรับผิดชอบและประพฤติตนตามจรรยาบรรณวิชาชีพจะเป็นครูที่ได้รับการยอมรับและยกย่อง ว่าเป็น ปูชณียบุคคล
ครูต้องรักและศรัทธาซี่อสัตย์สุจริต รับผิดชอบต่อวิชาชีพและตนเอง มีเมตตาเอาใจใส่ ช่วยเหลือส่งเสริมให้กำลังใจลูกศิษย์ ส่งเสริมให้ศิษย์เกิดการเรียนรู้มีทักษะและคุณลักษณะที่เหมาะสม ครูต้องประพฤติตนเป็นแบบอย่างที่ดีทั้งทางกาย และจิตใจ พร้อมส่งเสริมศิษย์ให้มีความเจริญทั้งทางกาย สติปัญญา จิตใจ อารมณ์ และสังคม ด้วยความจริงใจและเสมอภาค
ครูที่ผ่านกระบวนการพัฒนาครูที่มีคุณภาพจะถูกบ่มเพาะสิ่งเหล่านี้จากครูของครูในสถาบันอุดมศึกษาอย่างเต็มเปี่ยมทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการในรูปแบบของกิจกรรมต่างๆ ถูกปลูกฝังให้เป็นผู้ที่เห็นแก่ผู้อื่นและทำเพื่อผู้อื่นโดยไม่หวังผลตอบแทนใดๆ จิตวิณญาณความเป็นครูสร้างได้พัฒนาได้ด้วยคนที่มีจิตวิณญาณของความเป็นครูด้วยการบ่มเพาะกล่อมเกลา จึงต้องใช้เวลามิอาจได้เกิดภายในวันสองวัน ด้วยการสัมผัสโดยตรง ด้วยการทำให้เห็นเป็นแบบอย่างคนที่ได้รับการดูแลด้วยความรักก็จะเติบโตไปเป็นคนที่รักและดูแลคนอื่นเช่นเดียวกัน
ครูที่ได้รับการพัฒนาจากครูของครูด้วยความรัก ด้วยเมตตา ความเข้าใจ ความเห็นอกเห็นใจจะถูกหล่อหลอมจิตใจให้เป็นครูที่มีจิตใจอ่อนโยนได้สัมผัสกับศิษย์ เข้าใจศิษย์ที่มีความแตกต่างกัน สั่งสอนอบรมดูแลศิษย์ด้วยความเข้าใจ มองศิษย์เป็นบุคคลที่ครูต้องปลูกฝั่งสิ่งต่างๆที่ดีงามด้วยความรักและหัวใจ
ความสุขที่แท้จริงของครูไม่ใช่อยู่ที่เงินทองแต่เป็นความภูมิใจที่เห็นศิษย์ที่ตนเองสอนมีพฤติกรรมที่ดีเป็นที่ยอมรับของสังคม เป็นคนดี ประสบความสำเร็จ มีความเจริญก้าวหน้า และมีความกตัญญูกตเวที รักผู้อื่นเหมือนกับครูที่ให้ความรักกับเขาเหล่านั้น
ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่ “ครู” จะต้องมี หากรัก และต้องการที่จะประกอบอาชีพนี้ ส่วนของ “ใบประกอบวิชาชีพ” คงเป็นเพียงเรื่อง “เบื้องต้น” ที่จะสามารถชี้วัดได้ว่า “ผ่านกระบวนการสร้างทางบุคคลากรให้มีความเหมาะสม” ส่วนเรื่องของ “พฤติกรรมในวิชาชีพ” นั้นเป็นอีกเรื่อง!!
ขณะที่เรื่องของจรรยาบรรณวิชาชีพ นั้นเป็นสิ่งที่จะต้องขึ้นอยู่กับ “จิตสำนึก” ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ ก็จะต้องผ่านกระบวนการการบ่มเพาะและพัฒนา เพราะกล่าวไว้แล้วว่า “เป็นเรื่องของจิตสำนึก” ฉะนั้นอย่างน้อยคนที่จะมาเป็นครู “ควรจะมีการบ่มเพาะ และพัฒนาทางความคิดก่อน” ที่จะก้าวเข้ามาสู่วิชาชีพนี้ และนี่คือความสำคัญของ “ใบประกอบวิชาชีพ” ที่น่าจะเป็นมากกว่า “มาตรฐานของวิชาชีพครู” เป็นจุดเริ่มต้นสำหรับการเข้าสู่ระบบการศึกษา และอาจเป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการการพัฒนาทางวิชาชีพและพฤติกรรมต่างๆ ในอนาคตสำหรับ “ครู”
ดร.สิทธิพร เอี่ยมเสน คณบดีคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต