ในปี 2561 ประเทศไทยจะมีผู้สูงอายุสูงถึง 1 ใน 5 ของประชากรทั้งหมดและมากกว่าประชากรเด็ก พร้อมเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ สถาบันเวชศาสตร์สมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรเพื่อผู้สูงอายุ กรมการแพทย์ จัดอบรมหลักสูตรดูแลผู้ป่วยสูงอายุสำหรับพยาบาลรองรับสังคมผู้สูงอายุที่กำลังจะมาถึง วันที่ 3 ก.ค.60 ที่โรงแรมเดอะ ทวิน ทาวเวอร์ กรุงเทพมหานคร นายแพทย์ปานเนตร ปางพุฒิพงศ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธีเปิดการอบรมระยะสั้นเรื่อง "พื้นฐานการดูแลผู้ป่วยสูงอายุสำหรับพยาบาลทั่วไป" ว่า จากการประเมินสถานการณ์ผู้สูงอายุในประเทศไทยของมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุ พบว่าประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ คือ มีสัดส่วนประชากรผู้สูงอายุ (อายุ 60 ปี ขึ้นไป) เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 20 ในปี พ.ศ. 2561 โดยมีประชากรผู้สูงอายุมากกว่าเด็ก และคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 1 ใน 5 ของประชากรทั้งหมด นอกจากนี้ จากการจัดอันดับของประเทศในเอเชียที่มีสัดส่วนการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของประชากรผู้สูงอายุในปัจจุบัน ประเทศไทยเป็นอันดับที่ 2 รองจากประเทศสิงคโปร์ ดังนั้น การมีสัดส่วนประชากรผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วทำให้เห็นว่าประเทศไทยมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเตรียมความพร้อมรองรับการเป็นสังคมผู้สูงอายุที่กำลังจะมาถึง เพราะผู้สูงอายุถือเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรคต่างๆ สาเหตุมาจากความเสื่อมตามธรรมชาติของร่างกายและโรคประจำตัวเรื้อรัง ซึ่งต้องได้รับการดูแลที่แตกต่างไปจากผู้ป่วยในกลุ่มอื่น นอกจากนี้การเจ็บป่วยของผู้สูงอายุอาจเกิดขึ้นกับอวัยวะต่างๆ ในเวลาเดียวกัน หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีจะทำให้มีความรุนแรงเพิ่มขึ้น ผู้สูงอายุควรดูแลตนเองให้แข็งแรงตั้งแต่อายุน้อยเพื่อเป็นผู้สูงอายุที่แข็งแรงและมีความสุข การผลิตบุคลากรทางแพทย์ด้านเวชศาสตร์ผู้สูงอายุของประเทศไทยถือว่ายังไม่ทันกับความต้องการของสังคม ดังนั้น กรมการแพทย์ โดยสถาบันเวชศาสตร์สมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรเพื่อผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นหน่วยงานรับผิดชอบงานวิชาการ รวมถึงการถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีทางการแพทย์ด้านเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ จึงจัดอบรมหลักสูตรระยะสั้น "พื้นฐานการดูแลผู้ป่วยสูงอายุสำหรับพยาบาลทั่วไป" โดยมุ่งหวังให้พยาบาลได้รับการพัฒนาทักษะในการดูแลรักษาผู้ป่วยสูงอายุ โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นพยาบาล จำนวน 150 คน ที่ปฏิบัติงานในแผนกที่มีผู้สูงอายุมารับบริการทั้งสถานบริการสุขภาพภาครัฐและเอกชนทั่วประเทศ ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้เข้ารับการอบรมนำความรู้ที่ได้รับไปใช้ในการดูแลรักษาผู้สูงอายุ พร้อมทั้งสามารถจัดการปัญหาการเจ็บป่วยของผู้สูงอายุได้อย่างตรงประเด็นครอบคลุมทุกมิติ ลดความแออัดในสถานบริการสุขภาพ ลดวันนอนเฉลี่ยผู้ป่วยใน และลดการกลับมารักษาซ้ำ ตลอดจนเพิ่มคุณภาพชีวิตให้แก่ผู้สูงอายุ