จากความร่วมมือทุกภาคส่วนจึงทำให้เวลานี้ อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย และ ตำบลในเวียง อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน ทั้งสองแหล่งผ่านเกณฑ์คัดเลือก ได้รับการจัดอันดับบรรจุเป็นแหล่งท่องเที่ยว TOP 100 ประจำปี 2563 ครั้งแรกของประเทศไทย และพร้อมที่จะใช้เกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก เพื่อสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักในระดับสากล สร้างรายได้เพิ่มให้กับคนไทย ตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติ เชียงคาน-ในเวียงขึ้น TOP 100 ทั้งนี้ นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า ได้รับรายงานจากองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หรือ อพท. ถึงผลประกาศการจัดอันดับ 100 แหล่งท่องเที่ยวยั่งยืนระดับโลก เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2563 ทางเทศบาลตำบลเชียงคาน อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย และ ตำบลในเวียง อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน ทั้งสองแหล่งผ่านเกณฑ์คัดเลือก ได้รับการจัดอันดับบรรจุเป็นแหล่งท่องเที่ยว TOP 100 ประจำปี 2563 ครั้งแรกของประเทศไทย หลังจากมีการปรับปรุงเกณฑ์การตัดสินที่เข้มงวดขึ้น ซึ่งประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับครั้งนี้คือ ได้สร้างการรับรู้ในแบรนด์หรือชื่อเสียงของแหล่งท่องเที่ยวรอง นักท่องเที่ยวต่างชาติจะได้รู้จักและเข้าสู่รายชื่อการเป็นจุดหมายปลายทางของการเดินทางระดับคุณภาพ พิพัฒน์ รัชกิจประการ ด้าน ดร.ชูวิทย์ มิตรชอบ รักษาการแทนผู้อำนวยการ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หรือ อพท. กล่าวว่า เชียงคาน จังหวัดเลย และในเวียง จังหวัดน่าน อพท. ได้พัฒนาโดยใช้เกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก หรือ GSTC ควบคู่ไปกับการนำ 4 นโยบายของนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้แก่ ความปลอดภัย ความสะอาด ความเสมอภาคเป็นธรรม และความยั่งยืน รวมถึงแนวนโยบายการบริหารงานของ นายอนันต์ ชูโชติ ประธานกรรมการ อพท. เข้าไปพัฒนาในรูปแบบบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานภาคี ทั้งส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ชุมชน และภาคเอกชน ทำให้เกิดความสำเร็จที่เป็นรูปธรรมในครั้งนี้ และนับเป็นความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมอีกขั้นหนึ่งของภารกิจ อพท. ในด้านการพัฒนาสู่ความยั่งยืน แหล่งท่องเที่ยวไทยสู่เวทีโลก พร้อมกันนี้ ดร.ชูวิทย์ ยังกล่าวถึงTOP 100 หรือ Sustainable Destinations TOP 100 ว่า เป็นอันดับที่มอบให้แก่แหล่งท่องเที่ยวที่มีความพร้อมในการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน จัดโดยหน่วยงานระดับโลก Green Destinations Foundation ประเทศเนเธอร์แลนด์ ร่วมกับคณะผู้จัดงานส่งเสริมการท่องเที่ยวระดับโลก ITB (Internation Tourism Borse) กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี โดยมีเกณฑ์การตัดสินแหล่งท่องเที่ยวแบ่งเป็นคะแนนจากการดำเนินการตามเกณฑ์บังคับ 30 ข้อและคะแนนจากการนำเสนอ Good Practice Story ชูวิทย์ มิตรชอบ โดยในส่วนของ Good Practice Story แหล่งท่องเที่ยวต้องสามารถบอกเล่าหรือแสดงถึงเรื่องราวที่สร้างแรงบันดาลใจให้แก่แหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ ที่ต้องการจะพัฒนา แสดงถึงการใช้นวัตกรรม หรือการนำนวัตกรรม หรือแนวทางปฏิบัติที่เคยมีอยู่แล้ว มาปรับใช้ในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวให้เกิดความยั่งยืน และสุดท้ายแหล่งท่องเที่ยวนั้นจะต้องสามารถเป็นกรณีศึกษาที่ดีให้แก่แหล่งท่องเที่ยวอื่น สามารถเรียนรู้และนำไปปรับใช้ต่อได้ ดังนั้นแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับการบรรจุสู่ Sustainable Destinations TOP 100 เป็นการแสดงให้เห็นว่าแหล่งท่องเที่ยวนั้น มีคุณภาพพอที่จะดึงดูดกลุ่มลูกค้าคุณภาพ มีการกระจายรายได้ให้คนท้องถิ่น มีการปกป้องประเพณีวัฒนธรรมวิถีชีวิต และปกป้องสิ่งแวดล้อมอย่างเหมาะสม ผู้ไปเที่ยวก็สบายใจ ชุมชน ประชากรที่อาศัยในแหล่งท่องเที่ยวก็สบายใจ “เชียงคาน จังหวัดเลย และในเวียง จังหวัดน่าน ทั้ง 2 แหล่งท่องเที่ยวดังกล่าว มีจุดเด่นคือความเข้มแข็งทางด้านวัฒนธรรม วิถีชีวิต เมื่อ อพท. ได้นำแนวทางการปฏิบัติของเกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก ประกอบด้วย 4 มิติ ได้แก่ มิติด้านการบริหารจัดการความยั่งยืนในแหล่งท่องเที่ยวซึ่งรวมถึงความปลอดภัย ตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวฯ มิติด้านสังคม-เศรษฐกิจ ที่ต้องเติบโตไปพร้อมกัน มิติด้านวัฒนธรรม มีความงดงามในแบบวิถีชีวิตและมีคุณค่าของการสืบสาน และมิติทางด้านสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ ที่นอกจากการท่องเที่ยวจะใช้อย่างคุ้มค่า แล้วยังต้องเกิดการฟื้นฟูและรักษาให้คงอยู่ต่อไป” ดร.ชูวิทย์ กล่าว ตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติ อย่างไรก็ตาม ดร.ชูวิทย์ กล่าวว่า ในเชิงการบริหารประเทศ การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวสู่รางวัล Sustainable Destinations TOP 100 เป็นการตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติ ในเรื่องของการสร้างระบบนิเวศท่องเที่ยว ซึ่งคำว่านิเวศในที่นี้ ไม่ได้หมายความว่าระบบนิเวศธรรมชาติ แต่หมายถึงสภาพแวดล้อมโดยรวมของแหล่งท่องเที่ยวที่มีความยั่งยืน ทั้งในเรื่องภูมิทัศน์ ความปลอดภัย สิ่งแวดล้อม การปกป้องวัฒนธรรม การกระจายรายได้ที่เป็นธรรม รวมไปถึงกฎหมาย ข้อบังคับต่างๆ เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้สอดรับกับนโยบายของนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และอยู่ในเกณฑ์ของ TOP 100 ทั้งหมด ขณะเดียวกันยังเป็นเรื่องใกล้ตัวของคนไทยอย่างมาก เนื่องจากที่ผ่านมาทุกคนเคยได้ยินแต่คำว่าท่องเที่ยวยั่งยืน แต่ไม่มีหลักเกณฑ์อะไร มีเพียงคำพูดที่เป็นนามธรรม ดังนั้น TOP 100 คือการตอบโจทย์ของการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนที่เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม วัดผลได้ มีแผนงานชัดเจน โดยในส่วนของ อพท. จะนำความสำเร็จครั้งนี้ เป็นต้นแบบขยายผลไปยังแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ ที่ดูแลรับผิดชอบทั้งในพื้นที่พิเศษตามมติคณะรัฐมนตรี และพื้นที่อื่นที่ได้รับมอบหมาย โดยจะนำแหล่งท่องเที่ยวที่ผ่านกระบวนการพัฒนาของ อพท. เสนอเข้าสู่การจัดอันดับ TOP 100 อย่างน้อยปีละ 1 แหล่ง