สำหรับแผนการดำเนินงานของ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ ในปี 2564 นั้นทาง นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงาน ได้เผยถึงแผนการดึงอุตสาหกรรมไมซ์ฝ่าวิกฤต ด้วยการเสริมรากฐานความยั่งยืนภายใต้แนวคิดไมซ์วิถีใหม่ เติบโตอย่างยั่งยืน ด้วย 4 แนวทางหลัก โดยมุ่งกระตุ้นตลาดในประเทศ ขับเคลื่อนไมซ์ด้วยนวัตกรรม มุ่งชิงงานนานาชาติ พร้อมพัฒนาระบบนิเวศไมซ์ไทย โดยไตรมาสแรกภายในสิ้นเดือนธันวาคมนี้มีจำนวนงานที่ทีเส็บให้การสนับสนุนแล้วประมาณ 70 งาน ดังนั้นจึงตั้งเป้าดึงนักเดินทางไมซ์ 10.4 ล้านคน สร้างรายได้ 64,000 ล้านบาท และภาพโดยรวม ปีงบประมาณ 2564 อุตสาหกรรมไมซ์น่าจะเติบโตประมาณ 3.5% ยกระดับมาตรฐานไมซ์ของไทย ทั้งนี้ นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ กล่าวว่า แผนการดำเนินงานปี 2564 ได้นำปัจจัยโควิด-19 และผลกระทบต่างๆ มาเป็นประเด็นสำคัญ จนนำไปสู่แนวทางหลักที่ต้องการให้ผู้ประกอบการสามารถพลิกฟื้นธุรกิจได้ ขณะเดียวกันได้ใช้โอกาสนี้ยกระดับมาตรฐานไมซ์ของไทยให้โดดเด่นขึ้น โดยไตรมาส 3งานที่จัดขึ้นจะมีผู้เข้าร่วมแบบออนไลน์ 55.4% หรือ จำนวน 375,094 คน และออฟไลน์ 44.6% หรือ จำนวน 302,312 คน เป็นการสะท้อนถึงการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการจัดงานที่ได้ผลเป็นอย่างดี ดังนั้นในปีงบประมาณ 2564 ทางทีเส็บจะนำแนวคิดไมซ์วิถีใหม่ เติบโตอย่างยั่งยืน ด้วยการส่งเสริมการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ และสร้างความเข้มแข็งจากภายในผ่าน 4 แนวทางหลัก คือ กระตุ้นตลาดในประเทศ ดึงงานนานาชาติ ขับเคลื่อนไมซ์ด้วยนวัตกรรม และพัฒนาระบบนิเวศไมซ์ไทย เพื่อส่งเสริมและสร้างโอกาสในการพลิกฟื้นอุตสาหกรรมไมซ์ไทยให้กลับมาโดยเร็ว “การกระตุ้นตลาดในประเทศ จะมุ่งเน้นกระจายงานสู่ภูมิภาคทั่วประเทศ โดยทำงานร่วมกับภาครัฐ เอกชน ท้องถิ่น และชาวบ้าน พร้อมกับยกระดับการจัดงานไมซ์ในภูมิภาคให้เป็นงานระดับประเทศ ด้วยการใช้องค์ประกอบต่างๆ ของชุมชนหรือท้องถิ่นเป็นอัตลักษณ์จุดขายของจุดหมายปลายทาง พร้อมทั้งเร่งกระตุ้นการจัดงานในประเทศทั่วไทย ให้มีการเดินทางโดยเร็วที่สุดภายในไตรมาสแรกปี 2564 ในช่วงเดือนตุลาคม – ธันวาคม 2563” เสนอแพ็กเกจกระตุ้นการจัดงาน ซึ่ง นายจิรุตถ์ ยังกล่าวต่อว่า ทางทีเส็บได้นำเสนอแพ็กเกจสนับสนุนการกระตุ้นการจัดงานไมซ์ในประเทศ คือ การสานต่อ ประชุมเมืองไทย ปลอดภัยกว่า ด้วยงบเพิ่มเติมอีก 10 ล้านบาท โดยสนับสนุนให้แก่องค์กร บริษัท และผู้ประกอบการไมซ์ที่มีแผนจะจัดประชุม การเดินทางเพื่อเป็นรางวัล งานสัมมนา การอบรม กิจกรรมเพื่อสังคม กิจกรรมพนักงานสัมพันธ์ หรือกิจกรรมอื่นๆ ที่ใช้สถานที่ในประเทศภายในเดือนธันวาคมนี้ ขณะเดียวกันได้ขับเคลื่อนงานแสดงสินค้าในประเทศควบคู่กันไป ผ่านโครงการบูรณาการร่วมมือภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐเอกชน หรือที่เรียกว่า Empower Thailand Exhibition (EMTEX) ตลอดปี 2564 ด้านการ เตรียมดึงงานนานาชาติ ได้มุ่งส่งเสริมอุตสาหกรรมไมซ์ผ่านเวทีการจัดงานแสดงสินค้าเจาะรายอุตสาหกรรม โดยเริ่มจากการจัดทำแผนแม่บทงานแสดงสินค้านานาชาติ ภายใต้แคมเปญไทยแลนด์ ล็อก-อิน อีเวนต์ ขับเคลื่อน และส่งเสริมงานแสดงสินค้านานาชาติในกลุ่มโลจิสติกส์และโครงสร้างพื้นฐาน ตอบโจทย์แนวทางโครงการแผนพัฒนาประเทศระดับมหภาคของรัฐบาล เพื่อกระตุ้นให้ทั้งภาครัฐและเอกชนสร้างงานใหม่ ขยายงานเดิม กระจายงานสู่ภูมิภาค และประมูลสิทธิ์การจัดงานระดับโลกเข้ามาจัดในประเทศไทย โดยเฉพาะในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) นอกจากนี้ ทีเส็บ ยังเตรียมเปิดตัวแนวคิดเฟสติวัล อีโคโนมี สร้างมรดกทางเศรษฐกิจด้วยการจัดงานเทศกาล โดยส่งเสริมการจัดงานเทศกาลกระจายไปทั่วทุกภูมิภาค เพื่อสร้างมูลค่าและการพัฒนาทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมให้กับพื้นที่และจังหวัดต่างๆ พร้อมเตรียมแผนการเจาะดึงงานไมซ์ในตลาดต่างประเทศผ่านตัวแทนการตลาดใน 7 ประเทศ ได้แก่ จีน อินเดีย สิงคโปร์ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย อังกฤษ ยุโรป และอเมริกาเหนือ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรม พร้อมกันนี้ นายจิรุตถ์ กล่าวว่า ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรมจะมีมาตรการช่วยเหลือ สนับสนุน และฟื้นฟูด้วยการพัฒนาการจัดงานรูปแบบออนไลน์ (Online) และรูปแบบผสมผสาน (Hybrid) โดยในไตรมาสแรกนี้ ได้สนับสนุนการใช้ Virtual Meeting Space (VMS) แพลตฟอร์ม หรือ การส่งเสริมการจัดประชุมและงานแสดงสินค้าออนไลน์ ประกอบด้วยการจัดแสดงสินค้าผ่านระบบออนไลน์ (Offline to Online – O2O) และการประชุมสัมมนาเสมือนจริงผ่านระบบออนไลน์ (Webinar) รวมจำนวน 8 งาน ส่วน การพัฒนาระบบนิเวศไมซ์ไทย ทางทีเส็บ ได้วางแผนจัดตั้งศูนย์ประสานการอำนวยความสะดวกธุรกิจไมซ์ (One-Stop Service Center for MICE) เพื่อให้บริการข้อมูลและคำปรึกษาในการจัดงานเชื่อมโยงธุรกิจครบวงจรด้วยระบบดิจิทัล บูรณาการเพื่ออำนวยความสะดวกด้านกฎระเบียบและมาตรการส่งเสริมธุรกิจไมซ์ รวมทั้งการประสานงานให้บริการจัดงานไมซ์ให้กับหน่วยงานรัฐ นอกจากนี้ยังครอบคลุมถึงการพัฒนาการให้บริการไมซ์เลน เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่นักเดินทางไมซ์ที่เข้ามายังประเทศไทยทั้งในเรื่องของพิธีการตรวจคนเข้าเมือง บริการ Fast Track, Visa on Arrival และการดูแลด้านสุขอนามัย สำหรับผลการดำเนินงานในปีงบประมาณ 2563 ประเทศไทยมีนักเดินทางไมซ์รวมทั้งสิ้น 10,456,899 คน สร้างรายได้ 61,317 ล้านบาท โดยเป็นนักเดินทางไมซ์ต่างชาติ 500,090 คน สร้างรายได้ 29,819 ล้านบาท แบ่งเป็นกลุ่มประชุมองค์กรจำนวน 149,638 คน ซึ่งเป็นกลุ่มที่ทำรายได้สูงสุด 9,414 ล้านบาท ตามมาด้วยกลุ่มประชุมวิชาชีพจำนวน 139,639 คน รายได้ 8,317 ล้านบาท กลุ่มการเดินทางเพื่อเป็นรางวัลจำนวน 122,102 คน รายได้ 5,624 ล้านบาท และกลุ่มงานแสดงสินค้าจำนวน 88,711 คน รายได้ 6,464 ล้านบาท ด้านนักเดินทางไมซ์ในประเทศ มีจำนวนรวม 9,956,809 คน สร้างรายได้ 31,498 ล้านบาท มีกลุ่มงานแสดงสินค้าเป็นตลาดใหญ่ที่สุดจำนวน 7,900,843 คน สร้างรายได้ 26,452 ล้านบาท รองลงมาคือ กลุ่มประชุมวิชาชีพจำนวน 1,350,609 คน รายได้ 3,016 ล้านบาท กลุ่มประชุมองค์กรจำนวน 604,246 คน รายได้ 1,501 ล้านบาท และกลุ่มการเดินทางเพื่อเป็นรางวัลจำนวน 101,111 คน ทำรายได้ 529 ล้านบาท