เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม ที่ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเวทีระดมข้อเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย หัวข้อ “ผ่าตัดนโยบายให้เด็กปฐมวัยมีพื้นที่เรียนรู้ที่สร้างสรรค์และปลอดภัย” ใช้รูปแบบ Online Policy Crowdsourcing สร้างกระบวนการมีส่วนร่วมภาคประชาชน เพื่อเสนอแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาการใช้ความรุนแรงต่อเด็ก ขับเคลื่อนสู่กลไกระดับชาติภายใต้ พ.ร.บ.การพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ.2562 นางสาวณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว (สสส.) กล่าวว่า การพัฒนาเด็กปฐมวัยเป็นภารกิจที่หลายหน่วยงานมีหน้าที่ร่วมกัน โดยประเทศไทยมีกลไกระดับชาติทำหน้าที่กำหนดทิศทาง มาตรฐาน และบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่างๆ ได้แก่ คณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย ภายใต้พระราชบัญญัติการพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ.2562 ซึ่งกฎหมายฉบับนี้มีเจตนารมณ์ในการดำเนินงานด้านการพัฒนาเด็กปฐมวัยให้มีความต่อเนื่อง ทั่วถึงและเท่าเทียม โดยให้มีระบบการพัฒนาเด็กปฐมวัยที่สร้างการมีส่วนร่วม บูรณาการทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่ระดับชาติ ภูมิภาค ท้องถิ่น ชุมชนจนถึงครอบครัว ให้มีกระบวนการพัฒนาเด็กปฐมวัยที่มีความหลากหลายแต่เป็นเอกภาพ มีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผล เป็นหลักประกันให้เด็กปฐมวัยได้รับการเลี้ยงดู พัฒนา ให้การศึกษาและได้รับการปกป้องเป็นพิเศษ ซึ่งในวันที่ 9 ตุลาคมนี้ คณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัยมีกำหนดจะจัดประชุมเพื่อพิจารณาแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาเด็กปฐมวัย จึงคาดหวังว่าข้อเสนอเชิงนโยบายที่ภาคประชาชนระดมสมองร่วมกันในวันนี้ จะเป็นข้อมูลนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการฯ เพื่อเป็นการสะท้อนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนที่มีความห่วงใยต่อปัญหาการดูแลเด็กปฐมวัย “โจทย์ใหญ่ในสังคมไทยตอนนี้ คือการเป็นสังคมสูงวัย ทำให้ต้องเพิ่มการลงทุนในการพัฒนาเด็กปฐมวัยเพื่อให้เติบโตอย่างมีคุณภาพและช่วยดูแลสังคมเราต่อไป ซึ่งจะต้องช่วยกันเฝ้าระวัง ป้องกัน เยียวยา ปัญหาความรุนแรงต่อเด็ก เร่งสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี สร้างพื้นที่ปลอดภัยให้เป็นพื้นที่เรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ให้กับเด็กปฐมวัยอย่างถ้วนหน้า รายงานสุขภาพคนไทย ปี 2561 พบว่าเด็กวัยอนุบาลคือกลุ่มวัยที่ถูกอบรมด้วยการทำร้ายร่างกายมากกว่าเด็กวัยอื่นๆ เสี่ยงต่อการเกิดบาดแผลทางใจ ซึ่งรายงาน ThaiHealth Watch 2563 ก็พบว่า สายด่วนสุขภาพจิต 1323 มีเด็ก-เยาวชน โทรมาขอคำปรึกษาจำนวนมาก เพราะมีความเครียด วิตกกังวลสูง และกลัวเป็นโรคซึมเศร้า ซึ่งมีผลกระทบต่อร่างกาย จิตใจ สมอง และพัฒนาการของพวกเขาในระยะยาว” นางสาวณัฐยา กล่าว นายอรุณฉัตร คุรุวาณิชย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาเชิงบวก และผู้บริหารไลฟ์ เอ็ดดูเคชั่น (ประเทศไทย) กล่าวว่า ปัจจุบันโรงเรียนและครอบครัว แบ่งลักษณะหน้าที่ดูแลในรูปแบบ Parental Involvement คือ ครอบครัวมีบทบาทส่วนร่วมได้แค่ในบางช่วงเวลา เช่น เจอลูกได้แค่ตอนไปส่ง และรับกลับบ้าน จึงอาจเป็นที่มาของการขาดพื้นที่สร้างสรรค์และปลอดภัย จนกลายเป็นช่องโหว่สร้างปัญหาความรุนแรงในเด็กอนุบาล ซึ่งเป็นวัยที่ควรเน้นเรียนรู้ผ่านการเล่นและการใช้ความคิดสร้างสรรค์ หากในเมืองไทยมีนโยบายกำหนดให้ครอบครัว โรงเรียน หรือศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก มีส่วนร่วมในการดูแลเด็กด้วยกันในทุกมิติ เชื่อว่าจะไม่เกิดเหตุการณ์เด็กถูกทำร้ายเหมือนในโรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่งที่ปรากฏเป็นข่าว นายแพทย์บวร แมลงภู่ทอง กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาเด็ก เยาวชน และครอบครัว กล่าวว่า นโยบายเด็กปฐมวัยในศตวรรษที่ 21 จะต้องลงทุนตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดาถึงจะเกิดความคุ้มค่ามากกว่าการมาให้ความสำคัญเมื่ออยู่ในชั้นประถมศึกษา หากนโยบายเด็กปฐมวัยทำได้จะช่วยทำให้เด็กไทยมี 3 ทักษะใหญ่ ได้แก่ 1.ทักษะพื้นฐานสำหรับชีวิตประจำวัน คือ อ่านออก เขียนได้ เรียนรู้ได้อย่างมีความสร้างสรรค์ 2.ทักษะการมีความคิดอย่างมีวิจารณญาณ คือ รู้จักจัดการอารมณ์และสื่อสารเหตุการณ์ที่ซับซ้อน สามารถทำงานเป็นทีมได้ 3.ทักษะบุคลิกภาพ คือ การปรับตัวในชีวิตประจำวัน รู้จักคิดริเริ่ม มีภาวะผู้นำ กล้าลงมือทำ และใจสู้ นางสาวเบญจรัตน์ จงจำรัสพันธ์ ผู้สมัครเข้าร่วมเวทีระดมข้อเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย กล่าวว่า ปัญหาความรุนแรงต่อเด็กอาจเกิดจากค่านิยม “รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี” ซึ่งเป็นความเชื่อที่ผิด เพราะการเลี้ยงดูเด็กด้วยความรุนแรงจะทำให้เด็กเกิดความกลัว ฝังใจกับสิ่งที่ถูกกระทำ และยังมีผลต่อพัฒนาการทั้งทางกายและใจ ซึ่งการจะลบค่านิยมเหล่านี้จะต้องปรับที่ผู้ใหญ่ทุกคน โดยปรับเปลี่ยนทัศนคติและพฤติกรรมการเลี้ยงดูเด็ก และปลูกฝังแนวทางการเลี้ยงดูเด็กด้วยวิธีการที่สร้างสรรค์และปลอดภัย