“นักวิชาการช่างศิลป์”สำนักช่างสิบหมู่เผยแบบผอบอัญเชิญพระบรมราชสรีรางคารองค์ใหม่ ทรงดอกบัวบาน ออกแบบเพิ่มลวดลายชั้นเชิงให้สมพระเกียรติ ฐานเป็นชั้นเกี้ยวสื่อเครื่องสูงพระมหากษัตริย์ ฝายอดทรงมัณฑ์ ทุกขั้นตอนใช้เทคนิคช่างโบราณเหมือนพระโกศทองคำ จัดสร้างขึ้น 2 องค์
เมื่อวันที่ 2 ก.ค. 60 นายณัฐพงค์ ปิยมาภรณ์ นักวิชาการช่างศิลป์ชำนาญการพิเศษ สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร เปิดเผยว่า งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ตนได้รับมอบหมายหน้าที่ให้ดำเนินการออกแบบและเขียนแบบผอบอัญเชิญพระบรมราชสรีรางคารองค์ใหม่ เพื่อใช้ทรงพระบรมราชสรีรางคาร ในหลวง รัชกาลที่ 9 ขณะที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อัญเชิญพระบรมราชสรีรางคารไปประดิษฐานในพระถ้ำศิิลา ที่ฐานชุกชีพระประธานพระอุโบสถวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี อัญเชิญไปประดิษฐาน ที่ฐานองค์พระพุทธชินสีห์ ที่วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร โดยได้ศึกษารูปแบบจากผอบองค์เดิมที่มีอยู่แล้วและนำมาประยุกต์ออกแบบใหม่ให้มีรูปทรงและลวดลายชั้นเชิงต่างๆ ให้งดงามสมพระเกียรติในหลวง รัชกาลที่ 9 ยิ่งขึ้น
นายณัฐพงค์ กล่าวว่า ผอบองค์นี้แบ่งส่วนประกอบเป็น 3 ส่วนได้แก่ ส่วนที่เป็นฐาน ส่วนตัวผอบ และส่วนที่เป็นฝา ซึ่งส่วนฐานจะมีชั้นหน้ากระดานบัวคว่ำ รองรับชั้นลูกแก้ว มีลวดและท้องไม้สลับคั่นระหว่างชั้นลูกแก้ว โดยลวดลายลูกแก้วหรือชั้นเกี้ยวตามโบราณราชประเพณีจะใช้ออกแบบเครื่องสูงสำหรับพระมหากษัตริย์ และเป็นหนึ่งในลวดลายประดับพระมหาพิชัยมงกุฎ ส่วนตัวผอบเป็นทรงดอกบัวบาน มีลักษณะทรงกลม ลักษณะพิเศษของผอบองค์ใหม่มีกลีบบัวขนาดเล็กรองรับสลับกันไป ส่วนกลีบบัวของผอบจะมีขนาดเล็กกว่าองค์เดิมและมีเส้นเดินรอบกลีบ ด้านในกลีบเพื่อให้เกิดน้ำหนักและมิติของงานสลักดุน ตรงกลางกลีบบัวจะทำเป็นสันขึ้นมาเมื่อเวลาแสงตกกระทบจะทำให้เกิดแสงเงาที่สวยงาม มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 10 นิ้ว ส่วนฝาเป็นลักษณะยอดทรงมัณฑ์ มีชั้นหน้ากระดานถัดขึ้นไป ถัดขึ้นมาใช้เป็นชั้นบัวคว่ำ 3 ชั้น ลักษณะบัวคว่ำชั้นแรกจะมีขนาดใหญ่ ชั้นถัดไปจะลดหลั่นไปตามสัดส่วนและรูปทรง โดยจะมีการสลักดุนเหมือนกับกลีบบัวที่ตัวผอบเพื่อให้เกิดมิติของแสงเงาเพื่อให้เกิดความสวยงาม ถัดจากชั้นกลีบบัวจะเป็นปลียอดและชั้นบนสุดจะเป็นลูกแก้ว หรือเม็ดน้ำค้าง โดยมีรูปทรงกลมและส่วนปลายจะเรียวแหลมเล็กน้อยลักษณะเป็นดอกบัวตูม
“การจัดสร้างผอบอัญเชิญพระบรมราชสรีรางคารองค์ใหม่นี้จัดสร้างขึ้น 2 องค์ โดยใช้วัสดุโลหะเนื้อเงินมาทำการขึ้นรูป เทคนิควิธีการเกี่ยวกับการจัดสร้างพระโกศทองคำ เป็นวิธีการแบบช่างโบราณ โดยการกลึงหุ่นแบ่งเป็นส่วนฐาน ส่วนตัวผอบ และส่วนฝาผอบ หลังจากกลึงเสร็จเรียบร้อยแล้ว จะนำมาถอดพิมพ์ด้วยยางซิลิโคน เมื่อได้พิมพ์ยางซิลิโคนแล้วจะนำเรซิ่นมาเทในพิมพ์ยางซิลิโคน เมื่อเสร็จจากขั้นตอนนี้ก็จะได้หุ่นเพื่อการเคาะขึ้นรูป โดยนำโลหะเงินมาหลอมรีดให้เป็นแผ่นมีความหนาตามที่ต้องการ จากนั้นเคาะให้เกิดรูปทรงตามหุ่นดังกล่าวแต่ละส่วนจนสำเร็จเป็นรูปทรงส่วนฐาน ตัวผอบ และฝา จากนั้นช่างจะนำมาสลักดุนตามแบบและลวดลายที่ออกแบบไว้จนสำเร็จออกมา แล้วจึงนำแต่ละส่วนกะไหล่ทองจนสำเร็จแล้วทำการประกอบแต่ละส่วนเข้าด้วยกันจนสำเร็จเป็นผอบอัญเชิญพระบรมราชสรีรางคาร” นายณัฐพงค์ นักวิชาการช่างศิลป์ กล่าว