วันที่ 7 ต.ค.63  ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ได้เผยแพร่เอกสารข่าว ที่ประชุมศาลรัฐธรรมนูญ วิจารณาเรื่องที่ ผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอเรื่องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๒๓๑ (๑) ว่า พระราชบัญญัติคำสั่งเรียกของคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาพ.ศ. ๒๕๕๔ มาตรา ๕ มาตรา ๘ และมาตรา ๑๓ มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญมาตรา ๑๒๙ หรือไม่ (เรื่องพิจารณาที่ ๓๒/๒๕๖๒) ผลการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญโดยมติเอกฉันท์วินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติคำสั่งเรียกของคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๕๔ มาตรา ๕ ที่บัญญัติอำนาจของคณะกรรมาธิการในการออกคำสั่งเรียกเอกสารจากบุคคลใด หรือเรียกบุคคลใดมาแถลงข้อเท็จจริงหรือแสดงความเห็นในกิจการที่กระทำหรือในเรื่องที่พิจารณาสอบสวนหรือศึกษาอยู่นั้นได้ มาตรา ๘ ที่บัญญัติขั้นตอนการออกคำสั่งเรียกของคณะกรมาธิการ และมาตรา ๑๓ ที่กำหนดโทษแก่ผู้ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเรียกของคณะกรรมาธิการ ขัดหรือแยังต่อรัฐธรมนูญ ดังนั้น พระราชบัญญัติคำสั่งเรียกของคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา พศ. ๒๕๕๔ มาตรา ๕ มาตรา ๘ และมาตรา ๑๓ จึงมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๒๙ ทั้งนี้คำวินิจฉัยดังกล่าวสืบเนื่องมาจากการยื่นร้องของผู้ตรวจการแผ่นดินที่ได้รับคำร้องของนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ขอให้พิจารณาและมีความเห็นเสนอศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าบทบัญญัติดังกล่าวขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ หลังพล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ส.ส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ ป.ป.ช.จะใช้อำนาจตามกฎหมายดังกล่าว ออกคำสั่งการเรียก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มาชี้แจงกรณีการถวายสัตย์ไม่ครบถ้วน